ก.พาณิชย์จับมือก.เกษตรปั้น “BIG DATA”!?! เสริฟข้อมูลพืชเกษตร ข้าว-มัน-ปาล์ม-ยาง ช่วยเกษตรกรรู้ราคาพัฒนาผลผลิตครบวงจร

1810

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมสินค้าเกษตรไทยในปี 2564 น่าจะให้ภาพที่ดีขึ้น โดยคาดว่า รายได้เกษตรกรจะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 1.0-1.5 จากแรงผลักด้านผลผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0-2.5 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกจากปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 

ขณะที่ราคาอาจปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5-1.0 เพราะต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งจากคู่แข่งในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และยังต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ของไทย รวมถึงของโลกที่ยังคงมีอยู่  ซึ่งอาจกดดันราคาสินค้าเกษตรไทยได้ 

ดังนั้น โครงการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐ (เฟส 2) จึงนับเป็นสิ่งที่ดีในจังหวะเวลาที่เหมาะสมคือ เป็นช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้ให้กับเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง

 ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงพาณิชย์และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินหน้าจัดทำ Big Data ข้อมูลภาคเกษตรขนาดใหญ่ร่วมกัน ตั้งเป้ามีข้อมูลเดียวกันทั้งด้านผลิตและด้านตลาด หวังช่วยทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหารและผู้ใช้งานทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว นำร่องข้อมูลเร่งด่วน ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ “ข้าว มัน ปาล์ม ยาง” ก่อนขยายไปสู่อาหารฮาลาล สินค้าอินทรีย์

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) เป็นครั้งแรก โดยได้มีการนำเสนอสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการไปแล้วเกี่ยวกับฐานข้อมูลสินค้าเกษตร เพื่อพิจารณาจุดที่สามารถเติมเต็มให้กันได้ (gap analysis) และหารือเกี่ยวกับแผนงานดำเนินการเบื้องต้นของปี 2564-2566

ทั้งนี้ หลังจากประชุมร่วมกันเห็นตรงกันว่า ระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลภาคเกษตรต้องตอบโจทย์และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งในระดับผู้บริหารและผู้ใช้งานทั่วไป ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และประชาชน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน การดำเนินงานด้านข้อมูลจำเป็นต้องมีการทำธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง แม่นยำ ไม่ซับซ้อน นำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในทุกภาคส่วน

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ต่างให้ความสำคัญต่องานด้านข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากหน้าที่ของสองกระทรวงที่ต่างกัน คือ เกษตรเน้นด้านการผลิต พาณิชย์เน้นไปด้านการขาย ข้อมูลที่มีจึงสามารถนำมาต่อร้อยเรียงกันให้เห็นภาพได้ตลอดสายการผลิตสินค้าเกษตร โดยที่อาจมีบางส่วนที่ทับซ้อนกันบ้าง แต่ฝ่ายเลขานุการจะหารือในรายละเอียดต่อไป โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การสร้าง Big data เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร ให้มีคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย และมีมูลค่าเพิ่ม ตรงต่อความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูง มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และยกระดับให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก (Local to Global)