ประธาน “ซิโนแวค” แถลงด่วน ไขข้อข้องใจ วัคซีนโควิดได้ประสิทธิภาพต่ำกว่า 60 % แต่ผ่านเกณฑ์ของ WHO “อนุทิน” ย้ำคำเดิม “ขออาสาคนแรก”

1829

จากกรณีที่ทางด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดถึงกรณีมีการเผยแพร่ผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ประเทศจีน ที่ศึกษาในมนุษย์ระยะ 3 ดำเนินการในบราซิลออกมา มีประสิทธิผลประมาณ 50.38 %

 

โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นตัวเดียวกับที่ประเทศไทยจะนำเข้ามา จำนวน 2 ล้านโดส ว่าขณะนี้ไทยขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัทไซโนแวคแล้ว อยู่ระหว่างรอการตอบกลับอย่างเป็นทางการว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร ส่วนขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทย ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นให้ทราบอยู่แล้ว

ล่าสุดบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ผู้ผลิตยารายใหญ่ของจีน เปิดเผยว่า วัคซีน “โคโรนาแวค” (CoronaVac) ของบริษัทซึ่งผ่านการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วย “เล็กน้อยถึงรุนแรง” ได้ 78% ซึ่งขณะนี้ ในบางประเทศอย่างอินโดนีเซียและตุรกี เริ่มฉีดวัคซีนตัวนี้กันแล้ว

แต่กลับเกิดประเด็นกังขาเกี่ยวกับวัคซีนของซิโนแวค หลังจากคณะนักวิจัยของบราซิลเผยผลการทดสอบทางคลินิกในประเทศเมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.) ที่ผ่านมา พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดเพียง 50.4% ซึ่งรวมถึงการทดสอบกับผู้ป่วยที่มีอาการ “เล็กน้อยมาก”

โดยนายหยิน เหว่ยตง ประธานซิโนแวค ไบโอเทค ออกโรงแถลงปกป้องเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรนาแวค ได้ระบุว่า “ผลการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 ก็เพียงพอแล้วที่จะพิสูจน์ว่า ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรนาแวคนั้นส่งผลดีต่อทั่วโลก”

ถึงแม้ประเทศต่าง ๆ ใช้วัคซีนโคโรนาแวคล็อตเดียวกัน แต่ก็มีกระบวนการทดสอบวัคซีนที่แตกต่างกัน จึงทำให้ตัวเลขประสิทธิภาพในแต่ละประเทศออกมาไม่เท่ากัน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก กำหนดมาตรฐานการรับรองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า วัคซีนนั้นจะต้องมีประสิทธิผลไม่ต่ำกว่า 50%

ตัวเลขประสิทธิภาพคาบเส้นของวัคซีนโคโรนาแวคในบราซิล เพิ่มความกังวลว่าวัคซีนของซิโนแวคอาจไม่ได้มาตรฐานมากพอ ที่จะฉีดให้ประชาชนเมื่อเทียบกับวัคซีนอื่น ๆ ในสหรัฐฯและยุโรป เพราะถือว่าต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับวัคซีนของ “ไฟเซอร์” หรือ “โมเดอร์นา” ที่มีประสิทธิภาพระหว่าง 80-90%

การเปิดเผยข้อมูลจากบราซิลมีขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่อินโดนีเซียเริ่มโครงการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทจีน โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เป็นคนแรกในประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้

ส่วนประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนที่สั่งวัคซีนจากซิโนแวคอย่างมาเลเซีย เปิดเผยว่า จะเริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนโคโรนาแวค ต่อเมื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนผ่านมาตรฐานของหน่วยงานท้องถิ่นแล้วเท่านั้น

ขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศรายได้สูงประเทศเดียวที่ทำข้อตกลงซื้อวัคซีนโควิดจากซิโนแวค ระบุว่า จะพิจารณาจากข้อมูลวัคซีนเมื่อซิโนแวคเผยแพร่อย่างเป็นทางการ มากกว่าตัวเลขประสิทธิภาพที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ และจากนั้นจะตัดสินใจว่าจะรับรองวัคซีนนี้หรือไม่

ส่วนประเทศไทยซึ่งสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวค 2 ล้านโดส ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กระบวนการรับมอบวัคซีนโคโรนาแวคจะยังดำเนินตามแผนเดิมต่อไป โดยจะทยอยฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า โดยไทยจะทยอยนำเข้าวัคซีนโคโรนาแวค 3 รอบ แบ่งเป็นล็อตแรกปลายเดือน ก.พ. 200,000 โดส ล็อตสองปลายเดือน มี.ค. 800,000 โดส และปลายเดือน เม.ย. อีก 1 ล้านโดส

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เป็นครั้งแรก หลังจากต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน จากกรณีเดินทางไปปฏิบัติงานที่ จ.สมุทรสาคร และพบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครป่วยโรคโควิด-19 นั้น

โดยเมื่อนักข่าวถามถึงความพร้อมในการเป็นอาสาสมัครฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในล็อตแรก นายอนุทิน กล่าวว่า “ผมฉีดอยู่แล้ว” ซึ่งยังยืนยันคำเดิมจากที่เคยบอกว่า ผมพร้อมจะฉีดคนแรก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้คนไทย

และเมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะฉีดด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้าท่านประสงค์จะฉีด ก็ต้องให้ท่านนำ แต่หากท่านนายกฯ บอกให้ตนลองก่อน เราก็ต้องยอมตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ต้องปกป้องผู้บังคับบัญชาก่อน

“ในเมื่อเป็นคนเห็นชอบให้ทำนโยบายวัคซีน เราสั่ง เราก็ต้องยอม เราไม่ฉีดแล้วใครจะฉีด”