พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ หรือ หมอเบิร์ท ผู้ช่วยโฆษกศบค. โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ “โควิด” ประจำวันที่ 24 ม.ค. 2564 ระบุว่า วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ 198 ราย (ตรวจพบจากระบบเฝ้าระวัง และบริการ 118 ราย-ตรวจเชิงรุก 73 ราย)
ผู้ป่วยยืนยันสะสม 13,500 ราย ติดเชื้อในประเทศ 11,136 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 4,568 ราย หายป่วยแล้ว 10,567 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นหญิงจากจ.สมุทรสาคร รวมเสียชีวิตสะสม 73 ราย
โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 118 ราย พบใน สมุทรสาคร 76 ราย กรุงเทพมหานคร(กทม.) 21 ราย นนทบุรี 1 ราย สมุทรสงคราม 7 ราย ราชบุรี 1 ราย และสมุทรปราการ 12 ราย ส่วนผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 73 ราย พบใน สมุทรสาคร 72 ราย ระยอง 1 ราย ทั้งนี้ สมุทรสาคร ยังพบผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก กทม.ยังพบผู้ป่วยใหม่ขึ้นลง จึงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนในจังหวัดอื่น ๆ พบผู้ติดเชื้อน้อยลงจนถึงไม่มีผู้ป่วยเลย
“หากดูสัปดาห์ที่ 1 ของเดือน วันที่ 3-9 ม.ค. จะเห็นพื้นที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 51 ราย กระจุกตัวที่ส่วนของประเทศ ส่วนภาคใต้จะมีสีส้มและสีเหลือง ซึ่งจะมีผู้ติดเชื้อ 1-50 ราย โดยวันนี้แผนที่ประเทศไทยขาวเกือบทั้งหมด หมายความว่ามีหลายจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเลยในสัปดาห์ที่ผ่านมา”
ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิต รายที่ 73 เป็นหญิงไทย อายุ 73 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม และลมชัก ภูมิลำเนาอยู่สมุทรสาคร มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว เมื่อวันที่ 4 ม.ค.64 มีอาการไอ เสมหะ อ่อนเพลีย จึงเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 64 ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ผลยืนยันติดเชื้อ ร่วมกับมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ผลเอกซเรย์ปอดพบว่าอักเสบรุนแรง แพทย์จึงใส่ท่อช่วยหายใจและส่งตัวไป รพ.ตากสิน โดยระหว่างวันที่ 9-20 ม.ค. มีแนวโน้มอาการดีขึ้นจนสามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ แต่ยังมีเสมหะมาก เหนียวข้น และยังไม่มีแรงขับเสมหะ จึงต้องเครื่องดูดเสมหะเป็นระยะ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. พบว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น แพทย์กู้ชีพกว่า 30 นาที แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองการรักษา และเสียชีวิตในเวลา 01.33 น.
ขณะที่ทางด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีน โควิด-19 ได้ โดยขอให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถูกต้อง อย.จะพิจารณาตรวจสอบวัคซีนที่จะขอนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินก่อนนำไปใช้จริง
โดยทางอย.จะประเมินทั้งในด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านประสิทธิผลของวัคซีน ว่าเหมาะสมกับคนไทย โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลเอกสารหลักฐานเพื่อประเมินคุณสมบัติของวัคซีนทั้ง 3 ด้านดังกล่าว
อย.ได้ปรับการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ด้วยการระดมเพิ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด แต่ยังคงไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน
“การจัดหาวัคซีนป้องกัน โควิด-19 นี้ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความต้องการใช้สูงทั่วโลก อีกทั้งวัคซีนที่มีอยู่ เพิ่งเสร็จจากงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตของแต่ละบริษัท
ดังนั้น การนำเข้าวัคซีนต้องมั่นใจว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล เนื่องจากวัคซีนที่ อย. รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง”