ยื้อต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว?!?คนกรุงกระอัก กทม.เล็งเก็บค่าโดยสารตลอดสาย 158 บาทเหตุหนี้ค้ำคอ 9 พันล้าน

2052

รัฐบาลยังไร้ข้อสรุปการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำ กทม.อ่วม เล็งเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว 16 ก.พ.นี้ ตามเพดานราคาสูงสุด 158 บาท หลังดีล 65 บาทตลอดสายไม่ได้ข้อสรุป ชี้โควิด-19 พ่นพิษ ผู้โดยสารลดต่อเนื่อง สำรวจภาระหนี้เดินรถที่กทม.ต้องแบกต่อพุ่งกว่า 9 พันล้าน ภาระตกอยู่กับประชาชนเตรียมรับเสียงบ่น แบบนี้ใครจะรับผิดชอบ

 

การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต–สะพานใหม่-คูคต จะเปิดให้บริการฟรีถึงวันที่15 ม.ค.2564 เท่านั้น ในขณะที่การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งรัฐและเอกชนที่รับผิดชอบดำเนินการเดินรถต้องประสบปัญหาที่น่าอึดอัด หาข้อสรุปยังไม่ได้ ผลเสียตกอยู่กับประชาชนต้องทนจ่ายค่าโดยสารเต็มพิกัด ทั้งๆที่สามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เผยว่า ขณะนี้บีทีเอสยังไม่ได้รับแจ้งจากทางกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ ถึงรายละเอียดการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย  แต่ตามกฎหมายกำหนดว่าเมื่อมีการประกาศค่าโดยสารแล้ว ซึ่งจะต้องใช้เวลา 30 วันจึงจะมีการจัดเก็บค่าโดยสารได้ ก็คาดว่าจะได้รับแจ้งข้อมูลจากทางกรุงเทพมหานครและประกาศให้ประชาชนรับทราบภายใน 16 ม.ค.นี้

“เมื่อมีการประกาศก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะจัดเก็บค่าโดยสารได้ ดังนั้นต้นทุนการเดินทางก็จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ ซึ่งปัจจุบันคค่าจ้างเดินรถที่บีทีเอสต้องจัดเก็บจากทางกรุงเทพมหานครมีอยู่กว่า 9 พันล้านบาทแล้ว โดยบีทีเอสต้องแจ้งอัพเดตตัวอย่างอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นต้นทุนที่เราก็ต้องแบกรับ”นายสุรพงษ์ กล่าว ส่วนการปรับเปลี่ยนค่าโดยสารจะต้องใช้เวลาในการปรับระบบตั๋ว 3-4 วัน รวมทั้งที่ผ่านมาเมื่อเปลี่ยนค่าโดยสารบีทีเอสจะใช้เวลาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า 30 วัน ตามข้อกำหนดของสัมปทาน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่กรุงเทพมหานครเปิดให้บริการฟรีมาตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 ได้มีการพิจารณาแนวทางดำเนินการหลังจากนี้ โดยในวันที่ 16 ม.ค.นี้ กรุงเทพมหานครจะมีการประกาศอัตราค่าโดยสารของส่วนต่อขยาย รวมค่าโดยสารสายหลักทั้งสายสุขุมวิทและสีลม

โดยขณะนี้ กรุงเทพมหานครยังอยู่ระหว่างศึกษาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะมีเพดานราคาสูงสุดอยู่ที่ 158 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณมาจากอัตราค่าโดยสารสายสีเขียวหลักที่เก็บสูงสุด 44 บาท และมีการจัดเก็บเพิ่มเติมในเส้นทางส่วนต่อขยาย โดยอัตราค่าโดยสารที่กรุงเทพมหานครจะประกาศครั้งนี้ ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราราคาเพิ่มเติมในช่วงส่วนต่อขยายสายใหม่ ทั้งสายเหนือหมอชิต-สะพานใหม่–คูคต และสายใต้ ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า“เนื่องจากว่ากำหนดฟรีค่าโดยสารจะสิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค.นี้ แต่เนื่องด้วยกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการเดินรถจะต้องประกาศค่าโดยสารให้ผู้โดยสารทราบและเตรียมตัวก่อน 30 วัน ดังนั้นการที่ กทม.จะประกาศราคาในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ก็จะเริ่มมีผลต่อผู้โดยสาร เริ่มจ่ายค่าโดยสารในวันที่ 16 ก.พ.2564” 

อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่สูงตามเพดานราคา 158 บาท เนื่องจากปัจจุบันการเจรจาจัดทำราคา 65 บาทตลอดสาย ยังไม่ได้ข้อสรุป อีกทั้งกรุงเทพมหานครก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับเอกชนผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายดังกล่าว ซึ่งเป็นภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่าเพดานราคา 158 บาท แม้จะเป็นราคาที่สูง แต่เมื่อคำนวณต้นทุนทั้งหมดแล้วแล้วพบว่ากรุงเทพมหานครยังขาดทุน

ทั้งนี้ จากสถิติการให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงห้าแยกลาดพร้าว–คูคต จากการเปิดให้บริการตั้งแต่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 125,444 เที่ยวคนต่อวัน ซึ่งในช่วงแรกที่ให้บริการมีผู้โดยสารมากกว่า 150,000 เที่ยวคนต่อวัน แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผู้โดยสารลดลง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80,000 เที่ยวคนต่อวัน

ยื้อจนได้เรื่อง-ลุงตู่ต้องกล้าตัดสินใจไม่เช่นนั้นไม่จบ

สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตีกลับหลายรอบ  แม้ผลการเจรจาระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จะได้ข้อสรุปทั้งเงื่อนไขสัญญาโครงการบีทีเอสเดิมและการต่อสัญญาที่ผนวกรวมกับสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อีก 30 ปี (2572-2602) หลังมีคำสั่ง คสช.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 เร่งรัดการดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น ซึ่ง ครม.ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 บรรยากาศร้อนฉ่า เมื่อกระทรวงคมนาคมเสนอความเห็นเพิ่มเติม 4 ประเด็น จนทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องนำเรื่องกลับไปทบทวน  

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 กระทรวงมหาดไทยได้เสนอ ครม.พิจารณาผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้วครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง เพิ่งเข้ารับตำแหน่งและมี รมต.ใหม่ใน ครม.หลายคน จึงขอนำรายละเอียดข้อตกลงในร่างสัญญาใหม่ไปศึกษาก่อน การเจรจาสรุปไปแล้ว เป็นเรื่องของขั้นตอนในการนำเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติเท่านั้น  แต่กลับมาสะดุด จากการนำเสนอ ครม. วันที่ 17 พ.ย. 2563 เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจาก ครม.วันที่ 13 ส.ค. 2563 ขณะที่กระทรวงคมนาคมเพิ่งมีการเสนอไปที่ เลขาธิการ ครม.ก่อนประชุมเพียงวันเดียวท้วงติง หรือนัยว่าคัดค้านการต่อสัมปทาน ทำให้ครม.ยังไม่มีมติในรอบนี้อ้างว่าเพื่อให้การดำเนินการครบถ้วน โดยให้กระทรวงมหาดไทยทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อชี้แจงกรณีกระทรวงคมนาคมมีความเห็นไว้ และนำเสนอ ครม.อีกครั้ง จนบัดนี้ก็เงียบกริ๊บ ทำให้ภาระเกิดกับประชาชนอย่างที่เห็น