เปิดแผนยุทธศาสตร์สู้โควิดของไบเดน!?! ทุ่มงบฯ 57ล้านล้านบาท แจกทั่วหน้าคนละ 60,000 บาทพร้อมเงินสวัสดิการ 8 เดือน

2056

วันที่ 22 ม.ค.2564 สำนักข่าวซินหัวไทย รายงานว่า โจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ เปิดเผยแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังครองสถิติยอดผู้ป่วยสะสมและผู้ป่วยเสียชีวิตพุ่งสูงที่สุดในโลก

หลังร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ในวันพุธที่20 ม.คเป็นวันที่สหรัฐฯ มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมเกิน 24 ล้านราย มีผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยราว 194,000 รายต่อวัน และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มเฉลี่ย 3,000 รายต่อวัน พบว่าเสียชีวิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4,383 ราย รวมผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 400,000 ราย

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดในโลก ยังคงเป็นประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หนักที่สุด โดยยอดผู้ป่วยสะสมของสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 25 ของยอดผู้ป่วยทั้งหมดทั่วโลก และยอดผู้ป่วยเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 20 ของยอดผู้ป่วยเสียชีวิตทั่วโลก

คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระบุว่าการขาดแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติภายใต้การบริหารของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้รัฐและเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้ต่อสู้กับโรคระบาดเพียงลำพัง ขณะการแบ่งขั้วทางการเมืองและการปฏิเสธหลักวิทยาศาสตร์ได้ขัดขวางการควบคุมโรคระบาด

ภายใต้ยุทธศาสตร์สู้โควิดของไบเดน สหรัฐฯใช้งบฯมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 57 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ และแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน

โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระดับชาติ ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส (สัดส่วน 2 โดสต่อคน) ภายใน 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศคนใหม่

โดยมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ของปธน.โจ ไบเดนได้แก่  การแจกเงินเยียวยา 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 60,000 บาทต่อคนครั้งเดียว จ่ายเงินสวัสดิการว่างงานเป็น 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 12,000 บาทต่อเดือน ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลกลาง เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 450 บาทต่อชั่วโมง

ดร. แอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาด้านโรคโควิด-19 คนสำคัญของไบเดน เผยกับสื่อมวลชนเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 21 ม.ค. ว่าอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ จะอยู่ที่หนึ่งล้านโดสต่อวันในเร็วๆ นี้

ไบเดนกล่าวว่า “สถานการณ์จะยังคงแย่ลงต่อไปก่อนที่จะดีขึ้น”  และได้ลงนามเอกสาร “ชักชวนสวมหน้ากากอนามัย 100 วัน” โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ลูกจ้างของรัฐบาลและบรรดาผู้รับเหมาสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางกายภาพภายในบริเวณอาคารและที่ดินของรัฐบาลทั้งหมด

หลังจากหนึ่งปีที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 การสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกล่าวว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลายเป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันยังคงมีความเห็นแตกต่างกัน

หากนับถึงวันที่ 19 ม.ค. มี 37 มลรัฐในสหรัฐฯ ที่กำหนดให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับเขตปกครองพิเศษโคลัมเบียและเปอร์โตริโก