จากที่ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ “ประยุทธ์จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า
รัฐบาลมีแผนการฉีดวัคซีน “ฟรี” เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทยให้ได้อย่างน้อย 50% หรือครึ่งประเทศ ภายในปีนี้ครับ
พร้อมกันนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลประชาชนในการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ว่า กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันความพร้อม ทั้งเรื่องการแพทย์ เวชภัณฑ์ การพยาบาลและการดูแลสถานการณ์เรามีความพร้อมและขอให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแลอย่าให้มีการลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย
ต่อมานาย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า ถึงคุณชัชชาติและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ : กรณีวัคซีนโควิด เราต้องไม่ปล่อยให้รัฐบาลสร้างระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เช่นนี้
ผมอยากให้เราย้อนกลับมาฉุกคิดตรงนี้ ว่าแท้จริงแล้วผู้ที่มีงบประมาณเหลือมากที่สุด และมีหน้าที่โดยตรงในการจัดการปัญหานี้คือใครกันแน่? สำหรับผมแล้วเห็นว่าเป็นหน้าที่อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของรัฐบาลไทย
ซึ่ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แชร์ข้อความดังกล่าว พร้อมระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่ภาระของท้องถิ่น ยิ่งรัฐบาลโยนความรับผิดชอบแบบนี้ไปให้ท้องถิ่น ท้องถิ่นต้องควักเงินตัวเอง ก็เท่ากับว่าท้องถิ่นถูกเบียดบังงบประมาณในการดูแลสวัสดิการด้านอื่น ๆ ของประชาชนในท้องถิ่นไปอีก
ขณะ วันที่ 15 ม.ค.64 นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ อุ๊ กรุงสยาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านใหม่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาขวางการจัดซื้อวัคซีนของท้องถิ่น โดยอ้างว่า เป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องจัดสรรวัคซีนมาให้ รวมถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้สนับสนุนแนวคิดของนายพิธานั้น
โดยนายวัชรพงศ์ กล่าวว่า ในฐานะ นายกอบต.เล็กๆ ชายขอบบ้านนอกของพระนครศรีอยุธยา จะขอตอบ คุณพิธา และคุณธนาธร นักการเมืองระดับชาติว่า คุณค่อย ๆ ไปอ่านและศึกษาภาระกิจบทบาทหน้าที่ ของท้องถิ่นให้ดีก่อน สำหรับผม ทำไมควรเอาเงินสะสมของท้องถิ่นออกมาดำเนินการ ผมตอบแบบนี้ครับ
1 เงินสะสมท้องถิ่นไม่มีความจำเป็นต้องเก็บไว้มากเกินเพราะเงินภาษีควรนำมาใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้มาเก็บฝากแบงค์ รัฐกับเอกชนต่างกัน ในขณะที่ประชาชนลำบากแต่ท้องถิ่นมีเงินเหลือใช้ และเป็นเงินภาษีของประชาชน การดูแลประชาชนจึงเป็นเรื่องชอบธรรม จะเงินส่วนกลางหรือเงินท้องถิ่นก็คือเงินของประชาชน เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เงินส่วนตัวใคร
การมีเงินสะสมเหลือมากมีสามกรณีคือ ท้องถิ่น ไม่ทำอะไรกับงบประมาณเหลือมากเพราะใช้เงินไม่เป็น หรือมันเจริญจนไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไรแล้ว ในขณะที่ประชาชนยากลำบากแต่รัฐมีเงินฝากธนาคารมาก มันควรหรือไม่
2 ภารกิจการดูแลประชาชนเป็นหน้าที่ปกติของท้องถิ่นที่มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน ตามเจตนารมณ์ของกฏหมายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนตนเอง ลดอำนาจของส่วนกลางลง
3 ท้องถิ่นไหนมีความเข้มแข็งลดการพึ่งพาจากส่วนกลางลงได้ นั่นคือความสำเร็จของการกระจายอำนาจเพื่อดูแลประชาชนและการพัฒนาในพื้นที่ ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ท้องถิ่นทุกแห่งทำหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
4 เรื่องวัคซีนรัฐบาลทำหน้าที่เรื่องมาตรฐานอย. และการดูแลในส่วนของกลุ่มที่ขาดแคลนและต้องดูแล กลไกของรัฐบาลผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ท้องถิ่น อบต เทศบาล อบจ ก็เป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลตามกฏหมาย ดังนั้นการบูรณาการร่วมกันทั้งงบประมาณและบุคลากร ย่อมก่อให้เกิดผลดีและรวดเร็วที่จะช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ ทุกวันนี้กลไกท้องถิ่น มีความพร้อม มีบุคลากร รู้พื้นที่ละเอียด เข้าถึงได้ดีที่สุดกว่ากลไกหน่วยงานอื่น ในระบบราชการ หากรู้จักใช้ประโยชน์จะมีผลดีต่อทุกภาคส่วน นั่นหมายถึง ประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม เท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรม
5 ท้องถิ่นไหนพร้อมให้เขาทำเพราะนั่นคือเขาเข้มแข็งท้องถิ่นไหนไม่พร้อมส่วนกลางก็ดำเนินการเองหรือช่วยเหลือ ก็แค่นั้นไม่ยากอะไร เป็นเรื่องดี ที่ทุกภาคส่วนจะลุกขึ้นมา ร่วมมือกัน
6 อนาคต วัคซีนจะเป็นเรื่องปกติหาซื้อไม่ได้ยากอะไรแบบวัคซีนทั่วไปในอดีต โรคระบาด ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดครั้งแรกในประวัติศาสตร์มันเกิดมาแล้วหลายครั้ง
7 ความมั่นใจของประชาชนที่ต้องรอความหวังจากวัคซีน ที่จะทำให้วิถีชีวิตปกติกลับคืนมาเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน พื้นที่ไหนพร้อมทำก่อน นั่นคือ เศรษฐกิจ สังคม การทำมาหากินจะกลับคืนมาสู่ประชาชน
8 ส.ส. นักการเมืองคนไหน ยังมีความคิดว่า ทุกอย่างคือภาระของรัฐบาลกลาง คุณอย่าไปหาเสียงหรือลงเลือกตั้งนายก อบจ เทศบาล หรืออบต นั่นเพราะคุณยังไม่เข้าใจคำว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ลดอำนาจส่วนกลางลง กระจายอำนาจสู่ประชาชน ท้องถิ่นเข้มแข็ง คือความสำเร็จของประชาชนที่แท้จริง ปล. เป็นนายกอบต. ไม่มีฟลุ๊คแบบเป็น สส.บัญชีรายชื่อนะครับ
โดยในวันนี้ นายธนาธร โพสต์ข้อความอีกว่า คืนนี้ 3 ทุ่มเจอกันทางเฟซบุ๊กไลฟ์ “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย?”
จุดนี้เอง จึงเกิดคำถามย้ำไปถึงนายธนาธร ที่ต้องการจะจัด เฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย?” นั้นตั้งขึ้นมาได้อย่างไร หรือแท้จริงแล้ว 3 ทุ่ม วันที่ 18 ม.ค. 2564 นี้ ต้องการที่จะวกเข้ามาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์? ทั้งที่เคยแสดงความไม่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องวัคซีนท้องถิ่นมาแล้ว
ล่าสุด นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีโพสต์ผ่านเฟสบุ๊กเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่นายกฯ ระบุว่าไม่รีบร้อนฉีดวัคซีนที่ยังทดสอบไม่ครบถ้วน และไม่ยอมเป็นประเทศทดลอง ซึ่งต้องมั่นใจก่อนว่าวัคซีนนั้นปลอดภัยจึงจะนำมาใช้กับคนไทยได้ ว่า
นายกฯ มีความเป็นห่วงประชาชนทุกคนมาก ในการที่จะนำวัคซีนมาใช้กับประชาชนจะต้องมั่นใจก่อนว่าวัคซีนนั้นปลอดภัยสูงสุด จึงจะนำมาใช้ได้ ทำให้ประชาชนคลายความวิตกกังวล และมั่นใจว่ารัฐบาลต้องนำวัคซีนที่ดีที่สุดมีคุณภาพมาฉีดและปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ รมว.สาธารณสุข ยืนยันแล้วว่าการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน มีคณะอนุกรรมการอำนวยการการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พิจารณา และการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในไทย ต้องพิจารณาผลการทดลองของผู้ผลิตมาเป็นองค์ประกอบ โดยยึดหลักมาตรฐานที่สถาบันทางการแพทย์และองค์การอนามัยโลกยอมรับ และจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจาก อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างละเอียด ดังนั้น ก็ขอให้ประชาชนมั่นใจในตัวนายกฯ และรัฐบาล ที่จะดำเนินการสิ่งใดจะต้องพิจารณาในหลายด้าน และคิดถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงมาตรการต่างๆ ในการที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในการบรรเทาความเดือดร้อนเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ด้วย
“ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในวิธีคิดและการบริหารจัดการของรัฐบาลในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนต้องมาเป็นอันดับแรก นายกฯ และรัฐบาลจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดต่อประชาชนอย่างแน่นอน ขอให้ทุกภาคส่วนและคนไทยทุกคนสบายใจได้”