จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ในรายการถามตรง ๆ กับจอมขวัญ ของ น.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรชื่อดัง ที่ได้พูดคุยกับ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือ หมอตุลย์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นสถาบัน กับทิศทางการเมืองไทย ปี 2564
กับคำถามที่ว่า คิดว่ามิติไหนหากเป็นเรื่องสถาบันนี้ ถกเถียงกัน ก็สามารถพูดคุยกันได้
โดยนพ.ตุลย์ กล่าวว่า เรื่องที่จะพูดคุยเกี่ยวกับสถาบัน มีหลายเรื่อง ที่บางชุดความคิดคุยกันยาก ดังนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า ตั้งแต่ ปี 2475 สถาบันก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ พระบารมี ซึ่งไม่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใด ๆ ถามประชาชนดูว่าจะให้ใครมาเป็นประมุขของรัฐ จะเอานักการเมืองมาเป็นหรือไม่ ก็คงไม่มีใครเอา อันนี้น่าจะเป็นข้อที่นำมาพูดคุยกันมากที่สุด พร้อมบอกนายปิยบุตรว่า “อย่างกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าคุณไม่ไปพูดใส่ร้าย ก็ไม่มีใครเอาไปฟ้องร้องหรอกครับ แม้ที่พูดจะเข้าใจผิด ก็ไม่มีใครเอาไปฟ้องหรอกครับ”
ส่วนทางด้านปิยบุตร ได้ยืนยันว่า ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้การพูดคุย อย่างเท่ากันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่อีกฝ่ายห้ามพูด ส่วนอีกฝ่ายสามารถพูดได้หมด ขณะเรื่องกฎหมายอาญา ม.112 ส่วนตัวยังยืนยันว่า เห็นควรต้องเอาออก จากโทษทางอาญาทั้งหมด เหลือเป็นโทษทางแพ่ง ปรับเงินก็พอ ไม่มีโทษทางอาญา แล้วเรื่อง ม.112 พอระบุว่าเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องความมั่นคงประเทศ จำเลย ก็จะไม่ได้รับการประกันตัว แล้วโทษอาญาจำคุก หนักมาก 3-15 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และได้มีการกล่าวถึงมูลเหตุของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงสละราชสมบัติด้วย
ล่าสุดทางด้านรศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “ข้อเขียน ชิ้นนี้ยาวมาก และต้องใช้เวลาค้นคว้านาน จึงอยากให้อ่านจนจบ รายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ออกอากาศเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ในหัวข้อ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทย 64” ผู้รับเชิญมาสนทนากับคุณจอมขวัญมี 2 คน คือ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
อ.ปิยบุตร เริ่มต้นด้วยความเห็นว่า ประเด็นปัญหาเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้มีการพูดคุยกันมาก่อนหน้านี้แล้วอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในในวงวิชาการ ทั้งในการรณรงค์ แต่มาหยุดชะงักลงเมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2557 ต้องให้เครดิตผู้ชุมนุม ที่มีความกล้าหาญที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น ดังนั้นจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เรื่องนี้ได้ถูกนำขึ้นมาวางบนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว
ในการสนทนาตอนหนึ่ง นพ.ตุลย์ ได้พูดถึงการหยิบยกเอาเหตุการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาเกี่ยวข้อง น.พ.ตุลย์ เห็นว่า ควรจะต้องพูดด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขา ในการสละราชสมบัติความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
เพราะนั่นคือหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง
สืบเนื่องจากความเห็นของ นพ.ตุลย์ อ.ปิยบุตร ได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ ซึ่งจะขอถอดคำพูดทุกคำมาให้อ่านกันดังนี้
“พอพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ สิ่งที่จะต้องมาคู่กับประวัติศาสตร์คือเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายมีเท่าเทียมกัน มันก็จะมาถกเถียงกันว่า เรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริง อย่างเช่น ถ้าผมไปพูดกับฝ่ายที่สนับสนุนว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระบิดาแห่งประชาธิปไตย ยังไงเขาก็ไม่เชื่อ เขาก็จะหยิบยกคำพูด เหมือนกับที่คุณหมอพูดเมื่อสักครู่นี้มาโดยตลอด แต่ถ้าเราลองไปสืบค้นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ มันก็ชัดว่าประโยคที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ท่านพูดว่า ท่านทรงสละราชสมบัติในปี 2477 จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่ว่า ในหลวงรัชการที่ 7 พยายามที่จะวีโต้กฎหมายเก็บภาษีมรดกครั้งหนึ่ง ในท้ายที่สุดก็ทำความเข้าใจกันได้ ผู้สำเร็จราชการก็ไปลงนามแทน
อีกครั้งหนึ่งก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พูดกันตรง ๆ ก็คือ เสียงข้างมากในเวลานั้น เขาเอาไปตั้งกันหมด ในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ทรงบอกว่า ท่านไม่ได้มีโอกาสได้ตั้งเลยหรือ
ทีนี้ปัญหามันเป็นอย่างนี้ นี่คือการต่อสู้กันเป็นเรื่องปกติครับคุณจอมขวัญ เวลามันมีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิฯ มาเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มันจะมีการตกลงกันอยู่ แล้วตกลงพระมหากษัตริย์จะไปอยู่ตรงไหน ขอบเขตพระราชอำนาจจะมีแค่ไหนเพียงใด มันจะมีการสู้กันทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา แล้วมันจะค่อย ๆ ขยับ ๆ จนชัดเจนขึ้น มันก็เหมือนอังกฤษ กว่าจะชัดเจนกันแบบนี้ก็ผ่านกันเป็น 100 ปี ฉะนั้นเวลาเราพูดประวัติศาสตร์ ถ้าพูดกันในมิตินี้ นั่นก็คือว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 ท่านก็ทรงตัดสินใจ ซึ่งผมก็นับถือในแง่ของการต่อสู้ทางการเมือง คือเมื่อสู้กับฝ่ายการเมืองแล้ว สู้ไม่ได้ ทางออกนั่นก็คือ สละราชสมบัติ ไม่ขอเป็นพระมหากษัตริย์ต่อ
ส่วนที่ว่า ข้อความที่บอกว่าอะไรต่าง ๆ ในพระราชหัตถเลขานั้น ต้องสืบสาวราวเรื่องต่อครับว่า มูลเหตุที่แท้จริง คือเรื่องพระราชอำนาจในการวีโต้กฎหมายเก็บภาษีมรดก มูลเหตุที่ 2 คือ พระราชอำนาจในการเข้าไปแต่งตั้ง ส.ส.ประเภทที่ 2 นี่คือมูลเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคณะราษฎร”
จะเห็นว่า อ.ปิยบุตร พยายามโต้แย้งว่า การสละราชสมบัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 นั้น มูลเหตุที่แท้จริงไม่ได้มาจากข้อความในพระราชหัตถเลขา ตามที่นพ.ตุลย์ นำมากล่าว แต่เป็นเพราะทรงมีความขัดแย้งกับรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งมาจากมูลเหตุ 2 ประการดังกล่าว
ที่อ.ปิยบุตรเห็นว่า “ชัด” ที่การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจากมูลเหตุหลัก 2 ประการข้างต้น น่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
เพื่อความกระจ่าง จึงจะขอนำข้อมูลจากหนังสือเรื่อง “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” ที่คุณวิมลพรรณ ปิตธวัชชัย เป็นผู้เขียนมาเล่าสู่กันให้ทราบ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มาจากการค้นคว้าจากแหล่งข้อมูล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดเล่มหนึ่ง
ประเด็นแรก มูลเหตุของความแย้งเรื่องแรก ที่ อ.ปิยบุตรกล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 พยายามที่จะวีโต้กฎหมายเก็บภาษีมรดกนั้น ต้องยอมรับว่ามีความขัดแย้งจริง โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ขณะเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองเซอร์เร่ ประเทศอังกฤษ ทรงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติอากรมรดก จึงทรงยับยั้ง ในวันที่ 8 สิงหาคม 2477 แล้วส่งคืนกลับให้สภาผู้แทนราษฎรไปพิจารณาใหม่
โดยขอให้มีการบัญญัติให้ชัดเจนว่า มรดกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากรมรดก ทั้งนี้เพราะทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์แผ่นดิน ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งทรงยินยอมให้เสียภาษีอากรตามปกติ
แต่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติยืนยันตามร่างเดิม ทำให้พระองค์ต้องจำยอมลงพระปรมาภิไธยในเวลาต่อมา มิใช่สามารถทำความเข้าใจกันได้อย่างที่ อ.ปิยบุตร กล่าว
เรื่องพระราชบัญญัติอากรมรดก แม้เป็นความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์และคณะราษฎร แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องหลักที่ทรงสละราชสมบัติ เพราะนี่ไม่ใช่พระราชบัญญัติฉบับเดียวที่ทรงขอให้แก้ไข แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับมีมติยืนยันตามร่างเดิม ยังมีฉบับอื่นอีกเช่น พระราชบัญญัติกฎหมายลักษณะอาญา ที่ทรงยับยั้งในวันที่ 29 กันยายน 2477 เพราะทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการบัญญัติในประเด็นการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อพระราชทานอภัยโทษการประหารชีวิต แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ยังคงมีมติยืนยันตามร่างเดิม โดยไม่ฟังคำทักท้วงแม้แต่น้อย
นอกจากเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ขณะประทับอยู่ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชบันทึกถึงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาลในประเด็นต่าง ๆ เช่น ขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักเสรีภาพของประชาชน เรื่องการอภัยโทษหรือลดโทษทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีกฏบวรเดช ที่มีการจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีโดยไม่ให้ผู้ต้องหามีทนายแก้ต่าง เรื่องรัฐบาลตัดงบประมาณและกำลังทหารรักษาวัง รวมทั้งเรื่องให้บุคคลต่าง ๆ ในรัฐบาลเลิกกล่าวร้าย ทับถมการงานของพระบรมราชจักรีวงศ์ และของรัฐบาลเก่า อีกทั้งให้ปราบปรามผู้ซึ่งดูถูกพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังทรงขอร้องให้เลิกจับกุมราษฎรโดยหาว่า “กล่าวร้ายรัฐบาล” เนื่องจากเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชน
สุดท้ายยังทรงระบุด้วยว่าจะต้องได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลทุกเรื่อง มิฉะนั้นจะไม่เสด็จกลับประเทศ
ในวันที่ 31 มกราคม 2477 สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดอภิปรายข้อเสนอตามพระราชบันทึกแต่ละประเด็น ต่อมารัฐบาลได้ถวายคำตอบกลับไปยังประเทศอังกฤษ ปฏิเสธข้อเรียกร้องของพระองค์ทุกประเด็น
ความขัดแย้งเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ดูจะเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าเรื่องแรกมาก แต่ไม่ใช่เป็นเพราะในหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่ได้ทรงมีบทบาทในการแต่งตั้ง ส.ส.ประเภทนี้ แต่เป็นเพราะพระองค์ทรงเห็นว่า วิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 2 ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เรื่องสมาชิสภาผู้แทนแทนราษฎรประเภทที่ 2 ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คืออะไร ในรัฐธรรมนูญฉบับของคณะราษฎร ได้จำแนกประเภทของส.ส.ออกเป็น 3 ยุค 3 สมัย ดังนี้
สมัยที่ 1 ให้คณะราษฎรจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นจำนวน 70 คน เป็นสมาชิก
สมัยที่ 2 ภายใน 6 เดือน หรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะมีบุคคล 2 ประเภท ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งจากจังหวัดต่าง ๆ ประเภทที่ 2 ให้ผู้ที่เป็นสมาชิกสมัยที่ 1 ที่คณะราษฎรเป็นผู้แต่งตั้ง เป็นสมาชิกประเภทที่ 2 โดยปริยาย
สมัยที่ 3 เมื่อราษฎรได้สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สมาชิกประเภทที่ 2 เป็นอันไม่มีอีกต่อไป
จะเห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จะมาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฎร ไปอีก 10 ปี นอกจากจะมีราษฎรสอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เกินกว่าครึ่งก่อนครบกำหนดเวลา 10 ปี
ข้อความบางตอนในพระราชบันทึกที่ได้พระราชทานแก่รัฐบาล แสดงให้เห็นถึงพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้
“ครั้นต่อมาในระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้พยายามตักเตือนและโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาว่า ควรถือหลัก Democracy อันแท้จริงจึงจะถูก ถ้ามิฉะนั้นจะเกิดทำให้มีความไม่พอใจขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งส่วนมากต้องการให้มีการปกครองแบบ Democracy อันแท้…..”
และในพระราชบันทึกฉบับเดียวกัน ได้ทรงแสดงความเห็นเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ว่า
“….ข้าพเจ้าเห็นว่าสมาชิกประเภทที่ 2 นี้ ยังควรมีอยู่จริง แต่ควรกำหนดให้เป็นบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และเป็นผู้ที่เคยชินกับการงานมาแล้ว….การเลือกตั้งนั้น อย่าให้เป็นบุคคลใดคนหนึ่งเลือกได้ก็จะดี เพราะจะป้องกันไม่ให้มีเสียงได้ว่าเลือกพวกพ้อง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนเลือก หรือให้บุคคลที่เรียกว่ามีความรู้ Intelligentsia เลือก….”
และในพระราชหัตถเลขา ประกาศสละราชสมบัติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“…..การที่ข้าพเจ้ายินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ที่ข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน …..ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้สมาชิกที่ราษฎรตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ…….
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยก……
………. และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้มีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราขสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป….”
พิจารณาด้วยความเป็นธรรม จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงสละราชสมบัติเพราะความขัดแย้งเรื่องพระราชบัญญัติอากรมรดก หรือแม้แต่เรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ อ.ปิยบุตรกล่าวว่า เป็นเพราะพระองค์ไม่มีบทบาทในการเลือก เป็นมูลเหตุหลัก
เป็นความจริงว่า นี่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับพระองค์ท่าน เป็นการต่อสู้ที่ไม่มีโอกาสชนะ เพราะอำนาจทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวคือคณะราษฎร
มูลเหตุของการสละราชสมบัติจึงเป็นเรื่องต่าง ๆ ที่สะสมกันมาตั้งแต่มีทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะราษฎร จนถึงวันที่ทรงประกาศสละราชสมบัติ
ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโอนอ่อนยอมตามคณะราษฎรเมื่อถูกยึดอำนาจ โดยไม่ให้มีการใช้กำลังต่อสู้ ไม่ใช่เพราะความอ่อนแอ แต่เป็นเพราะพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ดังที่พระองค์ทรงมอบหมายให้พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาชาวอเมริกัน นาย เรมอนด์ บี สตีเวนสัน ไปจัดการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ เตรียมที่จะพระราชทานในวันที่ 6 เมษายน 2475 อันเป็นวันครบรอบ 150 ปีของพระบรมราชจักรีวงศ์ แต่ด้วยมีการคัดค้านกันมากว่า ประชาชนยังไม่พร้อม เรื่องนี้จึงได้ชะลอออกไป
เรื่องนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ทราบดี ดังพระราชบันทึกทรงเล่าของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้ทรงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“พระยาศรีวิสารฯนั่นแหละรู้ดี เพราะเป็นคนติดต่อเอาคนอเมริกัน ดูเหมือนจะชื่อ สตีเวนสัน มาเป็นที่ปรึกษา หลวงประดิษฐ์เองก็รู้ว่า ในหลวงทรงมีร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะมีการพระราชทานแน่ แต่คงไม่ทันใจกัน….”
เมื่อหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร และแนวทางการปกครอง ไม่สอดคล้องกับของพระองค์ การทักท้วง ขอให้แก้ไข ไม่ว่าจะทรงทำอย่างไรก็ไม่เป็นผล และไม่มีโอกาสจะเป็นผล อีกทั้งยังมีข่าวลือว่า จะมีการบีบบังคับให้พระองค์สละราชสมบัติ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขาปรับทุกข์ไปยัง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรม ความตอนหนึ่งว่า
“….ข่าวลือหลังนี้ที่น่าเชื่อถือก็มีมากและที่เหลวก็มี ……นอกจากนี้ก็ว่า จะให้ฉันยกพระคลังข้างที่ให้แก่ชาติทั้งหมด แล้วให้ abdicate (บีบให้สละราชสมบัติ) เขาจะประกาศเป็น republic และจะจับพวกเจ้าและตัวฉันขังไว้เป็นตัวประกัน….”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เนื่องจากพระองค์มีความอึดอัดพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลไม่เคยสนใจฟังคำทักท้วงของพระองค์เลย ทรงเห็นว่ายิ่งนานไปก็ยิ่งจะมีแต่ความ “ขึ้งเคียดแก่กัน” จึงทรงเปิดโอกาสให้มีจัดตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ โดยไม่ทรงแต่งตั้งรัชทายาทขึ้น เพื่อให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจัดเลือกขึ้นเองได้ตามความพอใจ
ทั้งหมดนี้ คือมูลเหตุที่แท้จริงของการสละราชสมบัติของพระองค์”
ที่มาเฟซบุ๊ก : Harirak Sutabutr