เกษตรกรมีลุ้น!?!รมว.เฉลิมชัยฯฉับไว สั่งอัพเดททะเบียนเกษตรกร 8 ล้านคน เตรียมชงเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน

1784

เพราะข้อมูลในบิ๊กดาต้าของเกษตรกรไทยมีพร้อม เลยลุยก่อนใครได้ เพื่อรองรับการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ กระทรวงเกษตรจึงเร่งอัพเดททะเบียนเกษตรกร 8 ล้านราย ชวนคนตกหล่นเร่งรายงานตัวด่วน งานนี้รมว.เฉลิมชัยฯแย้มเตรียมพร้อมเยียวยาตรง มีลุ้นรายละ 5,000 บาท 3 เดือนเหมือนสู้โควิด-19 รอบแรก หลังนายกฯประกาศจะช่วยปชช.ระลอกใหม่ สั่งทำแผนเสนอครม.ภายใน 15 ม.ค.นี้ และย้ำให้ช่วยเหลือเยียวยาถึงมือเกษตรกรให้เร็วที่สุด เมื่องบฯก็มีพร้อม รออีกแป๊บคงไม่เป็นไร? มั่นใจรัฐบาลดูแลเกษตรกร กำลังหลักผลิตพืชเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของโลก ท่ามกลางโควิดระบาดหนัก

ทำเพื่อเกษตรกรไม่ต้องกั๊ก!

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งเตรียมพร้อมเยียวยาเกษตรกรรอบ 2 จำนวน 8 ล้านราย โดยใช้ฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าคราวออกมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ระบาดรอบแรก เน้นต้องรวดเร็วครอบคลุมและถูกต้อง หลังนายกฯ ประกาศจะช่วยเหลือประชาชนเยียวยาโควิดรอบ 2

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ว่า หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมาเรื่องการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 โดยมอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นในสองเดือนนี้นั้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เตรียมความพร้อมในการเยียวยาเกษตรกรเพื่อความรวดเร็วทันทีที่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ในฐานะนายทะเบียนตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนในโครงการเยียวยาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกษตรกร ประมาณ 8 ล้านรายได้รับเงินเยียวยารายละ 15,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน มิ.ย – ส.ค. โดยรัฐมนตรีเกษตรฯ ยังมอบนโยบายให้เกษตรกรรายใหม่และที่ตกหล่นสามารถลงทะเบียนได้ครบถ้วนโดยต้องครอบคลุมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและทุกขั้นตอนต้องตรวจสอบความถูกต้อง

สำหรับโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ในปี 2563 สศก. ที่ผ่านมาดำเนินการได้มีประสิทธิภาพ ในฐานะนายทะเบียนจะทำการจัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและได้ตรวจสอบแล้วให้ ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ใช้งบฯกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย เกษตรกรกลุ่มพืช กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มประมง กลุ่มหม่อนไหม กลุ่มชาวไร่อ้อย และกลุ่มชาวไร่ยาสูบ โดย 2 กลุ่มหลังขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังตามลำดับโดยส่งทะเบียนเกษตรกรผ่าน สศก. ก่อนส่งให้ ธกส. โอนตรงให้เกษตรกร

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจยังแบ่งรับแบ่งสู้

จากกระแสข่าวก.คลังเตรียมชง ครม.ฟื้นมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน”ภาค 2 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ระบาดใหม่ ซึ่งส่งผลถึงเศรษฐกิจขณะนี้ ว่าต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อนอีก 7 วัน ยังมองสถานการณ์ไม่ออก เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังกระจุกตัวอยู่ ส่วนมาตรการเยียวยาที่จะออกมาต้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ออกมาเสนอก่อน และพิจารณารายละเอียด ทุกอย่างต้องประเมินสถานการณ์ ต้องเกาให้ถูกที่คัน

แม้ยังไม่ยืนยันกรณีการจ่ายตรงเกษตรกร ก็คงต้องรอลุ้นการอนุมัติจากครม.ภายในกลางเดือนมกราคมนี้ ถึงตอนนั้นคงชัดเจนแล้วว่า การระบาดโควิด-19 รอบใหม่นี้จะขยายวงและไม่จากสังคมไทยไปง่ายๆอย่างที่หวัง การมีวัคซีนที่ไทยจะเริ่มฉีดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึง ก็อาจทำได้เพียงชะลอความรุนแรง แต่ยังไม่อาจต้านทานการแพร่กระจายเชื้อได้ในทันท่วงที และรัฐบาลคงยังต้องเป็นเสาหลักในการเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้าน เกษตรกร คนเล็กคนน้อยทั้งหลาย