รองประธานสมาคมค้าปลีกไทย ฟันธง รูปแบบการจ้างงานปกติใหม่ในภาคธุรกิจการค้าและบริการ จะเป็นการทำงานที่บ้าน ฟรีแลนซ์ พาร์ทไทม์มากขึ้น เตรียมชงรัฐบาลออกมาตรการ “ค่าจ้างงานประจำรายชั่วโมง” เพื่อแก้ปัญหาตกงานว่างงานอย่างยืดหยุ่น วินวินทั้งนายจ้างและลูกจ้างเพื่อควบคุมไม่ให้มีการกดค่าแรงรายย่อยอย่างไม่เป็นธรรม และสร้างงานด่วนกว่า 2 แสนอัตรา
แก้ปัญหาคนตกงานด้วยการสร้างงานเพิ่ม
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นหัวใจสำคัญ คือ “การจ้างงาน”
ภาคบริการมีอิทธิพลต่อพัฒนาการและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นแหล่งจ้างงานและแหล่งรายได้หลักของประเทศ จำนวนแรงงานในภาคบริการมีมากถึง 20 ล้านคน หรือ 52% ของผู้มีงานทำทั้งหมดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดรับกับความสำคัญที่มากขึ้นในบริบทโลกที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เติบโตและร่ำรวยขึ้น ภาคบริการมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศรายได้สูง เช่น สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ภาคบริการ มีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 75% ของ GDP
New Normal-จ้างงานเป็นJob ระยะสั้นมากขึ้น
ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิดเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมือนเดิม รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปมาก มีการทำงานแบบไม่เต็มเวลามากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ โดย กระทรวงแรงงาน จะต้องทบทวนนโยบายการจ้างงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความปกติใหม่ (New Normal) ในด้านการจ้างงาน และรองรับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจที่มีมากขึ้น
“ตลาดแรงงานจะก่อให้เกิดวิถีปกติใหม่ที่บริบทของการดำเนินกิจการจะไม่เหมอนเดิมอีกต่อไป การทำงานเต็มเวลา จะกลายเป็นงานฟรีแลนซ์-พาร์ทไทม์ หรือทำงานที่บ้านมากขึ้น และมีค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รัฐจะมีนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาให้ได้รับค้าจ่างที่เหมาะสม รองรับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ และความปกติใหม่ในด้านการจ้างงานอย่างไร”
ตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน ไตรมาส 2 ปี 2563 มีสูงถึง 5.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.4 ล้านคน จากระยะเดียวกันปีก่อน การที่แรงงานกลุ่มนี้ยังมีงานทำแต่มีชั่วโมงทำงานอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานไทย
การจ้างงานประจำรายชั่วโมง เหมาะกับการจ้างงานในภาคการค้าและบริการ แต่ไม่เห็นด้วยกับการนำระบบนี้มาใช้เต็มที่ในภาคอุตสาหกรรมการจ้างงานสำหรับภาคการค้าสินค้าและการค้าบริการเป็นอัตราการจ้างงานเพิ่ม มิได้ไปทดแทนการจ้างงานประจำแต่อย่างใด เพื่อสอดรับการให้บริการช่วงพีคของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด
จากข้อมูลของ JobThai ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ เดือน ต.ค.2563 ที่ผ่านมา ระบุว่า ธุรกิจบริการอาหาร-เครื่องดื่ม มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 58,724 อัตรา ธุรกิจค้าปลีก 37,482 อัตรา เพียงแค่ 2 ธุรกิจมีความต้องการแรงงานเกือบแสนอัตรา(96,206) ในระยะสั้น ภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา ในระยะยาว เมื่อภูมิทัศน์แรงงานปรับเปลี่ยนเข้าสู่วิถีปกติใหม่ และเทคโนโลยีดิสรัปชันเต็มตัว อัตราการจ้างงานรายชั่วโมงจะรองรับได้ถึง 200,000 อัตรา
“การจ้างงานรายชั่วโมงจึงมีข้อดีคือเป็นการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถปรับให้เข้ากับ สถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อาจกำหนดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง เช่น ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นธุรกิจนำร่อง อาจเป็นระยะเริ่มต้นทดลอง โดยกำหนดกรอบเวลาทดลองปฏิบัติ เช่น 1 ปี และประเมินผล มีหน่วยงานในการวิจัยและสำรวจสรุปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
นายจ้างอยากจ่ายตามจริง ทำน้อยไม่ต้องจ่ายเต็มวันตามกม.แรงงาน
การจ้างงานประจำรายชั่วโมง Part Time กับการจ้างงานทั่วไป จะใช้ได้เฉพาะในกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานแบบอาชีพเสริม (Part-Time) แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ไม่สามารถปฏิบัติได้กับแรงงานทั่วไป เนื่องจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้จ่ายเป็นรายวันตามพื้นที่ที่กำหนด อีกทั้งยังเขียนไว้ในประกาศคณะกรรมการค่าจ้างว่า ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติในแต่ละวันจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ซึ่งหมายถึง หากการจ้างงานชั่วคราว 4 ชั่วโมง นายจ้างก็ต้องจ่ายเต็มแปดชั่วโมงนั่นเอง
ตัวนี้เป็นข้อได้เปรียบของฝั่งแรงงาน แต่ก็ทำให้นายจ้างไม่อยากจ้างถ้างานนั้นไม่จำเป็นจริงๆ ข้อเสนอของส.ค้าปลีกน่าพิจารณา แต่รัฐบาลคงต้องชั่งน้ำหนักว่า มาตรการนี้ส่งผลดีต่อการจ้างงานและเป็นธรรมต่อคนทำงานจริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้น ถ้าทำอย่างไม่รอบคอบอาจถูกตั้งคำถามว่าใช้ “ความต้องการนายจ้างเป็นตัวตั้ง”ก็เป็นได้