วันที่ 23 ม.ค. 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวล่าสุด เกี่ยวกับแนวคิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการรับมือนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่อาจส่งกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้
“ผมมีโอกาสได้พบปะกับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศเมื่อวานนี้ (22 ม.ค. 64) เราหารือเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศไทยประสบกับการระบาดของโควิด-19 อีกระลอกหนึ่ง
ทางกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์มองว่าถึงแม้เราจะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนที่จะได้นำมาใช้ในประเทศ แต่คาดว่าภาคการท่องเที่ยวที่พึ่งพาต่างชาติไม่น่าจะมีการฟื้นตัวอย่างมีนัย เพราะในต่างประเทศเองก็ยังควบคุมโควิด-19 ไม่ได้ดีนัก ซึ่งจะส่งผลต่อกลุ่มบริษัท SME ที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สปา ร้านอาหาร ฯลฯ รัฐบาลตระหนักถึงปัญหา และเร่งหามาตรการเยียวยาและฟื้นฟูที่เหมาะสม
ทางกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ข้อเสนอแนะเรื่องมาตรการการรักษาระดับการจ้างงาน อย่างเช่นที่ทำกันในต่างประเทศ เช่น Payroll Protection Program หรือ Furlough Scheme นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถึงอุตสาหกรรมใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, Cloud Service และพลังงานทดแทนอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน การที่สหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีคนใหม่ ย่อมส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ สหรัฐอเมริกาได้กลับมาเข้าร่วม Paris Agreement ซึ่งเป็นความตกลงปารีสที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในวันข้างหน้า เราคงต้องให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดและ Carbon Credit เช่น การปลูกป่าเพื่อให้ได้ Carbon Credit, การใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) เช่น แสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ
เราคงต้องจับตามองท่าทีนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และความสำคัญของ CPTPP อาจจะกลับมา ถ้าสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกในการผลักดันเพื่อแข่งขันกับกลุ่ม RCEP นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพูดถึงการ Upskill และ Reskill แรงงานของเราให้พร้อมกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องพยายามดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ (Skilled Labour) ผ่านทาง Smart Visa เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งและถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้แก่แรงงานในประเทศ
#ประเทศไทยต้องไปต่อ #ขับเคลื่อนไปด้วยกัน #SupattanapongP
สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2564 รองนายกฯได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และเปิดเผยถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ คืออุตสาหกรรมโรงแรม อัตราเข้าพักในช่วงเมษายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้อัตราเข้าพักอยู่ที่ 30% เท่ากับว่า สถานการณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากโครงการไทยเที่ยวไทย ของภาครัฐรวมถึงความเข้าใจของคนไทย ที่ร่วมมือกัน ในการเที่ยวเมืองไทยทำให้ผ่านพ้นจุดที่ต่ำลงมาได้
จนมาถึงวันที่ 17 ธันวาคม ได้มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง ในจังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 7000 โรงงาน ทำให้เกิดการวิตกกังวลขึ้นมา แต่ด้วยวิถีคนไทยในขณะนี้คนไทยช่วยกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ มีการรับผิดชอบต่อสังคม ในการดูแล โรงงาน การตรวจ และมาตรการคุมเข้ม และพร้อมที่จะปิดโรงงานชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด covid-19 ทำให้มั่นใจว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยมาก
ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้ามากำกับดูแลอย่างดี สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และลดผลกระทบโดยเร็ว รวมทั้งหามาตรการเยียวยาต่างๆ ซึ่งจะให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ต้องมีความร่วมมือจากภาคประชาชนด้วย
อย่างไรก็ตาม รองนายกฯเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจประเทศไทยสามารถจะกลับมาได้คึกคักได้ในไม่นานนี้ จากมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศที่รัฐบาลทำมาแล้ว ล้วนประสบความสำเร็จ ได้แก่โครงการคนละครึ่ง เงินเติมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช้อปดีมีคืน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเศรษฐกิจประเทศไทยถึงไม่ติดลบเหมือนอย่างที่คาดคะเนกันไว้ว่า จีดีพีจะติดลบเยอะมาก หรือติดลบ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยวันนี้สภาพัฒน์แถลงตัวเลขจีดีพีติดลบ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นอกจากนี้ทีมเศรษฐกิจของรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ฯ ยังซุ่มเตรียมแพ็กเกจใหม่เยียวยาประชาชนก๊อกที่ 2 วงเงินเบิกต้น 2.5 แสนล้าน คาดว่าจะนำมาใช้ประมาณเดือนเม.ย.2564 โดยพุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มมนุษย์เงินเดือน พนักงานบริษัท ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่บางส่วนถูกลดเงินเดือน ลดการจ่ายค่าจ้าง และบ้างถูกเลิกจ้าง เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ
หน่วยงานด้านเศรษฐกิจจะเก็บตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน และประเมินเม็ดเงินที่หมุนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการลงทุนภาครัฐว่ามีแรงขับเคลื่อนไปสู่ไตรมาส2 เพียงพอหรือไม่ สิ้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้จะพอมองเห็นตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถเสนอแพ็กเกจรอบใหม่ให้สอดคล้องความจริงและเหมาะกับสถานการณ์ต่อไป