Truthforyou

“รมต.ช่วย กระทรวงศึกษาฯ” ยันไม่ละทิ้ง รร.ชนบท หวังปฏิรูปการศึกษา พัฒนาถิ่นทุรกันดาร ตามเบื้องพระยุคลบาท

จากกรณีที่ พิมรี่พาย พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์และยูทูปเบอร์ชื่อดัง ได้เดินทางไปที่ หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและเด็กๆ

ซึ่ง พิมรี่พาย ก็ได้ทุ่มเงินของตัวเองกว่า 5 แสนบาท ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และซื้ออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาส โดยวันที่ทำกิจกรรมดังกล่าวนั้น มีครูเจตน์ สทธิคุณ เป็นครูประจำที่สอนอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ และได้เล่าว่าที่หมู่บ้านเด็กประมาณ 40 คน เด็กไม่มีความฝันเพราะมองภาพอะไรไม่ออก ทั้งหมู่บ้านไม่มีใครเรียนจบ ม.ต้นเลยสักคน พวกเขาจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าได้เรียนต่อแล้วมันจะเป็นยังไงต่อ ที่นี่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีทีวีที่สามารถเผยแพร่ให้เด็ก ๆ ดูได้ และการมาทำกิจกรรมของพิมรี่พายในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโลกให้เด็ก ๆ จนเกิดเสียงชื่นชมจำนวนมากนั้น

ขณะเดียวกันได้เกิดดราม่ามากมายโจมตี พิมรี่พาย รวมถึงบางคนโหนกระแสดังกล่าวในการโจมตีรัฐบาลและสถาบัน

ล่าสุดนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดเผยว่าตามที่ขณะนี้ในสื่อและสังคมออนไลน์ได้มีการพูดถึงกรณีการไปทำ CSR ลงพื้นที่ช่วยเหลือเด็กบนดอยของเน็ตไอดอลชื่อดัง จนกลายเป็นกระแส ดราม่าในสังคม ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงกระทรวงศึกษาธิการในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลนั้น โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชมเน็ตไอดอล รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีเจตนาดี ในการช่วยเหลือเด็กให้ได้รับโอกาสและถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในสังคมในเรื่องของการแบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังความสามารถของแต่ละคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนว่ามากหรือน้อย

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะปฏิรูปการศึกษาทั้งในเชิงโครงสร้างและการปฏิรูปไปสู่ตัวเด็กโดยตรง ดังนั้น การที่มีโครงสร้างบางส่วนที่ยังคงเป็นปัญหาและไม่สอดรับกับแนวทางตามตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นจากเดิมในยุคนี้

นางดรุณวรรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย คุณหญิงกัลยา มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะไม่มุ่งยุบ ในสองลักษณะคือ กรณีที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีโรงเรียนโดยรอบที่มีขนาดใหญ่ จะไม่มีการยุบหากคนในพื้นที่ยังมีความต้องการเเต่จะเน้นไปที่การเพิ่มการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเรียนการสอน บุคคลากร ปรับปรุงกฎและระเบียบเรื่องงบประมาณการอุดหนุนต่อหัวตามความเหมาะสมและจำเป็นเพื่อให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่โรงเรียนโดยรอบขนาดใหญ่ จะใช้การเชื่อมโยงเครือข่าย แลกเปลี่ยนทรัพยากรซึ่งกันและกันเป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในทุกพื้นที่

นางดรุณวรรณ ยังกล่าวด้วยว่า คุณหญิงกัลยามีความตั้งใจดีที่จะพัฒนาการศึกษาไทยในทุกพื้นที่ รวมถึงในถิ่นทุรกันดาร ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงสืบสานต่อพระราชปณิธานของพระราชบิดา จึงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้เด็กไทยทุกคนมีความรู้ ด้วยนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้สามารถพึ่งพิงตนเองได้ทั้งในยามปกติและในยามที่มีวิกฤต แต่ที่ผ่านมาอาจมีข้ออุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องของการบริหารจัดการ กฏระเบียบ และการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง จึงได้มีความพยายามแก้ไขทั้งในเชิงโครงสร้าง และตัวผู้เรียนโดยตรง และเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ค้างคาได้ในสมัยนี้

“ขอบคุณทุกคน ทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญของเด็กและการศึกษาไทย ร่วมมือร่วมใจกันอย่างน่าชื่นชม ในขณะที่ภาครัฐยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อยากให้กำลังใจและไม่อยากให้คนที่ทำความดีต้องรู้สึกท้อแท้กับเสียงวิจารณ์ หากทุกคนช่วยเหลือกันสังคมก็จะขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะประเทศชาติจะพัฒนาได้ด้วยการวางระบบรากฐานการศึกษาที่ดี มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อสร้างคนไทยให้สอดรับกับศตวรรษที่ 21”นางดรุณวรรณ กล่าว

 

Exit mobile version