Truthforyou

เพื่อไทยระทึกหนัก แฉหลักฐานเพิ่มนำให้กกต.ปมทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ช่วยหาเสียงอบจ.เชียงใหม่

แม้จะผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ในวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมานั้น

ในครั้งดังกล่าว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กและอัดคลิปขอเสียงสนับสนุนให้เลือก นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ของพรรคเพื่อไทย จนเป็นประเด็นทางข้อกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยบางส่วนไม่เห็นด้วยและได้แสดงความเห็นคัดค้านเพราะเกรงว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา

โดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตนพร้อมกับคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 3 คน ประกอบด้วย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรค, นายไชยา พรหมา รองหัวหน้าพรรค และ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการบริหารพรรค ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว

เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายตามมาภายหลัง ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงขอคัดค้านต่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยไปแล้ว แม้จะมีการทำหนังสือแสดงความจำนงคัดค้านแล้ว ก็ยังเป็นกังวลจะมีผู้ยื่นเรื่องร้องยุบพรรคเพื่อไทยในอนาคต จึงทำให้ น.อ.อนุดิษฐ์ และนายชวลิต ยื่นหนังสือขอลาออกจากกรรมการบริหารพรรคแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.

ล่าสุดวันนี้ (18 ม.ค. 2564) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้ไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นคำร้องเพิ่มเติม กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ได้อัดคลิปคำพูดของตนเองโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ชื่อ Thaksin Shinawatra เมื่อวันพุธที่ 16 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมาอย่างเปิดเผย

ซึ่งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เห็นว่าน่าจะขัดต่อกฎหมายจึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยัง กกต. เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวน กรณีการกระทำของบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และหรือพรรคการเมือง อาจกระทำการในลักษณะฝ่าฝืน มาตรา 28 และหรือ มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่อย่างไร หากพบว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือมีความผิด ขอให้ดำเนินการเอาโทษตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไปแล้วนั้น

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันพุธที่ 19 ธ.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นมา ปรากฎว่าในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ชื่อ Thaksin Shinawatra หรือ (20+) Thaksin Shinawatra | Facebook  หรือ https://www.facebook.com/ /thaksinofficial /videos/860774604700040  ก็ยังปรากฏคลิปของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งมิได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัคร นายก อบจ. พรรคเพื่อไทย ตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด แต่กลับยังช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งวันที่ 20 ธ.ค.63 อย่างเปิดเผย โดยไม่มีการลบคลิปดังกล่าวออกไปจากสารบบแต่อย่างใด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการช่วยหาเสียงเกินกว่าระยะเวลาที่พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ม.64 ประกอบ มาตรา 65 กำหนดแต่อย่างใด

อีกทั้งยังปรากฏเป็นการทั่วไปโดยมีสื่อมวลชนหลายแขนงได้รายงานตรงกันว่า นายทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลสัญชาติมอนเตเนโกร เมื่อปี 2553 ไปนานแล้ว และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุคคลสัญชาติเซอร์เบียร์ไปเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาด้วย จึงอาจต้องห้าม ตาม มาตรา 68 แห่งพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 และ อาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีพลเมืองดีซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวข้างต้น ได้ส่งสำเนาพยานหลักฐาน และสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องมาให้สมาคมฯหรือผู้ร้อง เพื่อนำมาประกอบการส่งให้ กกต. ได้พิจารณาลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ด้วย

“สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำพยานหลักฐานมามอบให้ กกต. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยอาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือให้ใบส้มหรือใบแดงผู้สมัคร และอาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทยต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ เคยยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทย กรณีนายทักษิณ ชินวัตร โพสต์เชียร์ให้เลือกผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งนายทักษิณ เป็นนักโทษตามคำพิพากษาของศาล แต่หลบหนีการลงโทษไปอยู่ต่างประเทศ จึงมิได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ที่จะต้องนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครตามกฎหมายแต่อย่างใด และถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตาม ม.39 และเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติที่จะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม ม.49 แห่งพรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

อีกทั้งตาม ม.65 ของกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครอื่น หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการสัญญาว่าจะให้ประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่บุคคล หรือชุมชน ฯลฯ ซึ่งอาจมีความผิดตาม ม.126 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปีด้วย

Exit mobile version