เดือนธันวาคม 2563 บอร์ดสสว.(คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธาน ได้มีมติผ่านความเห็นชอบในแผนงานช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และการพัฒนาเอสเอ็มอี ปี 2564-2565 ซึ่งทางสสว.ได้รับมอบหมายในการจัดทำรายละเอียด
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่บาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่เกิดขึ้นในไทย ทำให้ สสว. ได้เตรียมแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลายด้าน ได้แก่
- การลดรายจ่ายให้กับเอสเอ็มอี โดยจะทำโครงการ “คนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี” โดยจะนำวงเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เหลืออยู่กว่า 1 พันล้านบาท มาแปลงใช้ในโครงการนี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบางเรื่อง เช่น การตรวจมาตรฐานสินค้าส่งออก ที่มีค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่าย ซึ่งการตรวจบางครั้งจะมีค่าใช้จ่ายกว่า 1 หมื่นบาทต่อรายการ บางรายการก็ 5 พันบาท ส่วนมาตรการด้านการเงินกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณา
จากนั้นจะเข้าคณะกรรมการบริหารสสว.ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ และจะนำเข้าคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงต้นเดือนก.พ.นี้ จึงนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขออนุมัติต่อไป
2.การช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเอสเอ็มอี ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ต้องซื้อสินค้าและบริการจากเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 30% รวมทั้งเปิดช่องให้เอสเอ็มอีที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุด 10% สามารถเป็นผู้ชนะการแข่งขันได้ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเอสเอ็มอีในช่วงที่ภาวะกำลังซื้อจากผู้บริโภคลดลง เพราะภาครัฐยังคงมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างตลอดเวลา
ดังนั้นจึงอยากให้เอสเอ็มอีเข้ามาขึ้นทะเบียน เพื่อเป็นเอสเอ็มอีที่ได้ประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น โดย สสว. ได้เดินสายทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐที่บางแห่งก็มีโรงพยาบาลของตัวเอง ซึ่งจะต้องจัดซื้อสินค้าและบริการจากท้องถิ่นในหลากหลายรายการ รวมทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต. อบจ. ที่จะมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา ที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้กับเอสเอ็มอีในท้องถิ่นได้เป็นจำนวนมาก
ในขณะนี้มีเอสเอ็มอีมาขึ้นทะเบียนประมาณ 2 พันราย ตั้งเป้าหมายภายในเดือนมี.ค.นี้ จะเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นราย และสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะเพิ่มเป็น 1 แสนราย
ในฝั่งของเอสเอ็มอีนั้น
นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า มาตรการคนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี ของ สสว. เป็นเรื่องที่ดีในการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งทุกมาตรการของรัฐหากช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเอสเอ็มอีล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดีในการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
แต่ต้องการให้รัฐบาลลงไปดูในรายละเอียดของโครงการต่าง ๆ ว่าได้ผลเพียงไร และติดปัญหาอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งที่ผ่านมารัฐได้มีวงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่เอสเอ็มอีเข้าถึงเพียงแสนกว่าล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะรัฐบาลใช้เพียงธนาคารเป็นช่องทางเดียวในการปล่อยเงินกู้ ควรเพิ่มช่องทางการปล่อยเงินกู้โดยอาจพิจารณาปล่อยสินเชื่อผ่านกลุ่มนอนแบงค์หรือเอกชนรายอื่นๆ ในส่วนของเอสเอ็มอีก็ยินดีที่จะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มหากสามารถเข้าถึงได้”
นอกจากนี้ สสว. มีโครงการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีในปีงบประมาณ 2564ดังนี้คือ
1.ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early State/Start up) ดำเนินการพัฒนาทักษะและยกระดับความเป็นผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจไม่เกิน 3.5 ปี เป้าหมาย 2,800 ราย โดยจะให้ที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้านการเงิน การออกแบบและพัฒนาสินค้า ในเอสเอ็มอีภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคการค้าและบริการ
2.พัฒนาวิสาหกิจรายย่อย (Micro SME) ให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ ส่งเสริมพัฒนาด้านมาตรฐานและตลาดออนไลน์ ให้เอสเอ็มอีรายย่อม รายย่อย วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ โดยเน้นเรื่องการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มีเป้าหมาย 250 ราย และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง มีเป้าหมาย 6,500 ราย
3.พัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprises หรือ SE) ให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ ดำเนินการ 3 แนวทางคือ 1.ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต มีเป้าหมาย 3,000 ราย เน้นที่กลุ่ม New S-Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2.ส่งเสริมกลุ่ม SE ที่ผ่านการพัฒนาจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต จำนวน 100 กิจการ 3.พัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาด สำหรับเอสเอ็มอี เป้าหมาย 1,000 ราย เช่น การจัดงาน SME FEST จำนวน 10 จังหวัด ทั่วประเทศ
4.ส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ทำการค้าระหว่างประเทศ เป้าหมาย 2,000 ราย