สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังวิกฤติทั่วโลก และประเทศเพื่อนบ้านไทยกำลังผจญกับการระบาดรอบสองชัดเจนแล้ว ทำไทยเป็นไข่แดงกลางวงพื้นที่ระบาดจึงต้องตระหนักรู้และไม่ประมาท แม้ภาคเอกชนภาคการท่องเที่ยวจะพยายามผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย “ภูเก็ตโมเดล”เพื่อบรรเทาวิกฤติของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่การแลกชีวิตประชาชนกับเม็ดเงินจะเท่าไรก็ตาม คงไม่คุ้มค่า บิ๊กตู่ขานรับความวิตกของประชาชนในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแบบเสี่ยงไปเสียวไป ให้ล้มภูเก็ตโมเดลก่อน ขณะหมอใหญ่ให้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหาจึงจะสำเร็จ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ว่า การกระตุ้นการท่องเที่ยว ยังเน้นให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีคนเที่ยวมากขึ้น มีการจองโรงแรมมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอทดแทนจากการท่องเที่ยวคนต่างประเทศที่เข้ามาเที่ยวในไทย การให้คนต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย เป็นเพียงแค่การศึกษาไว้ก่อนเท่านั้น ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ บอกทุกคนอย่าตื่นตระหนก
รัฐบาลชั่งใจ-เงินก็อยากได้แต่ห่วงชีวิตคนไทย
“ต้องให้ความสำคัญทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ การทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ก็ต้องดูเรื่องสุขภาพด้วย ไม่เช่นนั้นมันก็ฉุดกันไปมาในวันข้างหน้า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ครบ 100 วัน ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ทุกคนต้องช่วยกัน หากไม่ช่วยกันประเทศชาติก็ติดอยู่กับที่ ประชาชนจะเดือดร้อนยิ่งกว่าในปัจจุบัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้ช่วยเลขานุการ ศบศ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบศ. ยังไม่ได้การหารือเรื่อง ภูเก็ตโมเดล ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเที่ยวเมืองไทย ยังต้องมีการทำรายละเอียดอีกมาก เพราะต้องมีความรอบคอบในการดำเนินการอย่างมากๆ “ตอนนี้ถ้า ศบศ. ยังไม่มีการเห็นชอบอะไรเกี่ยวกับภูเก็ตโมเดล
การจะเปิดภูเก็ตโมเดลในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ก็ยังทำไม่ได้” นายดนุชา กล่าว จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ลงไปในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตรับฟังความเห็นคนในพื้นที่ยังห่วงเรื่องมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คนในพื้นที่เห็นด้วยและต้องการให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต เพียงแต่จะมีมาตรการควบคุมอย่างไรให้รัดกุมมากที่สุด
คุ้มไหม? แลกรายได้ท่องเที่ยวกับชีวิตติดโควิด-19
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดจะเริ่ม 1 ต.ค.นี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ต้องทำให้คนไทยและคนภูเก็ต มั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดของเชื้อโควิดซ้ำสอง ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศไทยจะย่ำแย่หนัก
เหตุผลที่เลือกภูเก็ต เป็นการนำร่อง “ภูเก็ตโมเดล” เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด และเป็นเมืองที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในระดับสูง โดยจะเริ่มจากระยะทดลอง ก่อนเข้าสู่ระยะขยายผล และเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจำกัด ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาจะต้องเป็นประเทศมีความปลอดภัยปลอดโควิด และเมื่อเข้ามาประเทศไทยต้องมีมาตรฐานในการกักตัวเช่นเดียวกับคนไทย และเช่นเดียวกับทั่วโลกในการกักตัว 14 วัน ทำให้โอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดต่ำที่สุด แต่เชื่อว่าไทยสามารถรับมือได้ เนื่องจากภูเก็ตเป็นพื้นที่ปิด
-นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า“ต้องสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายในการรับมือ จะไม่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิดซ้ำสอง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภูเก็ต หรือพื้นที่ใดๆ เพราะไม่ใช่จะรับนักท่องเที่ยวจากประเทศไหนก็ได้ ต้องเป็นประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 27 วัน ตามข้อเสนอของสมาคมแอตต้า ยกตัวอย่างจีน ไม่ได้เปิดรับคนที่มาจากเซี่ยงไฮ้ แต่จะเปิดรับเป็นบางมณฑลที่มีการติดเชื้อโควิดค่อนข้างต่ำ และต้องมีใบรับรองตรวจโควิด มีการซื้อประกัน ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้ม” พร้อมยืนยันการเข้ามาของต่างชาติขณะนี้ยังเป็น 3 รูปแบบในลักษณะท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, ผู้ถือบัตรสมาชิก ไทยแลนด์ อีลิท การ์ด และต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย เท่านั้น โดยยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ว่าชาติใดๆ เข้ามาแม้แต่คนเดียว.
-ภาคประชาชนภูเก็ตขอให้ถอย เปิดเมืองรับต่างชาติฟื้นฟูท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ “ภูเก็ตโมเดล” ออกไปจนกว่าจะมีความชัดเจนในมาตรการป้องกันและผู้ที่รับผิดชอบ “ภูเก็ตไม่ใช่หนูทดลอง” บทเรียนครั้งที่ผ่านมาสอนให้คนภูเก็ตต้องระวัง หากเกิดอะไรขึ้นต้องช่วยเหลือกันเอง ขาดการเหลียวแลจากส่วนกลาง ไม่พร้อม ไม่ชัดเจน ไม่อยากให้เปิด
ไทยเจอโควิดรอบสองแน่-จะแก้วิกฤติต้องน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จริง
เหตุการณ์โรคโควิดระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศ และการผ่อนปรนมาตรการต่างๆของประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสร้างสมดุล “หยุดโควิดแต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย” ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทุกสำนักต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกัน “ไทยเจอโควิดรอบ2แน่นอน และจะรุนแรงกว่ารอบ1 เพราะเราเป็นไข่แดงอยู่ท่ามกลางเพื่อนบาทที่เจอรอบสองแล้ว
-ประเทศเวียดนามที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง 90 วัน ที่สุดแล้วก็กลับมาเจอการระบาดอีกครั้ง ซึ่งยังไม่รู้จุดรูรั่ว แต่อาจเกิดขึ้นจากการมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ในประเทศ หรือการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ แม้จะมีสถานที่กักกันผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ก็อาจจะมีช่องโหว่ และมีการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย
–ประเทศเมียนมา -16 ส.ค.63 ตรวจพบผู้ติดเชื้อที่เมียนมา 1 คน, 21 ส.ค. พบ 45 คนจากนั้นอีก 3 วันติด 100 คน ล่าสุด 26 ส.ค.63 ยอดรวมเป็นติดเชื้อ 206 คน เป็นการตอกย้ำว่าเมียนมาเจอ โควิด-19 รอบสองแน่นอนและติดมากขึ้น ติดเร็วขึ้น ทำสถานการณ์ชายแดนฝั่งตะวันตกของไทยอันตรายน่าวิตก
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธไชี้อาจระบาดกว่ารอบแรก เพราะเชื้อไวรัสมีการวิวัฒนาการ เป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่าย และรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดก่อนหน้านี้
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟันธงไทยเจอโควิด-19 รอบสองแน่ จะเกิดอย่างฉับพลันและยากต่อการควบคุม หากยังตัดสินใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยกานนำเข้านักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมาแบบเปิดเกาะ เปิดจังหวัด เป็นนโยบายสร้างหายนะมากกว่า หมอธีระกล่าวว่า “ส่วนตัวแล้ว หวังให้ท่านนายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคง โปรดทบทวนให้ดี และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานำพาประเทศ”
คนไทยพร้อมร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคมากเพียงพอแล้วหรือไม่ ในเมื่อผลสำรวจล่าสุดพบว่า “พฤติกรรมป้องกันของคนไทยเริ่มลดลงจาก 90% เหลือ 79%”!!!!