Truthforyou

ถอดหน้ากาก(อนามัย)“ซีพี” กับคำวิงวอนถึงเศรษฐี! เส้นขนานทุนนิยม รับมามาก-ให้ไปน้อย?

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ที่กลับมาสร้างความวิตกกังวล เดือดร้อนต่อคนไทยและประชากรทั่วโลกอีกครั้ง และต่อเนื่องมานั้น โดยเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2563 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้น

ทั้งนี้เริ่มจากที่ในโลกโซเชียล ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ในราคาแพ็กละ 33 บาท 5 ชิ้น ซึ่งคิดเป็นราคาเฉลี่ยชิ้นละ 6.60 บาท โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าหน้ากากอนามัยดังกล่าว มีราคามากกว่าราคาควบคุมที่ 2.50 บาท หรือไม่

ต่อมาสำนักบริหารการสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ออกมาชี้แจงถึงการตั้งคำถามและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวว่า

1.การจำหน่ายหน้ากากอนามัยนั้น หากเป็นการจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ที่ผลิตภายในประเทศให้จำหน่ายในราคาขายปลีกไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท (รวม VAT) ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2563 และ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 27 พ.ศ. 2563

2.สินค้าดังกล่าวนั้น ซัพพลายเออร์รายหนึ่งเป็นผู้นำมาจำหน่ายในช่องทางการจำหน่ายของบริษัท ซึ่งบริษัทมีขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานก่อนมีการนำมาวางจำหน่าย โดยสินค้าดังกล่าวนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีหนังสือแจ้งว่า ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์การใช้งานสำหรับป้องกันฝุ่นละออง หมอกควัน และเกสร จึงไม่ใช่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) แต่อย่างใด การจำหน่ายหน้ากากอนามัยดังกล่าว จึงไม่ใช่การจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ต้องจำหน่ายในราคาไม่เกิน 2.50 บาท (รวม VAT) แต่อย่างใด

บริษัทขอเรียนว่า ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน ก็คำนึงถึงการให้บริการแก่ชุมชนและสังคม โดยเฉพาะในภาวะการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้สามารถจัดหาหน้ากากอนามัยไว้ใช้ป้องกันตนเองได้อย่างทั่วถึง และขอขอบคุณทุกความคิดเห็น ซึ่งล้วนมีความสำคัญ และเป็นส่วนผลักดันให้บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการภายในร้าน เพื่อตอบรับกับความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึงความถูกต้องตามข้อกำหนดของภาครัฐอย่างเคร่งครัดต่อไป

จากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ซีพีฯชี้แจงโดยอ้างถึง “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้แจ้ง ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ มีวัตถุประสงค์การใช้งานสำหรับป้องกันฝุ่นละออง หมอกควัน และเกสร จึงไม่ใช่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask)

ดังนั้นเองที่หลายคนพากันตีความไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็ความหมายว่า หน้ากาก (แมสก์) ของซีพีดังกล่าวป้องกันได้เพียง ฝุ่นละออง หมอกควัน และเกสร เท่านั้น ! แต่ไม่ได้ป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 หรือไม่???

ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีซีพีและหน้ากากอนามัย ว่าด้วยความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงโรคระบาดนี้บางส่วนเนื้อหาที่น่าสนใจว่า

“ผมเห็นข่าวหน้ากากอนามัย ของบริษัทหนึ่งที่จำหน่ายในร้าน 7-11 แพคหนึ่งมี 5 ชิ้น ราคา 32.50 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 6.50 บาท มีผู้นำเรื่องนี้ไปเขียนในโซเชี่ยลและมีสื่อนำไปลง จนบริษัทออกมาชี้แจงว่าหน้ากากดังกล่าวไม่ใช่หน้ากากทางการแพทย์ที่ต้องควบคุมราคาที่ 2.50 บาท/แผ่น แต่เป็นหน้ากากที่มีวัตถุประสงค์ป้องกันฝุ่นละออง หมอกควัน และเกสร สุดท้ายบริษัท สรุปว่า บริษัทได้คำนึงถึงการให้บริการแก่สังคมโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถจัดหาหน้ากาก-อนามัยไว้ป้องกันตนเองได้อย่างทั่วถึง

ผมอยากวิงวอนว่า…

1.ตอนที่บริษัทซี.พี.ประกาศลงทุนเป็นพันล้านสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ตอนนั้นเป็นข่าวครึกโครม คนไทยรวมทั้งผมเองด้วยยกมือท่วมหัวอนุโมทนาว่า นี่เป็นการสร้างกุศลครั้งใหญ่ของเศรษฐี แต่จนวันนี้ ผมยังไม่เห็นหน้ากากอนามัย ราคาแผ่นละ 2.50 บาท ของซี.พี. แต่วันนี้ ช่วงโควิดระบาดใหญ่ ผมกลับเห็นหน้ากากที่ท่านบอกว่า ไม่ใช่หน้ากากทางการแพทย์ จึงสามารถจำหน่ายเกินแผ่นละ 2.50 บาทได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ข้อมูลผมอาจไม่ครบถ้วน ท่านก็ชี้แจงได้

2.ผมอ่านเหตุผลของบริษัท ที่บอกว่า คำนึงถึงการให้บริการสังคมเพื่อให้ประชาชนมีหน้ากากอนามัยไว้ป้องกันตนเองได้อย่างทั่วถึง แต่ผมยังไม่เห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้น ผมกลับเห็นแต่หน้ากากป้องกันเกสร,หมอกควัน,ป้องกันฝุ่น ราคาแผ่นละ 6.50 บาท ผมคิดว่า ขณะนี้ประชาชนต้องการหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด แผ่นละ 2.50 บาทเท่านั้น ประชาชนมิได้ต้องการหน้ากากกันหมอกควัน หรือเกสรดอกไม้  ข้อมูลผมอาจไม่ครบถ้วน แต่เรื่องนี้ บริษัทจะชี้แจงก็ได้ ไม่ชี้แจงก็ได้ เป็นสิทธิของบริษัท ผมไม่ก้าวล่วง ผมเพียงพูดแทนประชาชนเท่านั้น ว่าประชาขนต้องการหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด-19 แผ่นละ 2.50 บาท ไม่ได้ต้องการหน้ากากป้องกันเกสรแผ่นละ 6.50 บาท

3.ผมวิงวอนผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือว่า การระบาดของโรคในครั้งนี้ ส่วนหนึ่ง มาจากการทุจริต หรือ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปล่อยให้มีบ่อนการพนัน และแรงงานข้ามชาติโดยผิดกฎหมาย ไม่ผิดไปจากนี้แน่นอน การทุจริต คือปัญหาที่กัดกร่อนประเทศอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ผมวิงวอนให้ท่านผู้ทีอำนาจในมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เวลาท่านหมดอำนาจหน้าที่และจากไป ก็ขอให้คนสรรเสริญ อย่าให้คนก่นด่าตามหลัง

4.ผมวิงวอนเศรษฐีและผู้มีอำนาจรัฐมาแล้ว 3 ข้อ ผมก็อยากจะวิงวอนประชาชนด้วยเหมือนกัน ว่า หากประชาชนจะวิงวอนผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือ วิงวอนเศรษฐี ก็ขอให้ประชาชนวิงวอนแบบมีเหตุผล ประการสำคัญวิงวอนแบบ”มีศักดิ์ศรี” อย่าวิงวอนแบบยาจก หรือ วิงวอนแบบทาสวิงวอนนายทาส การวิงวอนแบบนั้นท่านจะตกเป็นทาสอยู่ร่ำไป ไม่มีทางเป็นอิสระชนได้เลย

-ผมอยากให้เศรษฐี และ ผู้มีอำนาจรัฐ ฟังคำวิงวอนของผม ผมวิงวอนแทนประชาชน ผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคระบาดอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ ที่เผยแพร่เกี่ยวกับบริษัทซีพี ในการทุ่มเงินมหาศาลเพื่อเข้าไปถือหุ้นแหล่งผลิตวัคซีนป้องกันโควิด โดยพาดหัวข้อข่าวไว้ว่า

“ซีพี” ทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน เข้าถือหุ้นในบริษัทผลิตวัคซีน “ซิโนแวค”

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัท “ซิโน ไบโอฟาร์มมาซูทิเคิล ลิมิเตด” (Sino Biopharmaceutical Limited) ธุรกิจเวชภัณฑ์ ของบริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติเคิล กรุ๊ป ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกง ได้ลงทุน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.54 หมื่นล้านบาท) แลกกับการเข้าเป็นผู้ถือหุ้น 15% ของบริษัทซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ (Sinovac Life Sciences) ซึ่งเป็นหน่วยผลิตวัคซีน “โคโรนาแวค” (CoronaVac) ในเครือ “ซิโนแวค ไบโอเทค”

นอกจากบริษัทซีพีแล้ว ยังมีกองทุนของจีน “แอดวานซ์เทค แคปิตอล” และ กองทุนของสหรัฐ” วีโว่ แคปิตอล” ที่ได้ร่วมลงทุนกับทางซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนซ์ โดยเข้าผู้หุ้นส่วนบริษัทละ 6.3%

ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย เปิดเผยว่า บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทคเตรียมส่งวัคซีนทั้งหมด 2 ล้านโดสมายังประเทศไทย โดยจะเริ่มนำเข้า 2 แสนโดสปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปลายเดือนมีนาคม อีก 8 แสนโดส และปลายเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส

(อ่านฉบับเต็ม https://www.prachachat.net/world-news/news-587745)

เช่นนี้เองที่คนไทยอดที่จะตั้งคำถามต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ ทุนลงทุนมหาศาลไม่ได้ว่า มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน ? จริงอยู่ที่เคยช่วยเหลือคนไทยในหลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่า คนไทยเองก็เป็นฝ่ายสร้างผลกำไรอย่างมากมายให้กับบริษัทแห่งนี้ คล้ายกับว่า สิ่งที่ได้มา มากกว่าสิ่งที่ให้ไป?  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเรียกว่าอะไร คืนกำไร หรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่นักการเมืองส่งเสียงวิงวอนครั้งนี้ก็ดูมีเหตุผล และชวนให้ตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว ทุนนิยมกับน้ำใสใจจริงนั้น! จริงๆแล้วก็แค่เส้นคู่ขนาน???

Exit mobile version