ดันสร้างเทอร์มินัล 2 จนได้?!?อนุทิน-ศักดิ์สยามร่วมด้วยช่วยดัน ทอท.สร้าง 3 ทิศมูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท

2410

ทางโล่งสมใจ เพราะมีอำนาจไม่ต้องรับฟังใครหรือ?  อนุทิน-ศักดิ์สยามดันสร้างเทอร์มินัล 2 จนได้ หนุนทอท.ขยาย 3 ทิศวงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท ทั้งๆที่สภาพัฒน์ฯแย้งถึง 2 ครั้ง โควิดระบาดระลอกใหม่ถึงมีวัคซีนก็ยังต้องอยู่กับมนุษย์ไปอีกนาน อุตสาหกรรมการบินการท่องเที่ยว ไม่กลับมาปกติง่ายนัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามเชื้อโรค ยังจะดันทุรังทำกันไปให้สุด ครั้งนี้ทำไมสภาพัฒน์ฯไม่ค้าน คาดเพราะมัดรวมกับแผนใหญ่ใครก็ไม่อาจขวาง ท่ามกลางทั่วโลกติดโควิด 94,307,159 ราย เสียชีวิตพุ่ง 2,017,757 ราย

เตือนแล้วเตือนอีกไม่ยอมรับฟัง

เดือนธันวาคม 2563 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก (ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte) เปิด จม.สภาพัฒน์ ฉบับที่ 2 ค้าน! เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ แต่ ทอท.เมิน จะเดินหน้าสร้างให้ได้ โดยมีใจความสำคัญว่า หลังจากสภาพัฒน์ มีมติค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ หรือส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือในสนามบินสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 และได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2562 ถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อแจ้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต่อไป แต่ ทอท.ก็ไม่ลดละความพยายาม โดยได้ขอให้สภาพัฒน์พิจารณาใหม่อีกครั้ง ในที่สุดสภาพัฒน์ได้มีมติค้านเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 และได้มีหนังสือลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อแจ้ง ทอท.ต่อไป แต่ดูเหมือนว่าไม่สามารถหยุดยั้ง ทอท.ได้ ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือยังคงอยู่ในแผนงานก่อสร้างของ ทอท.

คาดหวังสูงไปไหม โควิดกลายพันธ์ไม่กระจอก?อุตฯท่องเที่ยวโลกยากฟื้น

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทาง การเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ครั้งที่ 1/2564 ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม 

โดยสรุปผลการประชุม อย่างคาดหวังสูงอาจไม่สอดคล้องสถานการณ์โควิดกลายพันธ์ระบาดหนักทั้งโลก

1.ที่ประชุมรับทราบ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทาง การเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นรองประธานกรรมการ และมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นฝ่ายเลขานุการฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ 

1.1 พิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร ทสภ.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับการให้บริการผู้โดยสารภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 1.2 ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยปฏิบัติงาน และให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลได้ตามความจำเป็น 1.3 รายงานผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ1.4 ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบ

2.ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการพัฒนา ทสภ.โดยก่อสร้างส่วนต่อขยาย

อาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทิศตะวันตก (West Expansion) และทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ.ให้รองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี โดยจากการคาดการณ์ของ IATA มีความเห็นว่า ปริมาณผู้โดยสารของ ทสภ.จะกลับมาเท่ากับปี 2562 (ประมาณ 65 ล้านคน) อีกครั้งในปี 2566 ซึ่งการพัฒนา ทสภ.ก่อสร้างส่วนต่อขยายฯ จะทำให้ลดความแออัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย

ปัจจุบัน ทสภ.อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) และการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ ทสภ.เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี 

ทั้งนี้การก่อสร้าง East Expansion มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 15 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน พื้นที่ 66,000 ตร.ม.และมีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ เคาเตอร์เช็กอิน 108 เคาน์เตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง 

การก่อสร้าง West Expansion มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 15 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน พื้นที่ 66,000 ตร.ม. เคาน์เตอร์เช็กอิน 108 เคาน์เตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง ช่องตรวจคนเข้าเมือง ขาออก 34 ช่อง ขาเข้า 56 ช่อง 

การก่อสร้าง North Expansion รองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ 30 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 41,260 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 25 เดือน พื้นที่ 348,000 ตร.ม.และมีสิ่งอำนวยความสะดวก อาคารจอดรถ 3,000 คัน หลุมจอดประชิดอาคาร 14 หลุมจอด สายพานรับกระเป๋า 17 ชุด ช่องตรวจค้น 49 ช่อง ช่องตรวจคนเข้าเมือง ขาเข้า 82 ช่อง ขาออก 66 ช่อง รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover:APM) ทั้ง Airside และ Landside รวมทั้งมีพื้นที่ถนนรองรับรถหน้าอาคารผู้โดยสาร (Curb Side) 

หวังว่าตัดสินใจสร้างสนามบินกว้างใหญ่จะมีเครื่องบินมาลงจอดได้ตามความคาดหมาย เพราะถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะเห็นแนวโน้มขาลงของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของโลกว่า ใกล้หมดลมหายใจอย่างแท้จริง และสภาพเช่นนี้ยังอยู่อีกนานเพราะ โควิดกลายพันธ์ทำลายล้างสาหัสกว่าปีก่อนแน่ WHO เตือนดังๆมาแล้ว!