จากที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ประกาศว่าเตรียมเดินสายคุยกับเหล่าแกนนำเสื้อแดงถึงความคิดเห็นที่ว่า นปช.ควรยุติบทบาทขององค์กร
ไม่ได้หมายถึงการยกเลิกคนเสื้อแดง เพียงแค่มอบสมบัติการต่อสู้ให้คนหนุ่มสาว กลุ่มราษฎรที่มีข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้ากว่าการโค่นอำมาตย์ ที่ นปช.มาได้สูงสุดแค่นี้
นายจตุพร กล่าวว่า ตนได้แสดงความเห็นส่วนตัวควรยุติบทบาท นปช. แล้วส่งภารกิจให้คนรุ่นใหม่ และจะเดินสายหารือแกนนำทั้งหลายที่แยกกันอยู่คนละทาง อีกทั้งไม่ได้เดินสายเพื่อยุบ นปช.ไปร่วมกับเผด็จการตามข้อกล่าวหาใส่ร้ายที่ตามมา
โดยตามที่เข้าใจกันว่า การต่อสู้ของ นปช.ไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวของใครนั้น และการต่อสู้ที่ผ่านมาไม่มีใครมาตำหนิได้ว่า ใครสู้หรือไม่สู้อย่างไร เพียงแต่ตนอยู่กับโลกความจริงและศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ว่า เวลาไหนควรทำอะไร อย่างไร
นอกจากนี้ ตนได้ตรวจสอบแกนนำทุกคนที่อยู่กันสองซีก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำต่างจังหวัด เมื่อคนหนุ่มสาวยกย่องคนเสื้อแดง ตนเองเห็นว่า เมื่อมวลชนเสื้อแดงก้าวหน้ากว่าบรรดาแกนนำ ตนจึงคิดอย่างบริสุทธิ์ว่า ทำไมไม่ส่งมอบภารกิจให้คนหนุ่มสาวต่อสู้สานต่อภารกิจ
อีกอย่าง ในบรรดาแกนนำทั้ง 2 ซีกนั้นไม่มีคนใดจะไปยืนหยัดต่อสู้ตามข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ของกลุ่มราษฎร คนหนุ่มสาวเลย เมื่อเราเดินมาได้สูงแค่การต่อสู้ของไพร่กับอำมาตย์ แต่คนหนุ่มสาววันนี้เดินทะลุเพดานไปแล้ว แน่นอนข้อเรียกร้องของ นปช.จึงล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์
ล่าสุด ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ได้โพสว่า
“คนเสื้อแดงจะต้องปรับตัวอย่างมากในปีนี้เนื่องจากปัญหาจตุพรที่จะยุบนปช.ที่คนเสื้อแดง 99% ไม่เห็นด้วยและลามไปสู่การขับไล่จตุพรให้พ้นคนเสื้อแดงและเรียกร้องให้มีการสรรหาประธานนปช.คนใหม่ ส่วนใหญ่เห็นว่าณัฐวุฒิเหมาะสมกับการเป็นประธานนปช. แต่ผมเห็นว่าเท่านั้นยังไม่พอ นปช.จะต้องมีการผ่าตัดองค์กร ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องทำงานเชิงรุก ให้ความรู้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกต้องแก่มวลชน สร้างนักเคลื่อนไหวที่มาจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ จัดกิจกรรมเพื่อให้มวลชนได้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน พึ่งพาตนเองมิใช่รอแต่ทำน้ำเลี้ยงจากนักการเมือง รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดโอกาสที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวนอกสภาโดยสิ้นเชิง นี่คือภารกิจของนปช.หากจะอยู่รอดต่อไปในทศวรรษหน้า”
ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือเต้น นั้นเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากคุก พร้อมการติดกำไลอีเอ็ม
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ชื่อเล่น เต้น พิธีกรโดยนายณัฐวุฒินั้น อดีตนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์, อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์พีทีวี, อดีตผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้, อดีตรองโฆษกพรรคไทยรักไทย
ณัฐวุฒิเริ่มมีชื่อเสียงในวงการนักพูด ด้วยการเป็นนักโต้วาทีผู้แทนโรงเรียน จนเป็นแชมป์รายการโต้คารมมัธยมศึกษา ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยในรอบรองชนะเลิศ พบกับทีมโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ ชื่อเล่น ทุเรียน และสมเกียรติ จันทร์พราหมณ์ ชื่อเล่น เสนาลิง ร่วมแข่งขันด้วย ต่อมาจึงเริ่มต้นอาชีพนักพูด โดยเป็นนักอบรมการพูด กับบริษัท อดัมกรุ๊ป จำกัด ของอภิชาติ ดำดี จากนั้นก็ร่วมโต้วาทีในรายการทีวีวาที ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท.เป็นบางโอกาส และต่อมาเป็นดารา ประจำรายการสภาโจ๊ก และรัฐบานหุ่น ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยเป็นเงาเสียงของไตรรงค์ สุวรรณคีรี
ขณะเดียวกัน นายจตุพรนั้น เป็นอดีตโฆษกพรรคไทยรักไทย และอดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค แจ้งเกิดทางการเมืองจากการเป็นผู้นำนักศึกษาช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เมื่อเกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ ถนนราชดำเนิน และผู้ชุมนุมย้ายไปปักหลักที่รามคำแหง โดยมีจตุพรขึ้นเวทีปราศรัยด้วย โดยร่วมกับเพื่อนๆ นักศึกษาอีกหลายคน นายจตุพร ทำงานการเมืองโดยมีกลุ่มนักศึกษารามคำแหง พรรคศรัทธาธรรมที่ตัวเองเป็นผู้ก่อตั้ง จึงมีชื่อที่รู้จักกันดีในสมัยเรียนว่า ตู่ ศรัทธาธรรม เป็นฐานกำลังคอยเคลื่อนไหว เช่น การให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การมอบดอกไม้ กกต. การเดินขบวนไปหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ในสมัยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกด้วยการสังกัดพรรคพลังธรรมในช่วงที่มีไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาเริ่มมีความใกล้ชิดกับภูมิธรรม เวชยชัย รองประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาทำให้ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย
จตุพรเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมัยรัฐบาลทักษิณ ต่อมาเข้าร่วมเป็น 1 ใน 8 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)
หลังการยุบพรรคพลังประชาชน และการจัดตั้งรัฐบาล โดยการนำของพรรคประชาธิปัตย์ จตุพรทำหน้าที่สมาชิกฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และยังคงร่วมงานกับกลุ่ม นปช. อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมขึ้นปราศรัยในฐานะแกนนำ ภายหลังเหตุการณ์ก่อความไม่สงบของกลุ่ม นปช. เมษายน พ.ศ. 2552 จตุพรถูกออกหมายจับพร้อมกับแกนนำคนอื่นๆ ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552
ในการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553 จตุพรเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ด้วย และถูกออกหมายจับเมื่อการชุมนุมสิ้นสุดลง โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกันตัวไป ต่อมามีการเปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2553 จตุพรเป็นหนึ่งในบรรดา ส.ส.ที่ไม่เคยมาร่วมลงคะแนนผ่านร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรเลย
จตุพร พรหมพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งหน้าที่ประธาน นปช. ต่อจากนางธิดา ถาวรเศรษฐ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556