“ดร.อาทิตย์” จี้รัฐหนุน “รถพุ่มพวงเกษตร” หวังฟาดกำไรแซงหน้า “เจ้าสัวกินรวบ”

2858

จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศกทม.เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 16)

โดยมีสาระสำคัญคือ จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายขอบเขตการระบาดเป็นวงกว้างกระจายไปหลายพื้นที่ และตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ผู้ว่ากทม.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35(1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ประกอบข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ฉบับที่ 15 กำหนดมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด ดังนี้

1. ขยายเวลาปิดอาคารสถานที่ของโรงเรียน สถาบันกวดวิชา และสถานศึกษาทุกประเภทตามประกาศ กทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 15) ออกไปถึงวันที่ 31 ม.ค. 2564 โดยให้จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาคารสถานที่ต่าง ๆ จะใช้ได้ในกิจกรรมให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรืออุปการะแก่บุคคล และกิจกรรมของราชการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจาก กทม.แล้วเท่านั้น

2.เพิ่มมาตรการแก่ร้านอาหาร หรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่แผงลอย ภัตตาคาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร (เว้นร้านอาหารในสนามบิน) ให้บริการรับประทานที่ร้านได้ระหว่างเวลา 06.00-21.00 น. หลังเวลา 21.00 น. รับเฉพาะสั่งกลับบ้าน (Take Away) เท่านั้น และห้ามให้มีการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านเด็ดขาด

โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ กทม. กำหนดอย่างเข้มงวด เช่น เว้นระยะห่างที่นั่งไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร, ทำความสะอาดร้านทุก ๆ 2 ชม., มีระบบจองคิวออนไลน์ กรณีเป็นร้านใหญ่ ส่วนร้านเล็ก ให้แจกบัตรคิว และจัดให้มีแผ่นใสกั้นระหว่างลูกค้า เป็นต้น

3. สถานที่ให้บริการรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยง/ฝากสัตว์เลี้ยง ช่างตัดขนต้องสวมใส่หน้ากาก Face Shield ถุงมือ และเสื้อคลุมเฃแขนยาวทุกครั้งที่ทำงาน และควบคุมผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด

4.การประชุม สัมมนา ที่มีผู้ร่วมงานเกิน 200 คน หรือการจัดกิจการขนาดใหญ่ ที่ทำให้เกิดการชุมนุม 300 คน ต้องยื่นแผนจัดงานและมาตรการควบคุมโรคติดต่อด้วย ซึ่งจะรวมสถานที่จัดงานเลี้ยงด้วย

หากไม่ปฏิบัติตาม สามารถสั่งปิดสถานที่ได้ 14 วัน หากประกาศ กทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 15) ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ ให้ถือปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้เป็นหลัก และเนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วนจำเป็น จึงไม่อาจให้ใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ได้

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่ 5 ม.ค. 2564 ไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้น

ต่อมาในโลกออนไลน์ได้มีการตั้งถามว่า คำสั่งของรัฐบาลที่ได้มีการสั่งปิดร้านพื้นที่ ทั้งร้านค้า ตลาดสด หรือพื้นที่อื่น ๆ เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่กลับกัน พื้นที่ในร้านสะดวกซื้อไม่ได้ถูกนับว่าต้องปิดกิจการ หรือกำหนดเวลาเปิด-ปิด อย่างชัดเจน

ล่าสุดดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arthit Ourairat ระบุว่า “เราน่าจะออกแบบ “รถพุ่มพวง” ให้สะดวก สวยงาม ให้เป็นต้นแบบให้ชาวบ้านได้นำสินค้าเกษตร ข้าวปลาอาหารออกไปขายให้ถึงบ้านช่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน แทนตลาดสด ที่ต้องเดินทางมา และยังโดนสั่งปิดเนื่องจากโควิดอีกด้วย เพื่อแข่งขันกับ 7-11 และนายทุนทั้งหลาย”

ซึ่งภาพต้นแบบมาจากเพจเฟซบุ๊ก บ้านไร่ ไออรุณ baan rai i arun โฮมสเตย์ชื่อดังที่อยู่ในอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ที่ได้ออกแบบไอเดียรถขายผัก และสินค้าการเกษตร เพื่อช่วยชาวบ้านในชุมนุม พร้อมยังได้ระบุข้อความว่า “ไปขายผัก กันจ้า …ผักพื้นบ้านสด ๆ ปลอดสารพิษ จากไร่เเละในชุมชนของเรา ราคา 10 บาท , 20 บาท ส่งตรงถึงบ้านคุณ
วันนี้ ทีมคนสวน ส่งน้านิ๊ค กับน้ามหา มาเป็นเเม่ค้าขายผัก

…เราจะขับ เข้าไปกันในตัวเมืองระนอง-กะเปอร์ เส้นเพชรเกษม เห็นรถสองเเถวไม้ หวานเย็นคันนี้ โบกมือ เรียกซื้อ อุดหนุนให้กำลังใจกันได้นะครับ”

อย่างไรก็ตาม ได้มีพ่อค้า แม่ค้าหลายคนเข้ามาคอมเม้นต์ด้วยว่า ขอสนับสนุนให้โครงการนี้เกิดจริง ๆ ด้วยเถอะ โดยประชาสัมพันธ์ให้คนทราบล่วงหน้าจะยิ่งดี เช่น วันเสาร์หน้าจะมีผักและปลาน้ำจืดมาจากสุพรรณฯ และของแห้งเช่นวุ้นเส้น จากกาญจนบุรีเป็นต้น แม่บ้านจะได้เตรียมตัวด้วยง

 

ขอบคุณที่มา : เฟซบุ๊ก Arthit Ourairat , บ้านไร่ ไออรุณ baan rai i arun