อาณาจักรแจ็ค หม่าสะเทือน?!? ปฏิบัติการกำหราบทุนเท็คยักษ์ของสี จิ้นผิง มูลค่ากว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2011

แจ็ค หม่าหายหน้าไปจากวงจรข้อมูลข่าวสาร จนเกิดข่าวลือว่า เขาถูกรัฐบาลจีนอุ้มตัวไปเก็บไว้และถูกห้ามออกนอกประเทศ ล่าสุดทางการจีนห้ามสื่อจีนเผยแพร่เรื่องอาลีบาบาและแจ็คหม่า ข่าวนี้กระเพื่อมสื่อตะวันให้กลับมาจับตาอีกครั้ง ทั้งนี้การควบคุมบริษัทยักษ์เทคของจีนได้ดำเนินมาอย่างเข้มข้นไม่เฉพาะแอนท์กรุ๊ป, ไบแดนซ์เจ้าของTikTok เทนเซนต์WeChat และอื่นๆก็โดน คาดทางการจีนกำหราบทุนเทคยักษ์ให้อยู่ในกรอบนโยบายของรัฐ กรณีแอนท์กรุ๊ปแค่เชือดไก่ให้ลิงดูว่า ถ้าตะเลิดไปเข้าพวกทุนเท็คตะวันตกจะต้องเจออะไรบ้าง กรณีแจ็ค หม่าจึงไม่ใช่ขัดแย้งส่วนตัว และเป็นเรื่อง “ความมั่นคงและอำนาจ”เป็นสำคัญ

สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานอ้างแหล่งข่าวระบุว่ารัฐบาลจีนได้สั่งห้ามสื่อมวลชนในประเทศ นำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนบริษัท “อาลีบาบา” คำสั่งนี้เริ่มมีผลตั้งแต่ปลาย ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังห้ามนำเสนอประกาศหรือความเคลื่อนไหวของบริษัทอาลีบาบา และห้ามนำเสนอความเห็นที่เผยแพร่ในสื่อต่างประเทศด้วย 

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ความเคลื่อนไหวห้ามสื่อจีนเสนอข่าวเกี่ยวกับบริษัทอาลีบาบาเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะแม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลจีนจะเซ็นเซอร์สื่อ แต่ส่วนใหญ่รัฐบาลมักแทรกแซงเฉพาะข่าวการเมืองสำคัญที่มีความอ่อนไหวมากกว่าข่าวสอบสวนบริษัทเอกชน ทั้งนี้ บริษัทอาลีบาบาถูกรัฐบาลจีนสอบสวน โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าผูกขาดทางการค้า จากกรณีที่บังคับให้คู่ค้าเปิดร้านค้ากับอาลีบาบาเท่านั้น ห้ามไปเปิดร้านค้ากับบริษัทอี-คอมเมิร์ซคู่แข่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ Ant Group บริษัทฟินเทคของอาลีบาบา ถูกรัฐบาลจีนระงับการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อย่างกะทันหันเช่นกัน

แจ็คหม่าหายหน้าเข้ากลีบเมฆ ถูกควบคุมจำกัดความเคลื่อนไหว

ครั้งสุดท้ายที่แจ็คหม่าปรากฏตัวในที่สาธารณะคือ ปลายเดือนตุลาคม 2563 งานสัมมนาทางธุรกิจการเงินที่เซี่ยงไฮ้ หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า เป็นต้นเหตุที่ทำแจ็คหมาเผชิญแรงกดดันจากทางการจีนอย่างหนัก

ในงานนั้นแจ็ค หม่าวิจารณ์ระบบการเงินของจีนและคณะผู้บริหารผู้ควบคุมกำกับนวัตกรรมเทคโนโลยี ว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่กำกับและควบคุมนวัตกรรมเทคโนโลยีของจีน โดยเปรียบเทียบว่า ระบบธุรกรรมการเงินของจีนเหมือนโรงรับจำนำ ที่ต้องหาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ขณะที่เปรียบคณะบริหารที่กำกับควบคุมว่าเป็นแค่ Old People’ Club หรือ “สมาคมคนแก่”

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากพูด “แอนท์กรุ๊ป” (Ant Group)บริษัทให้บริการการเงินในเครือ Alibaba ก็ถูกระงับการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ “ไอพีโอ” (IPO) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ทำให้โลกนักลงทุนช็อคว่าเกิดอะไรขึ้น 

ในหนังสือชี้ชวนเมื่อปี 2563 ระบุว่า “แจ็ค หม่า” เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแอนท์กรุ๊ป และหากการเสนอขาย IPO ครั้งนี้สำเร็จ มูลค่าทรัพย์สินของเขาจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวี(เฉพาะอาลีบาบา 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แอนท์กรุ๊ป-ถ้าขายไอพีโอมูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

คำพูดสะท้อนความคิด พฤติกรรมส่อเจตนา

“สิ่งที่เราต้องการ คือ สร้างระบบการเงินที่แข็งแกร่ง และต้องไม่สร้างความเสี่ยงให้กับระบบการเงิน แต่การจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยที่ไม่มีความเสี่ยงเลยก็เป็นการฆ่านวัตกรรมเช่นกัน ในโลกใบนี้ ไม่มีนวัตกรรมไหนที่ปราศจากความเสี่ยง”หม่ากล่าว “ระบบการเงินในวันนี้ คือ มรดกของยุคอุตสาหกรรม พวกเราต้องสร้างขึ้นมาใหม่สำหรับรุ่นต่อไปและคนหนุ่มสาว ต้องปฏิรูประบบปัจจุบัน”

ถ้อยคำดังกล่าว ประกอบกับการเปรียบเปรย “ผู้มีอำนาจ” ว่าเป็น “สมาคมคนแก่” ที่กำกับดูแลด้วยชุดความคิดแบบ “โรงรับจำนำ” แถมเยาะเย้ยบรรดาข้าราชการจีนว่า การควบคุมความเสี่ยงแบบที่ทำอยู่นี้มีแต่ทำให้นวัตกรรมเสียหาย ทำให้ไม่กี่วันต่อมา “แจ็ค หม่า” และผู้บริหาร Ant Group ก็ถูกหมายเรียกเข้าพบแล้วก็ “เงียบ”จนถึงทุกวันนี้

วิเคราะห์เบื้องลึกท่าทีปฏิปักษ์อำนาจรัฐจีนของแจ็คหม่า

11 พ.ย.2563 หน่วยงานกำกับตรวจสอบของคณะรัฐมนตรีจีนออกมาตรการต่อต้านการผูกขาดที่มุ่งเล่นงาน “พวกกิจการคณาธิปไตย(oligarchic firms)กิจการไม่กี่แห่งเข้าครอบงำผูกขาดตลาดเอาไว้ และแพลตฟอร์มของพวกเขา”ซึ่ง แฟรงก์ เฉิน ได้รายงานเอาไว้ในเอเชียไทมส์ ที่เป็นปฐมบทแห่งการควบคุมที่เป็นรูปธรรม

ก่อนที่แจ็ค หม่าจะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่ง Fintech เขาคือพ่อค้าอี-คอมเมิร์ซผู้ประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มอาลีบาบา จนเทียบชั้นแข่งขันทุนยักษ์ขายของอย่างอเมซอน ซึ่งเป็นที่ชื่นชมยกย่องจากชาวจีนและรัฐบาลจีนอย่างมาก เขาเพิ่งเปิดเผยไม่นานมานี้ว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประกาศถอนตัวจากอาลีบาบา มาบุกแอนท์ กรุ๊ปในฐานะFintech นายเงินปล่อยกู้รายย่อยซึ่งพัฒนามาจาก อาลีเพย์ที่ประสบความสำเร็จ ในด้านผลทางเศรษฐกิจได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง เป็นซุปเปอร์สตาร์ของเหล่านักลงทุนทั่วโลก และในทางการเมืองเขากลายเป็นตัวอันตราย ที่ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงพังทลายของฐานรากเศรษฐกิจของสาธารณรัฐ แอนท์กรุ๊ป ปล่อยกู้รายย่อยด้วยเงินตัวเองเพียง 2% ที่เหลือเอาจากเครดิตเงินกู้ของสถาบันการเงินต่างๆ แก่กำไรเนื้อๆไม่แบ่งใคร เสียภาษีไม่สูงมากเพราะเป็นกิจการส่งเสริมการลงทุนของรัฐ หากเกิดหนี้เสียขนานใหญ่ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ประเทศจีนมีสิทธิ์เผชิญวิกฤตการเงินมโหฬารได้แบบนี้หรือคือนวัตกรรมใหม่ๆที่แจ็ค หม่าหมายถึง แต่รัฐจีนเห็นต่าง

ปักกิ่งได้ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับบริษัทยักษ์เทคโนโลยีของจีนไม่ใช่แต่เฉพาะแอนท์ กรุ๊ป บริษัทไบแดนซ์ เจ้าของTikTok บริษัทเทนเซนต์เจ้าของวีแชท เป็นต้น  ก็อยู่ในข่ายตรวจสอบควบคุมไม่เว้น หลังจากจีนเริ่มมองเห็นเค้าลางแปลกแยก ของยักษ์เทค ตั้งแต่กรณี TikTok ที่ปธน.ทรัมป์กดดันให้ขายทั้งหมดแก่ บ.เทคสหรัฐ แล้วไบแดนซ์มีทีท่าจะยินยอมพร้อมใจ  จีนก็แสดงท่าทีไม่พอใจมาก่อนหน้า กรณีของแอนท์กรุ๊ปมาแล้ว เพียงแต่คำพูดและการแสดงออกของไบแดนซ์ไม่อหังการ์เช่นหม่า

บทเรียนที่บริษัทไฮเทคยักษ์ของอเมริกา ตั้งแต่เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ กูเกิล ยูทูป มีอำนาจเหนืออำนาจรัฐ และควบคุมกระแสความคิดของมวลชนอย่างเบ็ดเสร็จ สามารถเลือกเนื้อหาข่าวสารให้ส่งถึงผู้บริโภคได้ตามที่ตนเองต้องการ อย่างไร้การควบคุม มิหนำซ้ำยังมีอำนาจเงินที่เติบโตได้อย่างอิสระไร้การตรวจสอบควบคุมแฝงไปกับการบริการในรายละเอียดต่างๆ ทำให้รัฐบาล ผู้บริหารสาย การเงินสายเทคโนโลยี ที่ล้วนปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของรัฐ-พรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่อาจนิ่งเฉย จึงเป็นเหตุต้องตัดไฟแต่ต้นลม และกรณีแจ็ค หม่าเหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู พรรคคอมฯและรัฐบาลจีน หนุนให้โตได้ ก็ตอนให้เล็กได้ถ้าตะเหลิดนอกนโยบายหลัก ก็จะไม่ไว้หน้า ดังนั้นแจ็ค หม่าคงไม่เป็นอะไรในเรื่องคุกคามถึงชีวิต เพราะอยู่ในสายตาชาวโลก แต่บทบาทของเขาจะไม่เหมือนเดิม คงต้องจับตา ว่าเมื่อไหร่เขาจึงได้รับอนุญาตโผล่หน้ามายังโลกข้อมูลข่าวสารอีกครั้ง หรืออาจไม่มีวันนั้น เพราะไม่ว่าบวกหรือลบ ย่อมส่งผลต่อภาพพจน์ประเทศจีนและผู้นำสี จิ้นเผิงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

อาณาจักรแจ็ค หม่าเสี่ยงเจ๊ง หรือมีโอกาสกลับมาบูม

หลังจากถูกเรียกสอบสวน  บริษัทAnt Group ก็ออกมาระบุว่า บริษัทตระหนักถึงคำแนะนำและการช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจกำกับดูแล ขณะที่ Alibaba ก็ให้คำปฏิญาณเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ว่า บริษัทจะให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันในการไต่สวนกฎหมายป้องกันการผูกขาดครั้งนี้

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 หลังมีรายงานข่าวการหายตัวไปของ “แจ็ค หม่า” และการเปิดไต่สวนกฎหมายป้องกันการผูกขาด หุ้นของ Alibaba ในตลาดฮ่องกง ก็ร่วงลงถึง 2.15% แต่ Alibaba เองมีความสำคัญอย่างมีนัยต่อจีน เพราะหากจีนมีความฝันว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกและก้าวเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลก Alibaba ก็อาจเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนฝันให้เป็นจริงได้