ไม่เบรกวัคซีนจีน!! สธ.ยึดแผนเดิม เร่งขอข้อมูลจริง หลังบราซิลทดลองได้ผลต่ำกว่า 60% “หมอยง” ไขข้อสงสัย ประสิทธิภาพ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลข

1649

หลังจากที่สำนักข่าว บลูมเบิร์ก ได้ออกมารายงานว่า นักวิจัยจากสถานบันชีวการแพทย์ “บูตันตัน” ในประเทศบราซิล เผยว่า การทดสอบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท “ซิโนแวค” ของจีน ในขั้นสุดท้ายชี้ว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโดยรวมเพียง 60 % ซึ่งเกินเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการอนุมัติใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และต่ำกว่าตัวเลขประเมิน 78%

โดยประสิทธิภาพ 78% ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้คำนวณจากกลุ่มผู้ติดเชื้ออาการ เล็กน้อย , ปานกลาง และหนัก และเมื่อรวมผู้ติดเชื้ออาการเล็กน้อยมากเข้าไปด้วย ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนที่ออกมาจึงเหลือเพียง 50.38% ซึ่งทางการบราซิลแถลงว่าผิดหวังกับผลลัพธ์ที่ได้


ล่าสุดทางด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดถึงกรณีมีการเผยแพร่ผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของไซโนแวค ประเทศจีน ที่ศึกษาในมนุษย์ระยะ 3 ดำเนินการในบราซิลออกมา มีประสิทธิผลประมาณ 50.38 % โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นตัวเดียวกับที่ประเทศไทยจะนำเข้ามา จำนวน 2 ล้านโดส ว่าขณะนี้ไทยขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัทไซโนแวคแล้ว อยู่ระหว่างรอการตอบกลับอย่างเป็นทางการว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร ส่วนขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทย ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นให้ทราบอยู่แล้ว


“จากการติดตามการแถลงผลการศึกษา มีการใช้คำว่าประสิทธิภาพในภาพรวมอยู่ที่ 50.38 % หมายความว่าระหว่างคนฉีดกับไม่ฉีดมีอัตราการติดเชื้อแตกต่างกัน โดยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเลยอยู่ที่ 50.38 % ประเด็นคือการทดลองนี้ทำในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง อาสาสมัครส่วนใหญ่คือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว อาจส่งผลต่อภาพรวมของการติดเชื้อ

หากทดลองในคนทั่วไปก็อาจได้ตัวเลขสูงกว่า ส่วนตัวเลขเดิมที่ระบุว่า 78% ในคนที่ฉีดกับไม่ฉีด เป็นเรื่องการป่วย คือป้องกันการป่วยได้ 78% ซึ่งอาจจะติดเชื้อแต่ไม่มีอาการป่วย แต่ไม่พบอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน 100% เมื่อเทียบกับไม่ฉีดวัคซีน ดังนั้นมีตัวเลขเปอร์เซ็นต์หลายตัวที่ต้องนำมาพิจารณาในรายละเอียด

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงคำแถลงของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและสถาบันวิจัยให้ข้อมูลเท่านั้น เราต้องรอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ เฉพาะตอนนี้ข่าวที่ออกมาไม่มีผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของไทย ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ และผมคาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน คือกุมภาพันธ์จะสตาร์ทได้”


ขณะที่ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 วัคซีน ผลการศึกษาประสิทธิภาพจึงต่างกัน ผลของประสิทธิภาพวัคซีนในการศึกษาต่างสถานที่ ต่างกลุ่ม ประสิทธิผลทำไมไม่เท่ากันเพราะการประเมินประสิทธิภาพ จะประเมินอะไร ป้องกันการติดเชื้อ หรือ ป้องกันการเกิดโรค เป็นโรคแต่ไม่รุนแรง เช่น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่เสียชีวิต ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 จะประเมินตรงไหน ต้องชี้แจงให้ละเอียด ไม่ใช่บอกแต่ตัวเลข

ประเด็นที่ 2 ที่มีการประเมินผลวัคซีนเดียวกัน ทำในสถานที่และประชากรต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรที่ศึกษา ทำให้ผลต่างกัน เช่น การศึกษาวัคซีน HIV ในประเทศไทย ได้ประสิทธิภาพป้องกันกันโรคได้ 30% ศึกษาที่แอฟริกา ได้ 0% เพราะแอฟริกา มีความเสี่ยงสูงกว่าไทย ในทำนองเดียวกัน การศึกษาวัคซีนท้องเสีย โรตาในแอฟริกา ประเทศเมารี ได้ประสิทธิภาพ ร้อยละ 50 แต่ใช้วัคซีนเดียวกัน ทำในยุโรปได้ประสิทธิภาพสูง 83-90% เพราะแอฟริกาเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค และการติดโรคได้สูงกว่าในยุโรป

ทำนองเดียวกันการศึกษาโควิดวัคซีน ถ้าทำในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีประสิทธิภาพป้องกันในการศึกษาต่ำกว่า การศึกษาในประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำ

การศึกษาของวัคซีนของจีนประสิทธิภาพที่จีนประกาศ 79% โดยรวม ตุรกี ประกาศผลประชากรทั่วไปได้ 91% และอินโดนีเซียได้ 65% ตัวเลขต่างกัน คือ บราซิลในบุคลากรทางการแพทย์ ได้ 50.4%

ดังนั้นประสิทธิภาพของวัคซีนในแต่ละตัว การแปลผลจะต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงตัวเลข