จากกรณีที่เมื่อช่วงดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 นิว สิริชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธร (สภ.) คลองหลวง จับกุมในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112นั้น
ขณะที่เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความระบุว่า แนวร่วมส่วนหนึ่ง นำโดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ได้เดินทางไปที่ สภ.คลองหลวง ด้วย ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอของกลุ่มเหล่ามวลชนเมื่อช่วงดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
“มวลชนเหล่านี้มาเพื่อให้กำลังใจนายสิริชัย ก่อนใช้สีสเปรย์สีขาวและดำพ่นด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังได้นำป้ายมามีข้อความให้ยกเลิกมาตรา112 วางไว้ที่หน้าบันไดทางขึ้นโรงพัก ที่สภ.คลองหลวง และนำอาหารสุนัขชนิดเม็ดมาสาดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่นั่งรักษาความสงบอยู่ที่หน้าโรงพัก พร้อมทำการจุดธูปและระบุว่าเป็นการไว้อาลัย ม.112”
ด้าน นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่าน้องเยาวชนถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 เพราะเหตุพ่นสีจำนวน 2 ข้อความคือ 1. ปล่อยเพื่อนเรา 2.ยกเลิก 112
ทั้งนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไม นิว ศิริชัย ถึงมีความผิดมาตรา 112 และยังมีการพูดถึงการกระทำผิดของผู้ต้องหา ภายในกลุ่มผู้สนับสนุนม็อบว่า เยาวชนคนดังกล่าว แค่พ่นสีทำไมถึงเข้าข่ายผิด มาตรา 112 ซึ่งไม่ได้บอกถึงรายละเอียดอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม กลับไม่มีใครสนใจว่า ข้อความที่พ่นไปนั้น ปรากฎอยู่ที่ใด จนมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ James Buchanan จิมมี่พาย ได้มีการ นำข้อมูลจากทวิตเตอร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มาแชร์ ซึ่งปรากฎข้อความบนพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งคาดว่า นิว สิริชัย น่าจะเป็นคนพ่นข้ความพระบรมฉายาลักษณ์ จึงเข้าข่ายมีความผิด ตาม ม.112
ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2564 กลุ่มคณะราษฎร และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เข้าติดตามการ รับทราบข้อกล่าวหา ของนายชยพล ดโนทัย หรือ เดฟ ที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นำโดย เพนกวิน รุ้ง และกลุ่มการด์วีโว่ โดยกลุ่มมวลชนได้ฝ่าแผงกั้นของเจ้าหน้าที่เข้ามาด้านใน โดยมีการนำแพะใส่เสื้อ 112 เดินทางเข้ามาด้วย พร้อมด้วยการ์ดของมวลชน ซึ่งเกิดการปะทะกันเล็กน้อย เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำธงที่มีรูปภาพ และข้อความว่า ตื่นเถิดตำรวจกล้า ปวงประชาจะคุ้มภัย พร้อมทั้งได้นำแพะ 2 ตัว สวมชุดสีแดง แล้วเขียนเลข 112 ไว้ เข้ามาที่ด้านหน้าโรงพัก
เพจเฟซบุ๊ก “พลาดหัวข่าว” ได้โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์ความวุ่นวายที่บริเวณ สภ.คลองหลวง ระบุว่า “ถ่อยต่อเนื่อง การ์ด Wevo ปลดธงชาติ สภ.คลองหลวง ชักผ้าแดงขึ้นเสาแทน โรยดอกไม้จันทน์ รอบเสาธง และชูป้ายข้อความลักษณะด่าทอ ประจานตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่พยายามห้ามปรามและนำผ้าสีแดงลงจากเสาธง ทันที”
กระนั้นต่อมาเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดมาตรา 112 และ 116 ว่า ได้ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ ระดับกองบัญชาการ ที่สำคัญตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ใช่นโยบาย และตำรวจจะละเว้นไม่ได้ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิพบทนายความ เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาตำรวจไม่ได้ปิดกั้นสิทธิดังกล่าว ทั้งนี้การเรียกร้องทางการเมืองเป็นสิทธิเช่นกัน แต่ต้องระวังไม่ให้ไปกระทบสิทธิของผู้อื่น หรือไม่ให้เกิดการกระทำความผิดกฎหมายเรื่องอื่น การเคลื่อนไหวที่กระทบสิทธิผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน ผู้เคลื่อนไหวต้องรับผลจากการกระทำนั้น
“การที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ออกหมายเรียก ออกหมายจับ ตำรวจพิจารณาโดยคณะกรรมการ ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน การออกหมายเรียกหรือหมายจับ ตำรวจขอความเห็นจากศาล จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะออกหมายเรียกหรือหมายจับให้ ที่ผ่านมาตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในข้อหามาตรา 116 และ 112 มาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบอกจำนวนได้ เพราะอาจส่งผลกระทบหลายส่วน ยืนยันว่าต้องดำเนินการ เพราะหากไม่ทำแปลว่าตำรวจละเว้น ก็จะเป็นความผิดตามกฎหมายเช่นกัน”
นอกจากนี้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังกล่าวอีกว่า การเข้าไปจับกุมแกนนำในเวลากลางคืนทำไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตนสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมแล้ว ทราบว่าเป็นการจับตามหมายในที่สาธารณะ ไม่มีข้อห้ามว่าต้องจับกี่โมง ผู้ต้องหามีถิ่นที่อยู่ไม่ชัดเจน มีแนวโน้มว่าจะไม่ปรากฏตัวให้จับหรือไม่ มีแนวโน้มว่าจะหลบหนี เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นไปยังศาลขออนุญาตออกหมายจับ ศาลพิจารณาออกหมายจับให้ ตำรวจก็ไปจับกุมตามหมายจับ ย้ำว่าขั้นตอนจับกุมตำรวจทำตามระเบียบวิธีปฏิบัติตาม ป.วิอาญา ทุกประการ
ล่าสุดสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์โดยอ้างถึงผู้แทน3สถาบันการศึกษา คือสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ทั้งนี้ระบุเรื่อง ประณามการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อวันที่ 13 – 14 มกราคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาบางช่วงว่า ตามที่ได้มีการจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามประมวล
กฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อคืนวันที่ 13 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา และเหตุการณ์ได้ต่อเนื่องมายังวันที่ 14 มกราคม 2564 ซึ่งมีการจับกุมตัวนักศึกษาคนดังกล่าวอีกครั้งด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มาตรา 27 ดังที่ปรากฏในสื่อสังคมอย่างแพร่หลาย ผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง ขอยืนยันในหลักเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนอย่างอิสระ (Freedom of Speech) อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่ม
ผู้ชุมนุมที่ผ่านมานั้นมีเจตนาเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองภายใต้หลักการทางประชาธิปไตย มิได้มีเจตนาเพื่อดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด
อีกทั้งการเข้าจับกุมตัวนักศึกษาในคืนวันที่ 13 มกราคม 2564 เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม ทั้งในด้านของหลักความเสมอภาค หลักความเป็นอิสระ และหลักความเป็นกลาง ซึ่งเป็นหลักสากลในการบังคับใช้กฎหมายในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นอกจากนี้การบุกจับกุมในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทางด้านสาธารณสุข อาจแสดงให้เห็นถึงการขาดมนุษยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และความบกพร่องในการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลอีกด้วย