Truthforyou

ฟื้นชีพการบินไทย!?! ใช้งบฯ 6-8 หมื่นล้านบาท ให้ก.คลังค้ำกู้ ขณะบอร์ดเสียงแตกลังเลอุ้มไทยสมายล์ต่อหรือควบรวม?!?

วันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาให้บมจ.การบินไทย เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ต้องรอลุ้น แต่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่ค้านน่าจะได้เดินหน้าต่อ บริษัทฯตัังเป้าใช้เวลา 3-5 เดือน จัดทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูให้เสร็จ และนำเสนอต่อศาลล้มละลายกลางพิจารณาอีกครั้งเพื่อรับรอง ขณะที่บอร์ดยังลังเลทำแผนฟื้นฟูว่าจะอุ้มไทยสมายล์ต่อหรือจะควบรวม คงต้องชั่งความสมดุลผลได้ผลเสียอย่างจริงจัง มั่นใจได้ทำแผนฯ ได้งบฟื้นฟู 6-8 หมื่นล้านบาท การบินไทยไปฉลุย

รีสตาร์ทธุรกิจต้องใช้งบฯฟื้นฟูก้อนใหญ่

ตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย 5 ปี ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินธุรกิจ, ชำระหนี้กับเจ้าหนี้การค้าและภาระหนี้สินบางส่วน จำนวนประมาณ 6-8 หมื่นล้านบาท อนึ่งปัจจัยเรื่องการระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดแผนปฏิบัติการรูปธรรมและวงเงินกำกับ  แนวโน้มต้องลดจุดบินในระหว่างประเทศลง เดิมการบินไทยบินต่างประเทศ 63 เส้นทาง (ไม่รวมไทยสมายล์) และลดแบบเครื่องบินลง

เบื้องต้นมีการหารือใน 3 แนวทางหาเงินเสริมสภาพคล่องและดำเนินกิจการ 1.กู้เงินจากสถาบันการเงิน 2.แปลงหนี้เป็นทุน 3.การลดต้นทุนและเพิ่มทุน และอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงินหลายแห่งโดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน และเงื่อนไขการอนุมัติเงินกู้ของสถาบันการเงินให้การบินไทยขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจและผู้ให้ค้ำประกัน ผู้ทำแผนจึงต้องเขียนแผนแสดงจุดสมดุลระหว่าง เจ้าของทุนกับเจ้าหนี้ด้วย

แนวทางฟื้นฟูในภาพรวม

ความสำเร็จจะเกิดได้ต้องประกอบด้วยคนแลแผนธุรกิจที่ก่อให้เกิด ผลิตภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง พิจารณาจากทีมผู้บริหารแผน ทีมผู้ปฏิบัติงานของการบินไทย ทุกฝ่ายคงต้องตามลุ้นให้สำเร็จตามเป้าหมายให้ได้

กรอบแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้ทำในเบื้องต้น 2 ส่วน คือ หนึ่ง ปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจเจรจากับเจ้าหนี้รายต่างๆ เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ยลงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือพักการชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย ขอรีไฟแนนซ์หรือปรับโครงสร้างทุนในรูปแบบอื่นตามความเหมาะสม หาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับปรุงกิจการหรือต่อยอดธุรกิจ

รวมทั้งแผนฟื้นฟูกิจการอาจกำหนดให้ผู้บริหารแผนทำนิติกรรมสัญญาเพื่อจัดการทรัพย์สินและกิจการเพื่อให้การบินไทยดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมูลหนี้ที่การบินไทย ระบุในคำขอฟื้นฟูกิจการอยู่ที่ 352,494 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 104,669 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 247,824 ล้านบาท

และ สองการบริหารจัดการกิจการของการบินไทย เนื่องจากการดำเนินธุรกิจมีต้นทุนสูงไม่เพียงพอต่อรายได้ การบินไทยจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร หน่วยธุรกิจต่างๆ เพื่อความคล่องตัวและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และยกเลิกเส้นทางบินกำไรต่ำ

กล่าวโดยสรุปแนวทางบริหารจัดการกิจการที่การบินไทย ยื่นให้ศาลพิจารณาในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ หลักๆ คือ ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางการบินและปรับปรุงฝูงบิน ยกเลิกเส้นทางบินกำไรต่ำ จัดเส้นทางบินให้เหมาะสม, ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน ปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจที่ทำกำไร ตั้งบริษัทย่อย หาพันธมิตรร่วมทุน หาโอกาสธุรกิจใหม่

อีกทั้งยังต้องปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ เช่น ปรับช่องทางขายบัตรโดยสาร เพิ่มช่องทางอินเตอร์เน็ต ปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มการหารายได้ เช่น บริการลูกค้าภาคพื้นแบบครบวงจร ซ่อมและบำรุงอากาศยาน ธุรกิจครัวการบิน และสุดท้าย ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ ปรับลดพนักงาน ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ ฯลฯ ให้เหมาะสมตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน

เดินหน้ามุ่งสู่การเป็นองค์กร “THE BEST”

รูปธรรมของแผนฟื้นฟูฯตามกรอบข้างต้นในช่วงเวลาที่นายชาญศิลป์ฯ เข้ามาเป็นดีดีบินไทย จะเห็นการเริ่มต้นลงมือปรับรื้อใหญ่ เช่น การปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทน การตั้งคณะทำงาน “Survival Team” จากตัวแทนทุกหน่วยธุรกิจ 21 หน่วย  มาร่วมคิดและรับฟังความเห็นพนักงานเพื่อนำไปผนวกกับแผนฟื้นฟูองค์กรให้การทำงานของฝ่ายบริหารและพนักงานไปในทิศทางเดียวกัน คณะทำงานชุดนี้ จะต้องจัดทำแผนธุรกิจระยะเร่งด่วนและระยะสั้น 4 เดือน (9 ก.ค.-31 ธ.ค.63) เดินหน้ามุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็น “THE BEST” อย่างแท้จริง จะเห็นความตั้งใจของผู่ปฏิบัติงานที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไปแม้ประสบปัญหา ยังมีความหวังยังมีแรงกายแรงใจสมกับที่ทุกฝ่ายลุ้นเอาใจช่วย

เครื่องหลังที่ยังลังเลตัดสินใจ-ยุบหรืออุ้มต่อไทยสมายล์

แนวโน้มบอร์ดยังมีข้อถกเถียงว่า หากไม่ยุบไทยสมายล์ จะได้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร? 

-การประเมินผลประกอบการของไทยสมายล์ ซึ่งขาดทุนสะสมต่อเนื่องจนเกินทุน ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ต่อการดำเนินธุรกิจ  การบินไทยตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ไทยสมายล์ 6,018 ล้านบาท ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9

-บอร์ดเสนอทางออกให้ใช้แบรนด์ร่วมกัน และยกเครื่องการบินไทยเป็นโฮลดิ้งคอมพานี โดยไทยสมายล์ปฏิบัติการบิน แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่า ให้บินแบบบริการเต็มรูปแบบเหมือนการบินไทยเดิม และหรือบินแบบสายการบินโลว์คอส จึงยังไม่อาจวิเคราะห์ได้ว่า ผลดีกับผลเสียสิ่งไหนคุ้มค่าในการตัดสินใจ ให้เหมาะกับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินของโลกหลังโควิดด้วย

 

-เสียงคัดค้านการยุบหรือควบรวม มองว่า ไทยสมายล์สามารถเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูได้ หากกำหนดเส้นทางการบินที่เหมาะสม ไม่ทับซ้อนกัน ระหว่างการบินไทยกับไทยสมายล์โดยในต่างประเทศให้ไทยสมายล์บินในเส้นทางการบินในภูมิภาคในสายการบินไม่ไกล เป็นต้น เหตุผลคือต้นทุนการปฏิบัติงานของไทยสมายล์ต่ำกว่าการบินไทย  น่าจะแข่งขันกับสายการบินประเทศอื่นและสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคในแง่ราคาได้  ให้การบินไทยบริการในเส้นทางบินพิสัยกลางถึงไกล ซึ่งผู้โดยสารต้องการความสะดวกสบายในด้านผลิตภัณฑ์และบริการทุกๆด้าน ชูจุดแข็งในการให้บริการได้มาตรฐานระดับโลก โดยคงวัฒนธรรมการบริการด้วยความเป็นไทย

นอกจากนี้ มีการวิเคราะห์ว่า การขาดทุนของไทยสมายล์มีต้นเหตุจากนโยบายของการบินไทย โดยให้ไทยสมายล์เปิดทำการบินในเส้นทางไม่ทำกำไร ตลอดจนการเช่าเครื่องบิน 20 ลำ การบินไทยเป็นผู้เช่าแต่ลงบัญชีไทยสมายล์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาค่าซ่อมเครื่องบินให้ลูกค้า การซ่อมบำรุง ที่ต่างมีค่าใช้จ่ายสูง กล่าวคือที่ขาดทุนนี้เพราะการบินไทยนั่นเอง เรื่องนี้คงต้องมีการออกมาชี้แจงว่าความจริงเป็นอย่างไร ?  

โดยรวมแล้วเหมือนปัญหาทั้งหมดเกิดจากการบริหารผิดพลาดของการบินไทยทั้งนั้น จึงสมควรลดบทบาทฐานะของการบินไทยลง และยกระดับไทยสมายล์ให้มากขึ้น เป็นเช่นนี้หรือไม่รอลุ้นคำอธิบายจากผู้ทำแผนของการบินไทยต่อศาลล้มลายคงได้คำตอบในไม่ช้า?

Exit mobile version