Truthforyou

ส่อง “รพ.สนาม” ทุกโซนสำคัญ นายกอบต.สมุทรสาคร ใจบุญทุ่มเงิน 5 ล้าน พร้อมที่ดินรองรับโควิด

จากกรณีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 ที่ได้ลุกลามหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดสุมทรสาคร ระยอง ชลบุรี กทม. นนทบุรี นครปฐมและปทุมธานีนั้น และยิ่งนับวันยอดผู้ติดเชื้อยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้มาจากการเน้นตรวจเชิงรุก และพบว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อประจำวันที่ 6 ม.ค. 2564 ศบค. แถลงว่า ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มอีก 365 ราย ติดเชื้อในประเทศ 250 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน รวมเป็น 66 คน ส่วนตัวเลขผู้ป่วยสะสมขยับเข้าใกล้หมื่นรายแล้ว ขณะที่จังหวัดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 56 จังหวัดแล้ว


สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็น ชายไทยอายุ 63 ปี อาชีพคนขับรถรับส่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่สมุทรสาคร โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เป็นชาวอยุธยา วันที่ 27 ธ.ค. ป่วยด้วยไข้ ไอน้ำมูก ไปรักษาที่ รพ.ในสมุทรสาคร พบ ออกซิเจนในเลือดต่ำมาก แค่ 67% ได้รับการเอ็กซเรย์ปอด และตรวจเชื้อโควิด จากนั้นเหนื่อยมากขึ้นใส่ท่อช่วยหายใจ ย้ายไปไอซียู จากนั้น 31 ธ.ค. อาการแย่ลง มีอาการไตวาย จากนั้นหัวใจวายเฉียบพลัน แต่ไม่ตอบสนองการรักษา และเสียชีวิตลง

และเมื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่เน้นตรวจเชิงรุกขยายผลผู้ติดเชื้อให้มากขึ้น เพื่อจะได้จำกัดวงของการระบาดให้น้อยลงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสร้างโรงพยาบาลสนาม มารองรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก หรือไม่แสดงอาการ เพื่อรอดูผลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลหลักที่ทำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และการสาธารณสุข กรณีโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2564 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขและโรงเรียนแพทย์ ได้มีความร่วมมือในการบริหารจัดการระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ในหลายพื้นที่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประเมินสถานการณ์ จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับ

โดยโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งยินดีสนับสนุนทรัพยากร เช่น การจัดระบบโรงพยาบาลสนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น โดยมอบให้กรมการแพทย์เป็นผู้ประสานงาน หากพื้นที่ใดต้องการการสนับสนุน สามารถประสานตรงได้ที่ กรมการแพทย์ นอกจากนี้ได้ให้โรงพยาบาลที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีการระบาด เตรียมพร้อมสนับสนุนทรัพยากรทั้ง บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ได้มีจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม บริเวณหน้าตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร แล้วเกิดมีการประท้วง เนื่องจากชาวบ้านเกรงว่าจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2564 ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร โดยจะเป็นโรงพยาบาลสนามที่ใหญ่สุดในจังหวัด มีขนาด 540 เตียง

ขณะที่เฟซบุ๊กของ Wassana Nanuam ผู้สื่อข่าวชื่อดัง ได้โพสต์คลิปวีดีโอ เผยให้เห็นภาพมุมสูง ในพื้นที่ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (ศฝ.สอ.รฝ.) ตำบลเกล็ดแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ห่างไกลชุมชน ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 320 เตียง ปัจจุบัน รับผู้ป่วยโควิดแล้ว 45 คน

 


วันนี้เราจะไปดูภาพบรรยากาศ โรงพยาบาลสนาม ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลบำราศนราดูร เป็นผู้รับผิดชอบดูแล ซึ่งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ได้เปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีความพร้อมทั้ง OPD และ IPD


โรงพยาบาลสนาม จะเป็นเสมือน โรงพยาบาลเฉพาะหน้า ที่รับผู้เจ็บป่วยในทุกกรณี โดยกรณีไหนที่รักษาได้ ก็จะดำเนินการรักษา แต่ถ้ารักษาไม่ได้ ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่สูงกว่า เช่น โรงพยาบาลสมุทรสาคร หรือ โรงพยาบาลของกรมการแพทย์

ส่วนการให้บริการนั้น จะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนคนไข้นอก กับ คนไข้ใน มีเตียงไว้รองรับประมาณ 40 เตียง มีศักยภาพเทียบเท่า โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก แต่มีการขยายพื้นที่ขึ้นมา และอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโรคทุกประการ เช่น เตียงห่างกัน 1 เมตร มีระบบควบคุมการติดเชื้อ ระบบการถ่ายเทภายใน และระบบการป้องกันการติดเชื้อ

ขณะที่ การจัดโซนคนไข้นั้น จะมี 3 ระดับ เพื่อสะดวกต่อการรักษา ดังนี้

– โซนหน้าใกล้กับหน้าเคาน์เตอร์พยาบาล สำหรับคนไข้ที่มีอาการมากกว่าปกติทั่วไป มีอุปกรณ์การให้ออกซิเจน เตียงสามารถปรับระดับได้ ให้ยาได้ และอยู่ใกล้ชิดพยาบาล
– โซนภายใน จะเป็นผู้ที่ติดเชื้อโควิดแล้ว
– โซนปลอดเชื้อ สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ ซึ่งจะอยู่เหนือลม

นอกจากนี้ในโลกออนไลน์ยังได้มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอ โรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ยังไม่ได้มีการจัดตั้งเตียงนอน แต่ต้องรองรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาดูแลก่อน แม้จะมีการเว้นระยะห่าง แต่ก็ต้องอยู่ด้วยกันอย่างแออัด มีผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นการสร้างโรงพยาบาลสนาม จึงจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ตอนนี้

 


ล่าสุดได้มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใจบุญ ระบุว่า “นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้นำที่ดินส่วนตัวจำนวน 8 ไร่ มอบให้เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง และมอบเงินส่วนตัวจำนวน 5 ล้านบาท จัดเตรียมสถานที่ พร้อมอุปกรณ์โรงพยาบาลสนามด้วย และขณะนี้กำลังเร่งปรับพื้นที่ให้เสร็จในวันนี้ ⁣

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับมอบ เพื่อตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมด้วย⁣”

อย่างไรก็ตาม นายวัฒนา แตงมณี ถือเป็นนักการเมืองผู้ใจบุญตัวเอง ซึ่งเจ้าตัวมักจะช่วยเหลือคนยากไร้อยู่เสมอ ได้ใช้เงินส่วนตัวกว่า 2 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดิน และใช้เงินอีก 600,000 บาท ถมที่สำหรับปลูกบ้านให้คนยากไร้ ได้มีที่พักอาศัยด้วย

 

Exit mobile version