จากที่วันนี้ (5 ม.ค.63) นายอนุชา บูรพชัยศรีโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย คณะรัฐมนตรีจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 48
เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการปฏิบัติงานเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นและรวดเร็ว บริหารจัดการตามมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ด้วยการบูรณาการกำลังทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอตาม จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 28 ก.พ. 64 (ครั้งที่ 9)
สำหรับภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังมีแนวโน้มรุนแรงในหลายภูมิภาค หลายประเทศในยุโรปกลับมาใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดอีกครั้ง ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะรุนแรงมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันโรคโควิด 19 เกิดการระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศเป็นวงกว้างและกระจายไปในหลายเขตพื้นที่ทั่วประเทศ พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวันทั้งจากคนไทยและแรงงานต่างด้าว
ขณะที่นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้ออกมาแถลงเปิดเผยถึงการยกระดับ5 จังหวัด เปลี่ยนเป็น”พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”เพื่อให้หน่อยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และ กระทรวงสาธารณสุข ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าไปกระชับพื้นที่ได้อย่างเต็มที่และไม่ให้เชื้อหลุดรอดออกมา
สำหรับ 5 จังหวัด ยกระดับ ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
นอกจากนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังได้แถลงภายหลังการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ ถึงมาตรการต่างๆ จากการหารือร่วมกันของ ศบค. ชุดเล็ก และกระทรวงสาธารณสุข มีการทบทวนเพื่อให้เกิดความมั่นใจในมาตรการต่างๆ ที่จะออกมา จากนั้นจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. พิจารณาและลงนามในร่างประกาศฉบับที่ 6 ทั้งหมด 8 ข้อ ดังนี้
การห้ามใช้อาคารสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค การห้ามใช้อาคารสถานที่โรงเรียน สถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 28 จังหวัด เป็นพื้นที่จังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมากและจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง
ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เช่น การจัดประชุมสัมมนา จัดเลี้ยง การแจกอาหารหรือสิ่งของต่างๆ เว้นแต่เป็นการดำเนินงานโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เช่น การจัดงานแต่งงานก็ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในจังหวัดนั้นๆ และต้องมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับด้วย ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบ ซึ่งจังหวัดจะประกาศมาตรการเข้มกว่าเดิมได้ แต่จะอ่อนกว่าไม่ได้
การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดง
ในเขตพื้นที่สีแดง ให้สถานที่ กิจการ หรือการทำกิจกรรมดังต่อไปนี้ เปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบต่างๆ ที่กำหนด
(1) การจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนด โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น ให้ ศบค.มหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) ร่วมกันพิจารณาประเมินกำหนดรูปแบบและการกำกับการดำเนินการตามข้อปฏิบัติและมาตรการของแต่ละพื้นที่จังหวัดให้มีความเหมาะสม ให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของปะชาชนที่ประกอบกิจการร้านอาหาร ซึ่งหากเป็นพื้นที่เสี่ยงต้องซื้อและนำกลับเท่านั้น
(2) การจำหน่ายสุราสำหรับร้านอาหาร สถานที่ซึ่งจำหน่ายสุรา ห้ามบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
ห้างสรรพสินค้า ยังเปิดทำการได้ตามปกติ ส่วนคำสั่งปิดหรือเปิดก็เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งเปิดหรือปิดในสถานที่ต่างๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดได้
การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจละคัดกรองโดยใช้เส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่สีแดง ให้ดำเนินการตามาตรการที่ ศบค.กำหนด โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น สรุปคือขอความร่วมมือ ไม่ได้ให้หยุดการเดินทาง เพราะบางส่วนมีธุระสำคัญจำเป็น ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจจะมีการตั้งด่านตรวจถี่ขึ้น อาจจะไม่สะดวกแต่เพื่อการคัดกรอง แต่หากไม่จำเป็นอย่าเดินทาง
การทำงานที่บ้าน (Work from Home) สลับเหลื่อมเวลาในการทำงาน
ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายข้อบังคับการใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่ออนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่บังคับใช้กับสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมเพิ่มเติมได้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เห็นสมควร
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในโลกโซเชียลฯ ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอที่มาจากต่างประเทศ โดยในคลิปปรากฏให้เห็นภาพซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจคนอย่างเข้มงวด โดยมีการตั้งด่านตรวจเมื่อมีรถยนต์ผ่านมา และหากไม่ได้รับความร่วมมือในการตรวจ เจ้าหน้าที่จะจัดการอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกัน หากว่าบุคคลดังกล่าวติดเชื้อโควิด จะได้ไม่มีการแพร่เชื้อเกิดขึ้น