ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยเศรษฐกิจภาคเกษตร!?! สศก.ชี้จีดีพีเกษตรไทยปี 64โต 2.3% มูลค่า 664,062 ล้านบาท

1757

มีลุ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ระบาดใหม่ ไทยสามารถคว้าโอกาสทองฝ่าระบาดโควิดด้วยเศรษฐกิจภาคเกษตร  ข้อมูลสศก.คาด จีดีพีเกษตรปี 2564นี้โต 2.1-2.3 % มูลค่ากว่า 6.6 แสนล้านบาท จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น โอกาสไทยดันส่งออกสินค้าเกษตรโดยใช้ประโยชน์จากกลุ่มประเทศเอฟทีเอมากขึ้น  ทั้งยางพารา ข้าว มัน ปาล์มยังเป็นซุปตาร์มีแนวโน้มราคาดี ความต้องการในตลาดโลกสูง  แต่ยังต้องรับมือปัจจัยเสี่ยงทั้ง โควิด-19 ภัยธรรมชาติและการเมืองร้อนของกลุ่มคลั่งประชาธิปไตยหายนะ

 

ในปี 2564 คาดว่าจะเป็นโอกาสของภาคเกษตรไทยที่ประเทศต่าง ๆ มีการนําเข้าอาหาร จากประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งพืชเกษตร สินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน และ การเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทําให้ต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของไทย และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจภาคการเกษตร หรือจีดีพีเกษตรปีนี้ดีขึ้นอย่างชัดเจน 

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.3–2.3% มูลค่า 657,570.7-664,062 ล้านบาทโดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่อไปนี้:

 

ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1. สภาพอากาศที่เอื้ออํานวยต่อการทําการเกษตรมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสําหรับการเพาะปลูก และไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา

2.การดําเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่องของภาครัฐ 

-ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนา Smart Farmer และ Young Smart Farmer 

-การจัดทําฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการตัดสินใจ 

-การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร 

-การส่งเสริม การรวมกลุ่ม การใช้หลักการตลาดนําการผลิต ทําให้การบริหารการผลิตมีความสอดคล้องกับ ความต้องการของตลาด มีการวางแผนการผลิตและการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยลด ต้นทุนการผลิต ทําให้เกษตรกรมีรายได้ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึง

-การดําเนินแผนงานโครงการที่ เกี่ยวข้องกับการเกษตรตามกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

“โดยรวมในปี 2564ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มขยายตัว จากมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ช่วยสนับสนุนให้มีการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น ส่งผลให้ ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น”

3.ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ รวมถึงโอกาสในด้านความร่วมมือ และการเจรจาข้อตกลงทางการค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและ อาหารของไทย  อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์สําคัญ ที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติอาจทําให้พื้นที่ เกษตรได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ความผันผวนของค่าเงินและสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ยางพารา-ข้าว-มัน-ปาล์ม ซุปเปอร์สตาร์เกษตรไทย

หากมองโอกาสสินค้าเกษตรปี 2564 ภายใต้มาตรการประกันรายได้ของรัฐบาลทั้งยางพารา-ข้าว-ปาล์ม-มันสำปะหลัง-ข้าวโพด  พบว่ายางพาราโดดเด่นที่สุด

ยางพารา เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการอย่างมาก เพื่อนำไปผลิตเป็น “ถุงมือยาง” จากอัตราขยายตัวเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น ปีที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 4.78 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่่งผลิตได้ 4.68 ล้านตัน เนื่องจากต้นยางส่วนใหญ่ให้ผลผลิตสูงและปริมาณน้ำดีขึ้น ดังนั้นคาดว่าจะสามารถส่งออกได้ 4.09 ล้านตัน แต่ต้องประเมินจากการส่งออกยางที่เพิ่มขึ้นของเพื่อนบ้านด้วย ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม กับมาตรการทางการค้าจีนและสหรัฐที่ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางไทย

สินค้าข้าว คาดว่าจะส่งออกได้ 5.5-6 ล้านตันข้าวสาร โดยราคาจะใกล้เคียงกับปี 2563 แต่เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอ กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญลดลง ประกอบกับข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง การบริโภคข้าวต่างประเทศผู้นำเข้า อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน หันไปนิยม “ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม” ที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ และราคาข้าวของเวียดนามก็ได้เปรียบกว่าข้าวไทย ขณะที่ข้าวพรีเมี่ยมและปลอดสาร ได้รับการต้อนรับจากตลาดฟรีเมี่ยมดีมาก ล่าสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน เทียบกับปี 2563 ที่คาดว่าจะส่งออกข้าวได้เพียง 5.8 ล้านตัน

มันสำปะหลัง คาดว่าจะมีผลผลิต 29.88 ล้านตัน ส่วนปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ใกล้เคียงกับปี 2563 โดยขณะนี้ จีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักต้องการนำเข้า “มันเส้น” ทดแทนข้าวโพดเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากราคาและค่าเงินสูง และไทยยังเผชิญปัญหาโรคใบด่างและภัยแล้ง ผลผลิตมันลดลง คู่ค้าจึงต้องนำเข้ามันสำปะหลังจากกัมพูชา-ลาวทดแทน

ปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะมีผลผลิต 16.64 ล้านตัน ความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ทำให้มีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้น ส่วนตลาดโลกยังต้องติดตามมาตรการลดอัตราภาษีของอินโดนีเซีย ภัยแล้งและสงครามการค้าจีนจะกลับมาซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐเพิ่มขึ้นจนทดแทนการนำเข้าปาล์มหรือไม่ยังต้องจับตามอง