“สปุตนิกไฟว์” วัคซีนต้านโควิดรัสเซีย ทดสอบใช้ได้ผลดี?!? เดินหน้าผลิตตัวที่ 2 ขณะปชช.ยังป่วยและเสียชีวิตอันดับ 4 ของโลก

1916

วารสารการแพทย์เดอะแลนเซ็ท ได้ตีพิมพ์ ผลการศึกษาผลของวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซีย  ยืนยันผลการทดสอบในขั้นต้นที่พบว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ชื่อ“Sputnik V” กระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันโรคและให้ผลข้างเคียงน้อย ลบคำสบประมาทจากนานาประเทศเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดที่ได้รับการอนุมัติเป็นชนิดแรกของโลก ทำการทดสอบผู้ป่วย 40,000 คน และเดินหน้าผลิตตัวที่ 2 คาดรับรองได้ในเดือนต.ค.ศกนี้ ขณะที่รัสเซียมีผู้ป่วยติดเชื้ออันดับ 4 ของโลก ป่วย 1,015,105 ราย เสียชีวิต 17,649 ราย

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet เมื่อวันศุกร์ (28 ส.ค.2563)ระบุว่า ผลการทดสอบขั้นต้นกับมนุษย์ 2 ครั้ง ในระยะ 42 วัน เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีผู้เข้าร่วมทดสอบวัคซีนในโครงการ “Sputnik V” ของรัสเซีย 76 คน พบว่า 100% ของผู้ทดสอบวัคซีน มีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้วัคซีนชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยสหรัฐฯมองว่ายังต้องเดินหน้าทดสอบกับมนุษย์ในวงกว้างและในระยะยาว เพื่อดูเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ในระยะยาวด้วย

นายนาโอ บาร์ซีฟ จากสาธารณสุขมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์ บลูมเบิร์ก, สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าผลการทดสอบเป็นสิ่งที่น่ายินดีและกลุ่มทดสอบเล็กไปหน่อย ถ้าเทียบกับปัจจุบันทั่วโลกป่วยติดเชื้อกว่า 27 ล้านราย และ เสียชีวิตกว่า 9 แสนรายแล้วถือว่าน้อยมาก ตั้งแต่การทดสอบวัคซีนในกลุ่มคนที่แข็งแรงในขณะที่เกิดการระบาดไวรัส จนถึงมาทดสอบในอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ระยะ 3 เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อผลที่แน่นอนในระยะยาว

เมื่อวันอังคารที่ 11 ส.ค.2563  รัสเซียเป็นประเทศแรกในโลก ที่อนุมัติวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการ วัคซีนโควิดชนิดนี้ พัฒนาโดยสถาบันกามาเลยา (Gamaleya Institute) ที่กรุงมอสโก เป็นรูปแบบการฉีดวัคซีน 2 ขนานในการต้านโควิด-19 ได้แก่ ไวรัสอาดิโน Ad5 รวมกับไวรัสอาดิโนอีกตัว Ad26 ที่ไม่ค่อยพบในมนุษย์ ซึ่งทางสถาบันกามาเลยา คาดว่า การใช้วัคซีนที่มีไวรัสอาดิโนทั้ง 2 ชนิด จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ขึ้นมาได้  ในตอนนั้นได้สร้างความกังขาให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างๆ รวมถึงในรัสเซียเอง ต่อการจดทะเบียนวัคซีนก่อนการทดลองเฟส 3 สิ้นสุดลง รวมทั้งประเด็นการใช้วัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่มนุษย์จำนวนมากมีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนได้ จากที่ปัจจุบัน ผู้คนในจีนและสหรัฐฯ ราว 40% มีระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอาดิโน Ad5 และผู้คนในแอฟริกามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสประเภทนี้มากถึง 80%

รัสเซียเพิ่งเริ่มต้นการทดสอบกับประชากรอาสาสมัคร 40,000 คนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่ประเทศบราซิลติดต่อขอเข้าร่วมการทดสอบอาสาสมัคร 10,000 คน คาดว่าจะประกาศผลการทดสอบออกมาในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ และตั้งเป้าผลิตวัคซีนโควิดให้ได้ราว 1.5-2 ล้านโดสต่อเดือนภายในสิ้นปีนี้ และจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 6 ล้านโดสต่อเดือนได้ 

รัสเซียเดินหน้าผลิตตัวที่ 2 เตรียมรับรองภายในต้นเดือน ต.ค.นี้

เปิดเผยโดยรองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย วัคซีนป้องกัน COVID-19 ตัวที่ 2 ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยสถาบันไวรัสวิทยาในไซบีเรียจะได้รับการรับรองปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค.นี้ หลังผ่านการทดสอบทางคลินิกขั้นต้น ขณะที่กองทุนการลงทุนทางตรงรัสเซีย เปิดเผยว่า การทดสอบระยะ 3 ของวัคซีนสปุตนิก ซึ่งเป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้รับรอง เริ่มต้นขึ้นในรัสเซียและอีก 5 ประเทศ พร้อมเปิดให้อาสาสมัครกว่า 40,000 คน เข้าร่วมการทดสอบ