Truthforyou

ปิยบุตร สุดอาลัย ย้อนความสนิท “ฐากูร” รองปธ.มติชน เกินกว่าพี่น้อง ตอกย้ำ “ทิศทางสื่อใหญ่”

เคลื่อนไหวแล้ว!! ปิยบุตร สุดอาลัย ย้อนความสนิท “ฐากูร” รองปธ.มติชน เกินกว่าพี่น้อง ตอกย้ำ “ทิศทางสื่อใหญ่” ได้ชัดเจน!!

จากกรณีที่ มีรายงานว่า นายฐากูร บุนปาน รองประธานเครือมติชน เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่บ้านพัก ด้วยวัย 59 ปี หลังจากล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2562

ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า มติชน นั้นเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มม็อบคณะราษฎร ทั้งยัง นำเสนอข่าว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะก้าวหน้า อยู่เสมอ

ทั้งนี้ หากลองย้อนดูพบว่า มีคำถามทั้งในวงการสื่อสารมวลชนและผู้ติดตามสื่อทั่วไปว่าทำไม มติชนเลือกข้างยืนหยัดในกลุ่มเสื้อแดง สนับสนุนแนวทางนี้ตั้งแต่มีรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จนถึงยุคน้องสาว อีกทั้งในยุดปัจจุบัน มติชน ทำตัวเป็นสื่อเลือกข้างสนับสนุน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทางการเมืองอย่างโจ๋งครึ่ม

แต่พอเข้าไปดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น มติชน (MATI) ก็พบว่า สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 จำนวนถึง 35,836,000 หุ้น หรือ 19.33% ของหุ้นทั้งหมด และนายธนาธร เข้าไปเป็นกรรมการ(บอร์ด) บริษัท ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2556 ก่อนจะลาออกเพื่อมาตั้งพรรคการเมือง

ในคำลาลับจากการเป็น “บอร์ดมติชน” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวในช่วงท้ายว่า “หากต่อไปมติชนจะสนับสนุนผม ให้การสนับสนุนนั้นเป็นไปด้วยจุดยืนและการกระทำของผม ไม่ใช่เป็นเพราะเราเคยมีสัมพันธ์กัน

ผมหวังว่าเส้นทางอนาคตข้างหน้าของเราจะกลับมาพานพบกันในวันที่สังคมไทยได้มาซึ่งประชาธิปไตย” และวันนี้การนำเสนอข่าวสารทางการเมืองของ “เครือมติชน” คงเป็นสิ่งประจักษ์ยืนยันแล้วว่าได้สนับสนุนทายาทผู้ถือหุ้นอันดับ 2 อย่างเต็มกำลัง

ล่าสุดทางด้านของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อไว้อาลัยให้กับทางด้านของ นายฐากูร โดยถือว่าเป็นการตอกย้ำความสนิทสนม ทั้งเข้าร่วมงานแต่ง ทั้งร่วมกันคิดเรื่องตั้งพรรคการเมือง และสนับสนุนทางด้านแนวคิดต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

[ด้วยรักและอาลัย “พี่โต้ง” ฐากูร บุนปาน]
หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ผมพบพี่โต้งครั้งแรก ในวงอาหารที่ร้าน “เบียร์หิมะ”

วันนั้น พวกเรา ไปรับอาจารย์วรเจตน์ หลังจากได้รับการปล่อยตัว จากการถูกควบคุมตัวในข้อหาไม่ไปตามคำสั่งเรียกของ คสช.

พี่โต้งมาร่วมวงกับเราตามคำชวนของอาจารย์พวงทอง และพี่จุ๊ จุฬาลักษณ์ มื้อนั้น พี่โต้งอาสาขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารต้อนรับอิสรภาพของอาจารย์วรเจตน์ด้วย

จากนั้น ผมกับพี่โต้งก็พูดคุย สนทนากันมากขึ้น อาศัยว่าบ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน พี่โต้งไม่ขับรถ ไปไหนมาไหน ใช้บริการแท็กซี่ เวลาเลิกจากวงอาหาร ก็มักจะ “ติดลม” หาที่คุยกันต่อ ขากลับ ผมก็แวะไปส่งพี่โต้งที่บ้าน

รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ทำให้ผมอยู่ในห้วงความรู้สึกโกรธ เศร้า กับสถานการณ์การเมืองไทย ประกอบกับ มธ ปรับปฏิทินการศึกษาใหม่ ให้เปิดเทอมแรกเดือนสิงหาคม ทำให้มีเวลาว่าง ไม่ต้องสอนหนังสืออยู่หลายเดือน ก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ช่วงนั้น ผมเลือกใช้วิธีการออกไปนอกบ้าน หาอะไรดื่ม คิดอะไรไปเรื่อย หลายครั้ง ผมโทรหาพี่โต้ง ชวนออกมาดื่ม ช่วงนั้น กระแสคราฟต์เบียร์เริ่มมา พวกเราก็ไปตระเวนหาร้านดื่มกันย่านอารีย์ ย่านพระอาทิตย์

มีวันหนึ่ง ผมกะทิ้งตัว ดื่มยาวๆ เลือกจอดรถไว้ที่บ้าน ตระเวนดื่มไปเรื่อย มาจบที่ร้านเปิดใหม่แถวบางขุนนนท์ เกือบห้าทุ่มแล้ว ผมลองโทรหาพี่โต้ง ไม่ได้คาดคิดว่าแกจะยอมออกจากบ้านมา แต่แกมีน้ำใจกับผม นั่งแท็กซี่ออกมาดื่มด้วยกัน วันนั้นคุยกันสนุก โดยเฉพาะเรื่องฟุตบอล

ช่วงนั้น เราใช้บาร์ ร้านเหล้า ร้านข้าวต้ม เป็นสถานที่สนทนากันบ่อยครั้ง เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หนังสือ ธุรกิจสื่อใหม่ ฟุตบอล

พี่โต้งให้โอกาสผม เขียนคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ วันนั้นจำได้ว่า นัดกันย่านพระอาทิตย์ พี่โต้ง ชวนผมและศิริพจน์ มาดื่มคุย เพราะเราทั้งคู่จะเริ่มเขียนลงมติชนสุดสัปดาห์ ไล่ๆกัน วงวันนั้น เริ่มตั้งแต่ 3 ทุ่ม ไปจบเอาตีสอง จากร้านหนึ่งย่านพระอาทิตย์ ไปจบอีกร้านหนึ่งย่านบางลำพู

ปี 2559 ผมรับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ไปค้นคว้าที่ปารีส 6 เดือน วงดื่มกับพี่โต้งที่เคยมีบ่อยๆก็ลดน้อยลงไป

เดือนกรกฎาคม ผมกลับมา เพื่อรณรงค์ vote no ประชามติร่าง รธน และจัดงานแต่งงาน

ผมนัดพี่โต้ง เพื่อพูดคุยเรื่องรณรงค์ประชามติ และเชิญแกมาร่วมงานแต่งงานของผมกับ Eugénie

5 สค ในงานแต่งงาน พี่โต้งได้มอบบทกวีที่แกแต่งขึ้น เขียนด้วยลายมือ และใส่กรอบให้กับเรา พี่โต้งบอกว่า ชื่อของ Eugénie ควรเรียกเข้าไทยว่า “อุชเชนี” ซึ่งเป็นนามปากกาของประคิณ ชุมสาย

ปลายปี 2560 ธนาธร ชัยธวัช และผม คิดอ่านจะตั้งพรรคการเมือง พวกเรานัดพบปะพูดคุยกับผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อาวุโสจากหลายแวดวง เพื่อขอความรู้ประสบการณ์ หนึ่งคนในนั้น ต้องมี ฐากูร บุนปาน

เรานัดกันที่บ้านของ ธนาธร เราชวน พี่ป้อม นิธินันท์ พี่ถึก ใบตองแห้ง พี่ชูวัส และพี่โต้ง นอกจากนั้น ผมยังไปชวน “คุณช่อ” มาด้วย วันนั้น นอกจากขอความรู้จากสื่ออาวุโสแล้ว ผมตั้งใจขอให้คุณช่อทิ้งอาชีพสื่อ มาร่วมก่อตั้งพรรคกับพวกเรา วงเริ่มตั้งแต่ 5 โมงเย็น ไปจบเอาข้ามไปวันใหม่อีกหลายชั่วโมง ธนาธรหมดไวน์ไปหลายขวด พี่โต้ง อยู่กับพวกเราจนวงเลิก

พี่โต้งได้วาดภาพให้เราดูว่า หากเราตั้งพรรค จะเจออะไรบ้าง และควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร

พรรคการเมืองต้องมีทีมงานเบื้องหลัง ทีมที่สำคัญทีมหนึ่ง คือ ฝ่ายสื่อสารของพรรค ผมคุ้นเคยกับเชตวันมานาน และอนาคตของเขาที่มติชนก็น่าจะไปได้ดี แต่ผมก็ไปชวนให้เชตวันออกจากมติชน ออกจากพื้นที่ปลอดภัย แล้วมา “เสี่ยง” กับพวกเรา มาช่วยทีมสื่อของพรรค

ผมโทรไปขอพี่โต้ง แกตอบกลับมาว่า แกคุยกับเชตวันเรียบร้อย สนับสนุน ให้กำลังใจ เอาใจช่วย

เมื่อผมกลายเป็นนักการเมืองเต็มตัว เวลาของการพบปะ ดื่ม คุยกับพี่โต้งก็ลดลงไป เวลาผมไปตระเวนเดินสายหลายจังหวัด แกโทรมาเมื่อไร ก็ได้แต่นัดแนะว่า ไว้กลับมากรุงเทพฯหาเวลานัดกัน

หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 พี่โต้งโทรมาแสดงความยินดี และบอกว่า ให้เตรียมตั้งรับให้ดี ต่อไปคือของจริง

จริงดังที่พี่โต้งว่า หลังจากนั้น ธนาธรและผม เจอคมหอกคมดาบพุ่งเข้าใส่ไม่เว้นแต่ละวัน

พี่โต้งให้กำลังใจผมเสมอ มีความห่วงใยฝากมาทุกครั้งที่ได้ยกหูคุยกัน

กลางปี 62 ผมทราบข่าวร้ายว่า พี่โต้งเป็นมะเร็ง และเริ่มเข้ารับการรักษา เราเจอกันที่มติชน พี่โต้งยังกำลังใจเต็มเปี่ยม บอกผมว่า ตอนนี้ ต้องพัก ออกไปซ่ากับผมเหมือนก่อนไม่ได้ ไว้ร่างกายหายดีเมื่อไร ค่อยไปดื่มกันใหม่ ผมยิ้มรับ เรื่องดื่มคุยกันแบบก่อนเรื่องเล็ก ให้พี่กลับมาแข็งแรงสำคัญกว่า

3 ก.ค.63 ผมไปร่วมเสวนางาน “80 ปี อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์” ได้พบกับพี่โต้งอีกครั้ง แม้ร่างกายจะเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากการรักษา แต่แกยังดูสดใส และพูดคุยกันเรื่องการเมืองสนุกสนานเหมือนเคย

15 ก.ค. 63 อาจารย์ช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นเจ้าภาพ เลี้ยงอาจารย์นิธิ ที่ร้านเบียร์หิมะ วงวันนั้น สนุกมาก เพราะ การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา เริ่มจุดติดไปทั่วประเทศ

แต่วันนั้น คือ วันที่ผมได้พบกับพี่โต้งเป็นครั้งสุดท้าย
ช่างเป็นเรื่องบังเอิญจริงๆ กลางปี 57 ผมรู้จักพี่โต้งครั้งแรกที่นี่ กลางปี 63 ผมพบพี่โต้งครั้งสุดท้าย ก็ที่นี่

ช่วงเดือน พย ระหว่างไปลุยหาเสียงท้องถิ่น เชตวัน แจ้งผมว่า อาการพี่โต้งทรุดหนัก

ปลาย พย ธนาธรและผม นำทีมผู้สมัคร อบจ เข้าพบมติชน ปกติ พี่โต้งจะมาต้อนรับพวกเราทุกครั้ง แต่วันนั้น ไม่มีพี่โต้ง ผมคาดได้ว่า อาการของพี่โต้งคงหนักเข้าระยะสุดท้ายแล้ว

ธนาธรและผม ติดต่อเพื่อขอเข้าเยี่ยมพี่โต้ง เพื่อ “บอกลา” แต่ด้วยสภาพร่างกายของพี่โต้งในระยะสุดท้ายและทางครอบครัวขออนุญาตใช้เวลาช่วงสุดท้ายให้เต็มที่ เราจึงไม่ได้เจอ

ในบทสนทนาของเราหลายครั้ง พี่โต้งฝันอยากเห็นบ้านเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม ก้าวหน้ากว่าเดิม ผมเชื่อมั่นว่าจะมาถึงในเร็ววัน แม้วันนี้ เราไม่มีโอกาสยืนมองและเห็นด้วยตาพร้อมกันแล้ว แต่เราจะได้เห็นด้วยกันอย่างแน่นอน
ด้วยรักและอาลัย
12 มกราคม 2564

Exit mobile version