Truthforyou

‘บิ๊กตู่’จับเข่าคุยบิ๊กอสังหาฯ-ค้าปลีก-อีคอมเมิร์ซ เอกชนเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมดันลงทุน 1.71 แสนล้านขับเคลื่อนประเทศ!

“บิ๊กตู่”เดินหน้าเชิญเอกชนร่วม workshop ระดมความคิดและวิธีขับเคลื่อนภาคธุรกิจสู่อนาคต ร่วมโดยผู้นำในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจค้าปลีก และ ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ เอกชนเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น-กลาง-ยาว เผยลงทุน 3 ปี 1.71 แสนล้านขับเคลื่อนประเทศไทยสอดคล้องยุทธศาสตร์ “รวมไทยสร้างชาติ”

วันที่ 3 ก.ย.2563 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และนายสุพัษนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้หารือกับตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกและ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commrce) เพื่อรับฟังข้อเสนอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

ในส่วนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วม ประกอบด้วย นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, และตัวแทนสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน, บมจ.ศุภาลัย, บมจ.แสนสิริ, บมจ.เอพี(ไทยแลนด์), บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ และบมจ.โกลเด้นแลนด์เรสซิเดนซ์

ภายใต้ยุทธศาสตร์ “รวมไทยสร้างชาติ” มีกรอบเนื้อหาการแลกเปลี่ยนประกอบด้วย 5 ประเด็นได้แก่ 1.วิสัยทัศน์-มุมมองใน 3 ปีข้างหน้าในด้านโอกาสประเทศไทยในเวทีโลก 2. เรื่องที่ต้องการให้รัฐสนับสนุน 3.ปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางความสำเร็จ 4. กฎกติกาของภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงสน 5.หน่ยงสนภาครัฐที่เห็นว่าควรปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ภาครัฐประกอบด้วยนายกรมต.ประยุทธ์ฯ, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เข้าร่วมรับฟัง

“ผมอยากทราบว่า ท่านมีมุมมองหรือความคิดในการขับเคลื่อนภาคส่วนของท่านอย่างไร โอกาสของภาคธุรกิจของท่านเป็นอย่างไร อนาคต 3 ปีข้างหน้าภาคธุรกิจของท่านควรจะไปอยู่ที่จุดไหน อุปสรรคคืออะไร เป้าหมายของผม คือผมต้องการเข้าใจประเด็นหลักๆ และเข้าใจโดยลึกจากการฟังตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อเวลาผมพิจารณานโยบาย หรือโครงการที่หน่วยงานต่างๆ นำเสนอ ผมจะสามารถตัดสินใจไปในแนวทางที่จะสนับสนุนวิสัยทัศน์ของพวกท่านได้”

ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เสนอให้มีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคของผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งในส่วนการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่อาศัย การซื้อเพื่อการลงทุน และลงทุนบ้านให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งมาตรการของภาครัฐในเรื่องของภาษี และมาตรการของภาคการเงินในเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ย โดยมองว่า นอกเหนือจากการออกมาตรการทางการเงินที่ช่วยผู้บริโภคแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ควรหาวิธีการจูงใจธนาคารต่างๆ ให้มีความต้องการ อยากปล่อยสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย มีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้

นอกจากนั้นที่ควรให้ความสำคัญอีกหนึ่งมิติ ในฐานะที่ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเป็นบ้านหลังที่สองของคนทั่วโลก และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคด้วยปัจจัยบวกหลายๆ ด้าน ซึ่งหากผลักดันได้สำเร็จจะส่งผลประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของแรงงานต่างชาติระดับผู้บริหาร หรือผู้มีทักษะสูง เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ กำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นผลต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก การค้า โรงแรม ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ  

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นภาคธุรกิจที่อิงกับความเชื่อมั่นของประชาชน ดังนั้นภาครัฐต้องเน้นการสร้างความเชื่อมั่น เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือการสื่อสารข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจ หรือโครงการสำคัญๆ ที่จะมีผลต่อการทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ออกไปสู่ประชาชนให้รับทราบ และมองเห็นอนาคตของตัวเอง เพื่อสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม

ภาคธุรกิจค้าปลีก เสนอว่า ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น สุดยอดการใช้ชีวิตแห่งเอเชีย (Lifestyle hub of Asia) โดยเสนอมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในส่วนระยะสั้นเพื่อพยุงการจ้างงาน และขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้อยู่รอด เสนอแก้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงได้ ซี่งจะนำสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านอัตรา รวมทั้งออกนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยการนำโครงการ “ช้อปช่วยขาติ” ออกมาอีกครั้ง และการกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง โดยลดภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือน เช่น จาก 30 % เหลือ 10%

นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะสำหรับระยะสั้น เพื่อไม่ให้ร้านค้าปิดกิจการ มีการจ้างงานต่อไปและมีเงินหมุนเวียนในระบบรัฐควรปล่อยซอฟท์โลนโดยอนุญาติให้ผู้ประกอบการสามารถนำหลักฐานใบสัญญาเช่ามาใช้พิจารณาปล่อยกู้ได้ ออกโครงการช้อปและเที่ยวช่วยชาติ และเยียวยาลดค่าใช้จ่ายศูนย์การค้า เช่น ลดค่าไฟ ภาษีนิติบุคคล ภาษีป้าย  ยืดเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ไปถึงปี 2566 สำหรับแผนระยะกลาง ควรส่งเสริมยกระดับให้ธุรกิจศูนย์การค้าอยู่ในแผนแม่บทของประเทศเปิดพื้นที่เพิ่มโซนการลงทุนให้ศูนย์การค้า เช่นเดียวกับอีอีซี ส่งเสริม  seamless connectivity โดยปรับกฏหมาย ทางเชื่อมอาคาร  ลดค่าธรรมเนียมเงื่อนไขเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจศูนย์การค้า 

และแผนระยะยาวควรผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก เป็นแหล่งช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวชั้นนำ เทียบชั้นญี่ปุ่น เกาหลี  ยกระดับสินค้าไทยให้แข่งขันได้ พร้อมทยอยลดภาษีนำเข้าให้ราคาสินค้าแข่งขันกับต่างประเทศได้

ในการนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกเร่งดำเนินการลงทุนตามแผนในวงเงิน 171,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี จะนำไปสู่การจ้างงานและกระจายรายได้ สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 

Exit mobile version