Truthforyou

ดร.อานนท์ เปิด ราชหัตถเลขาทรงสอน พระมหากษัตริย์ไทยสอนให้รับผิดชอบต่อบ้านเมือง

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แชร์ข้อความที่ระบุว่า “ราชหัตถเลขาทรงสอน”… บางช่วงบางตอนในหนังสือ “จดหมายเหตุรายวัน” พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อมีพระชนมายุได้ 15 พรรษา บ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในสภาวะที่ประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกกำลังแผ่อิทธิพลทางด้านความคิดและวัฒนธรรมมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกำลังขยายดินแดนอาณานิคมเข้ามาประชิดประเทศไทย ประเทศไทย…ในฐานะที่อยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาคต้องเผชิญกับปัญหากรณีพิพาทของชายแดนรอบประเทศ โดยเฉพาะปัญหากรณีพิพาทกับฝรั่งเศส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องจัดการปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อรักษาทรัพย์สมบัติของพลเมืองและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศ เพื่อไม่ให้ตกเป็นของชาติตะวันตก แต่ด้วยปัญหากรณีพิพาทที่รุนแรงขึ้นทำให้ทรงพระปริวิตกมากและทรงพระประชวร ขณะที่ทรงพระประชวรก็กังวลพระทัยเป็นห่วงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ด้วยวันหนึ่งพระราชโอรสพระองค์นี้จะต้องขึ้นสืบสันตติวงศ์แทนพระองค์ จึงมีพระราชหัตถเลขาที่ 2/6134 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก 112 ถึง ความว่า…

“ด้วยเมื่อวันที่ 6 เดือนนี้ เวลากลางคืน เป็นเวลาที่เจ้ามีอายุเต็มเสมอเท่ากับพ่อเมื่อได้รับสมมติเป็นเจ้าแผ่นดิน นึกตั้งใจไว้ว่าจะเขียนหนังสืออำนวยพรและสั่งสอนตักเตือนเล็กน้อย ก็เฉพาะถูกเวลาลงไปปากลัดเสีย จึงเป็นแต่บอกด้วยปากโดยย่อ บัดนี้พอที่จะหาเวลาเขียนหนังสือฉบับนี้ได้ จึงได้รีบเขียน ขอเริ่มความว่า

คำซึ่งกล่าวว่า ได้รับสิริราชสมบัติ เป็นคำไพเราะจริงหนอ เพราะสมบัติย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลทั่วหน้า และย่อมจะคิดเห็นโดยง่าย ๆ ว่า ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ย่อมจะมีเกียรติยศยิ่งกว่าคนสามัญ

ย่อมจะมีอำนาจอาจจะลงโทษแก่ผู้ซึ่งไม่พึงใจ อาจจะยกย่องเกื้อกูลแก่ผู้ซึ่งพึงใจและเป็นผู้มีสมบัติมาก อาจจะใช้สอยเล่นหัวหรือให้ปันแก่ผู้ที่พึงใจได้ตามประสงค์ ผลแห่งเหตุที่ควรยินดีกล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ ยังมีข้ออื่นอีกหลายประการจะกล่าวไม่รู้สิ้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นความคาดหมายของคนทั้งปวงดังนั้นไม่ เวลาซึ่งกล่าวมาแล้ว อันจะพูดตามคำไทยอย่างเลวๆว่ามีบุญขึ้นนั้น ที่แท้จริงเป็นผู้มีกรรมและมีทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อได้เป็นมาเองอันจะเล่าให้ทราบต่อไป…”

“ราชหัตถเลขาทรงสอน”…มีความยาวหลายหน้า ตัดตอนไปที่ช่วงท้ายใจความว่า “….บัดนี้ลูกมีอายุเท่ากับพ่อในเวลาที่ได้มีความทุกขเวทนาแสนสาหัสเช่นนี้จึงได้มีใจระลึกถึงประสงค์จะแนะให้รู้เค้าเงื่อนแห่งความประพฤติอันได้ทดลองมาแล้วในชั่วอายุเดียวกันเท่านั้นแต่จะถือเอาเป็นอย่างเดียวกันเหมือนตีพิมพ์ย่อมไม่ได้อยู่เอง

เพราะบริษัทและบุคคลกับทั้งเหตุการณ์ภูมิพื้นบ้านเมืองผิดเวลากัน ในเวลานี้เป็นการสะดวกดีง่ายกว่าแต่ก่อนมากยิ่งนัก ตัวชายใหญ่เองก็ตั้งอยู่ในที่ผิดกันกับพ่อ ถ้าประพฤติตัวให้ดีจะดีได้เร็วกว่าง่ายกว่าเป็นอันมากในการภายใน แต่การภายนอกย่อมหนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจะเป็นการจำเป็นที่จะทำช้าอย่างเช่นพ่อเคยทำมาไม่ได้ การสมัครสมานภายในต้องเรียบร้อยโดยเร็วไว้รับภายนอกให้ทันแก่เวลา….”

สนใจอ่านฉบับเต็ม ดร.นฎาประไพ สุจริตกุล บรรณาธิการจัดทำหนังสือ “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ” ซึ่งก็คือพระราชนิพนธ์ “จดหมายเหตุรายวัน” เป็นที่ระลึกในพิธีบวงสรวงถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันเสาร์ที่ 4 เมษายน ที่จะถึงนี้ เวลา 09.00 น. ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ดร.นฎาประไพ ขอเชิญประชาชนผู้รักชาติและพระมหากษัตริย์ ร่วมพิธี ณ อาคารปฏิบัติธรรม “เบญจมราชวรานุสรณ์” แต่งกายด้วยชุดสุภาพสีขาวทั้งชุด

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“…ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระวิริยอุตสาหะ ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และรัฐศาสตร์ น่าเสียดายที่เสด็จสวรรคตขณะทรงพระเยาว์ (อายุ 17 ปี)…”

หลังจากเสด็จสู่สวรรคาลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในการปฏิสังขรณ์พระอารามวัดมหาธาตุ และก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยนามต่อท้ายวัดมหาธาตุ เป็น “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”

พ.ศ.2553 ในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครบรอบ 116 ปีวันสวรรคต สมเด็จพระบรม โอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อุบาสก อุบาสิกา…ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ดำเนินโครงการจัดสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ และพระราชานุสาวรีย์ฯ

วันที่ 4 มกราคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับโครงการวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานชื่ออาคารปฏิบัติธรรมว่า “เบญจมราชวรานุสรณ์” มีความหมายว่า “เป็นที่ระลึกอันประเสริฐ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” …พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญสัญลักษณ์จักร และตรี…ตราประจำราชวงศ์จักรี ประดิษฐานที่หน้าบันอาคาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างพระรูปหล่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เนื้อสำริด ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประดิษฐานหน้าอาคาร

“จดหมายเหตุรายวัน” พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรม โอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารในหนังสือที่ระลึกพิธีบวงสรวง เผยแพร่เพื่อให้ประชาชนคนไทย ตลอดจนอนุชนรุ่นหลังได้น้อมนำพระจรรยานุวัตรและพระราชกตัญญุตาธรรมที่ทรงมีต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถในการเจริญรอยตามพระบรมราโชบายแห่งการทำนุบำรุงบ้านเมือง สมกับพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ปรากฏบนตราประจำพระองค์ว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ”

ดร.นฎาประไพ บอกว่า เราต้องการสื่อให้เห็นถึงความรักชาติ รักแผ่นดินไทย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตราประจำพระองค์เป็นรูปมงกุฎมีช่อชัยพฤกษ์อยู่ข้างบน มีป้ายแพรแดง มีพระนาม…มหาวชิรุณหิศ แล้วก็มีอักษรย่อ “ร” “จ” “บ” “ต” “ว” “ห” “จ” ย่อมาจาก “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ” “…ให้เด็กรุ่นหลังได้คิด พระมหากษัตริย์ไทยได้ถ่ายทอดสิ่งต่างๆมากมายให้กับลูกหลานคนไทย ให้เกิดความรับผิดชอบต่อวงศ์ตระกูล…ต่อบ้านเมือง”.

Exit mobile version