เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเดือน ม.ค. แค่ 6 วันพุ่งทะลุหลักพันไปแล้ว ยอดสะสมเฉียดหมื่นราย เข้าพื้นที่ 28 จังหวัดต้องแสดงหลักฐาน

2173

จากกรณีที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ดังนี้

ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 365 ราย                                                                                                      เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในประเทศ 250 ราย
ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุก) 99 ราย
สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 16 ราย
รักษาหายเพิ่มขึ้น 421 ราย
กลับบ้านแล้ว 4,418 ราย
มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 66 ศพ
ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 9,331 ราย นับเป็นรายที่ 8,967 – 9,331
ขณะนี้ประเทศไทย เป็นอันดับที่ 130 ของโลก

โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 9,331 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้จะครบหมื่นรายแล้ว จึงขอให้ช่วยกัน เพราะไม่ต้องการเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 63 ปี เป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา อาชีพขับรถรับส่งแรงงานต่างด้าวใน จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง เมื่อวันที่ 27 ธ.ค .มีไข้ ไอ มีน้ำมูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ออกซิเจนในเลือดต่ำ ปอดอักเสบ และตรวจพบเชื้อโควิด-19

จากนั้นวันที่ 30 ธ.ค.มีอาการหอบมากขึ้น หายใจลำบาก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และย้ายไปยังห้องไอซียู

วันที่ 31 ธ.ค.อาการไม่ดีขึ้น มีอาการไตวาย จึงต้องฟอกเลือดทุกวัน

จนกระทั่งวันที่ 5 ม.ค. หัวใจหยุดเต้น อวัยวะภายในหลายส่วนล้มเหลว ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 66 ราย ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตในประเทศไทย อยู่ที่ 1-2% อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 250 รายนั้น มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง และสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 215 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 35 ราย


ส่วนสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 86,832,019 ราย เสียชีวิตสะสม 1,875,451 ราย และมีภาพที่น่าตกใจคือ ที่เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีภาพที่ต้องประเมินผู้ป่วยหากคิดว่าใครไม่สามารถช่วยชีวิตได้ก็ไม่ให้นำส่งโรงพยาบาล ปล่อยให้เสียชีวิตที่บ้าน ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ เนื่องจากมีการติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ทรัพยากรในการรักษาไม่เพียงพอ ก็ขอภาวนาให้คนที่อยู่ในสหรัฐฯ บรรเทาสถานการณ์ลงได้ และขอให้อย่ามาเกิดกับเรา

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือศูนย์อีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการวิเคราะห์เรื่องการกระจายตัวในพื้นที่ จ.สมุทรสาครว่าพื้นที่ดังกล่าวมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก มีโรงงงานในพื้นที่กว่า 11,467 แห่ง ทำให้เราต้องเร่งเข้าไปตรวจในพื้นที่โรงงานเพื่อเข้าไปดูให้มั่นใจ ไม่ให้เป็นที่แพร่ระบาดเชื้อโรค และนอกจากโรงงานแล้วยังเข้าไปตรวจทั้งตลาดและที่พักเพื่อวางแผนเชิงรุกให้การตรวจครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่วนโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีแล้วทั้งสิ้น 2 แห่ง ส่วนที่มีข่าวว่าจังหวัดข้างเคียงคัดค้านการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จาก จ.สมุทรสาครนั้น อยากจะบอกว่ายังมีข่าวดี ๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งคนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร พร้อมจะให้ใช้พื้นที่ส่วนตัวของตัวเองตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลคนสมุทรสาครจำนวน 4-6 พื้นที่ หลังจากนี้ สธ.ต้องมองข้ามไปวันข้างหน้า ประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะมีสูง เราต้องเตรียมพื้นที่ไว้ล่วงหน้า จึงต้องวางแผนไว้ก่อน เพราะการตั้งโรงพยาบาลสนามต้องใช้เวลา เบื้องต้นเราจะใช้โรงพยาบาลสนามของจังหวัดนั้น ๆ เพื่อดูแลคนของจังหวัดตัวเอง

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ควบคุมสูงสุด กับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัดที่ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด รวมถึงเจตนาในการแยกคืออะไร เพราะไม่อยากใช้คำว่าล็อกดาวน์ใช่หรือไม่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ควบคุมสูงสุดมีทั้งสิ้น 28 จังหวัด มีมาตรการที่ทั้ง 28 จังหวัดต้องดำเนินการคือ คนที่เข้าพื้นที่ต้องรับการตรวจอุณหภูมิ สังเกตอาการ และต้องรับการตรวจว่ามีแอพพลิเคชั่นหมอชนะหรือไม่ รวมถึงสอบถามเหตุผลความจำเป็นในการเดินทาง โดยเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการปิดแหล่งที่อาจแพร่เชื้อ เช่น บ่อน ร้านอาหาร แต่ไม่ทำให้เกิดการชัตดาวน์ ล็อกดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิว ไม่ปิดการเดินทาง

ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มี 5 จังหวัด คือ มีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา ผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ต้องแสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ใครจะเดินทางเข้าพื้นที่หรือไปไหนมาไหนในพื้นที่ต้องแสดงหลักฐาน พ่อค้าแม่ค้าจะขายอาหารก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบก่อน ผู้คนในพื้นที่อาจจะต้องลำบากกันสักหน่อย มาตรการเหล่านี้จะใช้ถึงวันที่ 1 ก.พ. ใครที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการเดินทางก็ขอให้ชะลอไว้ก่อน แต่ถ้าตัวเลขต่าง ๆ แสดงถึงความน่ากลัว และพุ่งขึ้นในทิศทางที่ชันเราคงไม่ต้องรอถึงวันที่ 1 ก.พ. อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่าคงต้องดูสถานการณ์เป็นรายวัน ถ้าไม่ดีก็ต้องเข้มงวด อาจจะมีคำว่าเข้มงวดสูงสุดหรืออีกหลาย ๆ อย่าง เข้มขึ้นมา