รฟม.แบะท่าพร้อมรับโอนสีเขียวฯคืน?!? แก้ปมค่ารถสีเขียวตลอดสายแพง 104 บาท รื้อสัญญาใหม่ใครรับผิดชอบหนี้ 9,000 ลบ.

5658

วันที่ 21 ม.ค.2564 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม.(การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) เปิดเผยถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่รฟม.โอนให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และมีปัญหาค้างค่าจ้างเดินรถเอกชนที่รับงานเดินรถ คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน หรือBTS ว่า หากรัฐบาลมีนโยบายให้ส่งคืนมายัง รฟม. ทางรฟม.ก็พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐ

หากต้องรับโอนโครงการคืนมาจริง รฟม.จะต้องนำเข้ากระบวนการรัฐและเอกชนร่วมทุน (PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562  ระหว่างนี้ก็ต้องจัดการเรื่องสัญญาที่ กทม.ทำกับบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. สัญญาสัมปทานสีเขียวสายหลัก คือ สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-หมอชิต และสายสีลม ช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน จะหมดสัญญาปี 2572

  1. สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียว คือ ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสถานีสะพานตากสิน-บางหว้า กับสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที้ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะหมดสัญญาพร้อมกันในปี 2585  ทั้งสองส่วนจะดำเนินการอย่างไร แม้จะรับโอนมาก็ต้องเริ่มกันใหม่ใช้เวลาเพราะมีสัญญาค้างอยู่ยกเลิกทันทีไม่ได้

ในการนี้รฟม.เสนอทางออก เช่น เจรจายกเลิกจ้างเดินรถ โดยจ่ายค่าชดเชย หรือ รอให้หมดสัญญาค่อยเริ่มใหม่อย่างไรก็ตาม รฟม.จะดำเนินการได้เฉพาะส่วนต่อขยายเท่านั้น เพราะเส้นทางหลักเอกชนนำเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมลชนทางราง บีทีเอสโกรธ (BTSGIF) หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของกองทุนฯ

การที่รฟม.ต้องการเอากลับมาดำเนินการต่อเอง โดยไม่สนใจว่าอดีตมีความเป็นมาอย่างไร ตั้งแต่ปี 2561 เดิมนั้นที่ต้องโอนสายสีเขียวไปให้กทม.บริหารเอง เพราะรฟม.บริหารขาดทุน โดยมีเงื่อนไขให้กทม.แบกรับภาระหนี้ที่ติดมาด้วย  และกทม.ได้ทำข้อตกลงกับ บีทีเอส ให้แบกหนี้ทั้งหมดแทน พร้อมลงทุนเองทั้งจ่ายค่าตอบแทนคืนกทม.ด้วย มาวันนี้สร้างจนเสร็จแล้ว ให้กลับมานับหนึ่งใหม่ มันเป็นธรรมหรือไม่

ข้อสังเกตในการทักท้วงเรื่องค่าโดยสารตลอดสายของรถไฟฟ้าสีเขียว 104 บาทแล้วนำมาเปรียบเทียบค่าโดยสารของสายสีม่วง และสายสีน้ำเงินว่า สามารถคิดราคาสูงสุดแค่ 54 บาท โดยไม่พูดความแตกต่างของสัญญาที่รฟม.ทำกับบีอีเอ็ม ไม่ต้องแบกหนี้ ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้รฟม. ทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ทำให้ต้นทุนของสายสีน้ำเงินและสีม่วงถูกกว่า ขณะที่สัญญาระหว่างกทม.และบีทีเอส เอกชนต้องแบกภาระหนี้ (ที่โอนมาจากรฟม.)และต้องแบ่งรายได้ให้กทม.ตามข้อตกลง ประเด็นนี้ควรแถลงให้ชัดเจนว่าจริงหรือไม่ มิเช่นนั้นหากมีการรื้อกันใหม่ นับหนึ่งใหม่ ในภาคเอกชนมีแค่สองรายใหญ่ได้สัมปทานสร้างและบริหารรถไฟฟ้า บนดิน-ใต้ดิน คือ BTS และ BEM ไม่ว่าจะอนุมัติให้รายใดในสัดส่วนมากเกิน ก็อาจถูกมองว่ามีพันธมิตรผูกขาดได้

 

ทางออกที่ดีที่สุด ผู้รับผิดชอบทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กทม.ต้องเคลียร์ให้ชัด อย่าลากยาวเอาความเดือดร้อนของชาวกรุงเทพฯมายื้อสัมปทานโดยหาเวลาสิ้นสุดไม่ได้ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ก็ไม่สามารถปฏิเสธให้เป็นความรับผิดชอบของสองกระทรวงที่ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงคุยกันไม่ลงตัวสักที เพราะครั้งโอนทรัพย์สินโครงการฯเมื่อปี 2561 พลเอกประยุทธฯก็อยู่ในที่ประชุมที่ครม.มีมติเห็นชอบดำเนินการ

วันที่ 26 พ.ย. 2561 ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม.มีมติเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ

และมีมติเห็นชอบการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว เนื่องจากการดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สินจะทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 51,785.37 ล้านบาท ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ จำนวน 51,785.37 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว

 ภาระค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินไม่เกิน 44,429 ล้านบาท และค่าชดใช้เงินค่าจัดกรรมสิทธิ์และดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเงินกู้ของค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว วงเงินไม่เกิน 7,356.37 ล้านบาท

และณ ปัจจุบันนี้ ภาระหนี้สินที่กทม.ต้องค้างจ่ายอยู่งอกมาถึง 9,000 ล้านบาทรวมค้าจ้างบริหาร เรียบร้อยแล้ว ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ?