ธปท.ปลดล็อกหนี้ครัวเรือน!?! อุ้ม 7.2 ล้านล้าน บรรเทาวิกฤติโควิด ระยะยาวต้องแก้หนี้สินแห่งชาติ ก่อนไทยหนี้ท่วมหลายชั่วอายุคน

2262

ปัญหาหนี้สิน เป็นกับดักแห่งความยากจนที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสร้างขึ้น เห็นผลชัดเจนในยุคนี้เมื่อเกิดวิกฤติการระบาดโควิด-19 ในภาวะยากลำบากปัจจุบัน แบงก์ชาติเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง ล่าสุดยอดเข้าโครงการช่วยเหลือแตะ 7.2 ล้านล้านบาท เป็นการช่วยเหลือในกลุ่ม “แบงก์-นอนแบงก์” 4.25 ล้านล้าน สินเชื่อรายย่อยประมาณ 1.63 ล้านล้าน แต่หนี้ครัวเรือนของคนไทยยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องหาทางแก้ไขในระยะยาว พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ 84% มีหนี้สินจนแก่แม้ปลดเกษียณก็ยังต้องชดใช้ คนรุ่นใหม่สร้างหนี้เพิ่ม โครงการหลังโควิด ทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกันคิดแผนการปลดหนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศหนี้ท่วมหลายชั่วอายุคน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)นำ-แบงก์พาณิชย์กระจายช่วย

ธปท.เป็นองค์กรหลัก เตรียมทยอยออกมาตรการดูแลกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจาก ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และ บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ณ สิ้นเดือนก.ค.2563 รวม 7.20 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนบัญชีรวม 12.52 ล้านบัญชี

ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น การช่วยเหลือในส่วนของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ คิดเป็นยอดสินเชื่อรวม 4.25 ล้านล้านบาท จากจำนวนบัญชีรวม 6.12 ล้านบัญชี โดยการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยคิดเป็นยอดสินเชื่อรวม 1.63 ล้านล้านบาท และคิดเป็นจำนวนบัญชีรวม 5.74 ล้านบัญชี ซึ่งลดลงเล็กน้อย เนื่องจากลูกหนี้ทยอยสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1

อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามมาตรการระยะที่ 1 คิดเป็นสัดส่วน 90% ของการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยสะสมทั้งหมด สำหรับอีก 10% เป็นการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย (1) ลูกหนี้ที่สิ้นสุดการให้ความช่วยเหลือมาตรการระยะที่ 1 และมาต่อมาตรการระยะที่ 2 (2) ลูกหนี้บัญชีใหม่ ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อน

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 และไม่ขอต่อมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้เช่าซื้อ ที่สามารถกลับมาจ่ายค่างวดได้ปกติ ส่วนการให้ความช่วยเหลือของธนาคารรัฐ ตามนโยบาย ธปท. และภาครัฐ คิดเป็นยอดสินเชื่อรวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท จากจำนวนบัญชีประมาณ 6 ล้านบัญชี

ธปท.คลอดมาตรการช่วยลูกหนี้เต็มที่: นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.กำลังติดตามดูว่า หลังหมดมาตรการช่วยเหลือในระยะแรก จะมีลูกหนี้ที่ขอเข้าสู่การช่วยเหลือ(Opt in) ในระยะที่สอง ปริมาณเท่าใด ซึ่งธปท.เชื่อว่าจะน้อยลงมาก “ภาครัฐและเอกชนต้องหาแนวทางที่จะตอบโจทย์กลุ่มเหล่านี้ ทั้งด้านการเงินที่จำเป็นต้องเยียวยาต่อเนื่อง และหาแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ควบคู่กันไปให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจด้วย”

พร้อมยืนยันว่า สถาบันการเงินไทยในปัจจุบันยังมีความเข้มแข็งและมั่นคงอย่างมาก สะท้อนจากระดับเงินกองทุนที่สูง คอยเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือลูกหนี้และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้ การแก้วิกฤติครั้งนี้จึงเน้นไปที่การช่วยดูแล “ลูกหนี้” แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งในระยะข้างหน้าคงมีมาตรการออกมาดูแลอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ ธปท. จะไม่ออกมาตรการที่เป็นการทั่วไปที่อาจกินส่วนทุนของธนาคารพาณิชย์ได้ และการช่วยเหลือก็ต้องมองถึงความสมดุล ต้องทำให้มั่นใจว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข็มแข็งอยู่ เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติโควิดจะจบลงเมื่อไหร่ ในส่วนของหนี้ครัวเรือน ยอมรับว่ามีความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวที่เข้ามากระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือน ให้เปราะบางมากขึ้น จากก่อนหน้าที่ หนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ดังนั้นมาตรการที่ธปท.ทำตั้งแต่ต้นปี คือ หาแนวทางลดภาระหนี้ของภาคครัวเรือนลง  เช่น การลดดอกเบี้ย หรือการปรับเปลี่ยนสินเชื่อให้เป็นระยะยาว

ขณะเดียวกันต้องหาแนวทางลดภาระหนี้ครัวเรือนให้มากขึ้น เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน การสร้างวินัยทางการเงิน และต้องทำให้ตระหนักถึง  Responsible lending หรือ การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดยให้ดูรายได้สุทธิลูกหนี้ด้วยว่ามีเพียงพอในการดำรงชีพหรือไม่

สำหรับการให้สถาบันการเงินทำแบบทดสอบภาวะวิกฤติ(Stress test) เนื่องจาก ธปท. ต้องการเห็นภาพของระบบสถาบันการเงินในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในอีก 3 ปีข้างหน้า ว่าสถาบันการเงินจะเป็นอย่างไร ดังนั้น Stress test ก็คือผลลัพท์ที่จะนำมาตอบโจทย์ ประมาณการเงินกองทุน นโยบายปันผลและการตั้งสำรองของระบบสถาบันการเงินในระยะข้างหน้า เพราะธปท.อยากเห็นแบงก์ ยืนอยู่ด้วยความมั่นคง และเป็นกลไกในการช่วยเหลือลูกหนี้ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 อาจลากยาวก็เป็นได้ 

อย่างไรก็ตาม หากดูเงินกองทุนของระบบธนาคาพาณิชย์ในปัจจุบันมีสูงถึง 19.2% และมีเงินสำรองสูงถึง 144% หากเทียบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ต้องถือว่ามีสำรองอยู่ค่อนข้างมาก

แบงก์พาณิชย์ฐานะดี-เงินฝากท่วม ช่วยลูกหนี้ของธนาคาร

KBNK หวัง70%กลับมาชำระหนี้: นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า  ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารผ่านมาตรการระยะที่ 1 และ 2 มีประมาณ 9.8 หมื่นบัญชี หรือคิดเป็นวงเงินราว 6 แสนล้านบาท

สำหรับลูกหนี้รายย่อย ที่เข้าโครงการถือว่าใกล้เคียงกันที่ราว 6 แสนบัญชี  มูลหนี้ราว 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าลูกหนี้กลุ่มนี้มีโอกาสกลับมาชำระหนี้ได้ปกติใกล้ 70% อย่างบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ที่ปัจจุบันลูกหนี้มีภาระลดลง

SCBสั่งประคองลูกหนี้ไม่ให้สะดุด:นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ถ้าดูลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารทั้งหมดมีประมาณ 8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 39% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ในจำนวนนี้มีทั้งการช่วยเหลือผ่านการพักชำระหนี้ เลื่อนการชำระหนี้เงินต้น รวมถึงการของสินเชื่อซอฟท์โลนดอกเบี้ย 2% 

สำหรับลูกค้าที่เข้ามาตรการการช่วยเหลือและใกล้ครบกำหนดระยะการช่วยเหลือ ทางธนาคารพิจารณาการช่วยเหลือเป็นรายลูกค้า เพื่อทบทวนมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าว่าเพียงพอต่อการให้การช่วยเหลือหรือไม่ เพื่อประคองให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่สะดุด

BAYรุดช่วยเหลือเฟส2:ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้ว ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การพักชำระหนี้ให้เอสเอ็มอี ออกไป 6 เดือน วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท อยู่ที่ราว 8 พันราย ผ่านโครงการซอฟท์โลนออมสิน 1,200 ราย และซอฟท์โลนธปท. 4,000 ราย และยังมีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ประมาณ 600 ราย

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กรุงศรี ออโต้ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบโควิด ในระยะแรกแล้ว 650,000 ราย โดยการพักหนี้สูงสุด 6 เดือนและปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ยังไม่ได้ขยายการช่วยเหลือในเฟส2 โดยให้ลดค่างวดผ่อนชำระสูงสุด 30% ของค่างวดเดิม และพักเงินต้นดอกเบี้ย

ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ พบว่า มีลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือในมาตรการระยะ1 ผ่านการปรับลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำโดยอัตโนมัติ มีลูกค้าร่วมโครงการ 4.2 ล้านบัญชี มาตรการที่ 2 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนานสูงสุด 2 รอบบัญชีแบบอัตโนมัติ มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 8 แสนบัญชี และ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ (Refinance) ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ (ช่วงระยะดำเนินมาตรการ 13 เม.ย. 2563 – 30 มิ.ย. 2563)มีลูกค้าที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมมาตรการแล้วกว่า 8 หมื่นบัญชี ส่วนมาตรการระยะที่สอง มีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือเข้ามาตรการระยะสองแล้ว ตั้งแต่ 1 ก.ค.กว่า 1 หมื่นบัญชี ส่วนลูกหนี้จะสามารถออกจากโครงการและกลับมาชำระหนี้ปกติได้สัดส่วนเท่าไหร่นั้น อยู่ระหว่างการประเมิน

‘กรุงไทย’เร่งประเมินลูกหนี้ลูกหนี้: ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากแบงก์ ผ่านมาตรการต่างๆ ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แล้ว กว่า 200,000 ราย ส่วนลูกหนี้จะสามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ปกติสัดส่วนเท่าไหร่นั้นอยู่ระหว่างการประเมินเช่นเดียวกัน

ส่วนโครงการ แก้หนี้ให้ภาคธุรกิจ 50-500 ล้านบาท ในการเข้าไปเร่งปรับโครงสร้างหนี้ หรือโครงการ DR biz จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีลูกค้าที่เข้าข่าย ประมาณ 2,500 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยจะประเมินว่าลูกค้าจะเข้าร่วมโครงการมากน้อยเพียงใดอีกครั้งเมื่อโครงการเริ่มมีผลบังคับใช้ เพราะการจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้าด้วย

คนไทยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้-จนแก่ 84%

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และ Siametrics Consulting ได้ทำการวิจัย เจาะความท้าทายใหม่ของหนี้ครัวเรือนไทยในวิกฤติโควิด-19 จากข้อมูล สินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ พบว่าหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในหลายปีที่ผ่านมา กว่าหนึ่งในสาม ของคนไทยมีภาระหนี้สูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีหนี้นานตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ และมีหนี้จนแก่ และ 84% ของครัวเรือนก็ยังพึ่งพาหนี้จากสถาบันการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบ เป็นสัดส่วนสูงภาระหนี้ที่สูงได้กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และทำให้ครัวเรือนไทยขาด ภูมิคุ้มกันต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ