Truthforyou

พบโควิดสายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ ในไทยแล้ว ระบาดง่าย-กระจายรวดเร็ว หมอจุฬาฯ ห่วงในไทยยังวิกฤต

ยังคงตามติดสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 กันอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ พบในประเทศไทยแล้ว

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดรหัสสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกว่า สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7 ได้ในประเทศไทย เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน ติดเชื้อทั้ง 4 คน โดยที่แม่และลูกเป็นก่อน พ่อเป็นทีหลัง มาจากเมือง Kent ประเทศอังกฤษ และอยู่ใน ASQ โรงพยาบาลเอกชน และเราควบคุมอย่างดี ไม่ให้แพร่กระจายออกไป

การถอดรหัสพันธุกรรมทำให้ทราบว่า สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ของอังกฤษ ที่กลายพันธุ์ที่ทั่วโลกเฝ้าระวังกันมาก และมีการระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ

ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม 2 ราย มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเกาะจับตัวรับของเซลล์มนุษย์ (N501Y)การกลายพันธุ์ที่จุดตัดของสไปรท์โปรตีน (P681H)ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ขาดหายไป (spike 69-70 deletion) และตำแหน่งอื่น ๆ อีก ดังในรูป

สายพันธุ์นี้ทำให้การแพร่ระบาดได้ง่าย และกระจายอย่างรวดเร็ว ในครอบครัวนี้ ก็ติดหมดทั้ง 4 คน

สำหรับประเทศไทย สายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้นและไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขอให้สบายใจได้ ผู้ป่วยทั้ง 4 รายนี้ อยู่ในความควบคุมและระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เชื้อหลุดรอดออกมาได้ ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ในห้องความดันลบ และต้องมั่นใจว่าไม่มีเชื้อแล้วจึงจะออกมา ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่ขยายในประเทศไทยจึงไม่มี

ผู้ที่มาจากประเทศอังกฤษ มาประเทศไทย จะต้องเฝ้าระวัง ในรายที่มาจากต่างประเทศ การถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเป็นฐานข้อมูล จะเป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย หาแหล่งที่มาของโรค

ขณะที่ทางด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “สถานการณ์ทั่วโลก 3 มกราคม 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 628,890 คน รวมแล้วตอนนี้ 84,916,674 คน ตายเพิ่มอีก 8,842 คน ยอดตายรวม 1,842,397 คน อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 284,177 คน รวม 20,860,054 คน ตายเพิ่มอีกถึง 2,313 คน ยอดตายรวม 358,310 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 21,222 คน รวม 10,324,631 คน

บราซิล ติดเพิ่มถึง 32,127 คน รวม 7,716,405 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 26,301 คน รวม 3,212,637 คน

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 3,466 คน รวม 2,643,239 คน

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักหมื่นต่อวัน

สหราชอาณาจักรติดเชื้อเพิ่มเกินห้าหมื่นคนติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อวานนี้ทำลายสถิติมากสุดเท่าที่เคยมีมา 57,724 คน ในขณะที่ไอร์แลนด์ก็กำลังเผชิญการระบาดระลอกสามที่สูงกว่าทั้งสองระลอกที่เคยเผชิญมา ตอนนี้ติดสามพันกว่าต่อวัน

ฝั่งอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น

ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดระลอกสามด้วยการมียอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าระลอกแรกถึง 8 เท่า โดยถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการระบาดซ้ำของทั่วโลก ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากคือเรื่องการดำเนินมาตรการเข้มข้นที่ไม่เพียงพอและไม่ทันเวลา ตอนนี้อัตราตายเฉลี่ย 1.5% สูงกว่าไทยราว 1.6 เท่า

แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

เมียนมา เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนาม และกัมพูชา มีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…สถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 574 คน ตายเพิ่มอีก 14 คน ตอนนี้ยอดรวม 125,616 คน ตายไป 2,711 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%

ลองมาดูข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนของทั่วโลกจนถึงเมื่อวานนี้ 2 มกราคม 2564… ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 11.41 ล้านคน โดยมี 36 ประเทศที่ได้ให้วัคซีนแก่ประชาชนของตนเองไปแล้ว

หากดูตามจำนวนการฉีด 5 อันดับแรกของโลก จะพบว่า อันดับหนึ่งคือจีนฉีดไป 4.5 ล้านคน, ตามด้วยอเมริกา 4.23 ล้านคน, สหราชอาณาจักร 1 ล้านคน, อิสราเอล 1 ล้านคน, เยอรมัน 1.88 แสนคน

ที่น่าสนใจคือ ถ้าวิเคราะห์ตามสัดส่วนการได้รับวัคซีนต่อจำนวนประชากร 100 คน จะพบว่า ประเทศที่นำโด่งมาคือ อิสราเอลซึ่งมีคนได้วัคซีนไปแล้ว 11.55 คนต่อประชากร 100 คน รองลงมาคือ บาร์เรน 3.53, สหราชอาณาจักร 1.47, อเมริกา 1.28, และเดนมาร์ก 0.56 ตามลำดับ

ต้องทำความเข้าใจกันให้ดีว่า วัคซีนนั้นมีหลากหลายชนิดในตอนนี้ โดยมีอัตราการป้องกันโรคได้ที่แตกต่างกันตั้งแต่ประมาณ 60-95%

ทั้งนี้ตามหลักวิชาการแพทย์แล้ว เราอยากให้ประชากรของเรามีภูมิคุ้มกันในสัดส่วนอย่างน้อย 60 คนจากประชากร 100 คน ภายใต้สมมติฐานว่าวัคซีนได้ผลในการป้องกัน 100% หากน้อยกว่า 100 ก็จะต้องฉีดในประชากรจำนวนมากขึ้น

จึงต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศให้ได้มากเพียงพอที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดได้

การตั้งการ์ดของแต่ละคนจึงสำคัญมาก ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ เลี่ยงที่แออัด ล้วนยังจำเป็นต้องทำกันไปในระยะยาว

แม้ไทยจะพยายามหาวัคซีนมา 2 ล้านโดสในเดือนสองเดือนถัดจากนี้ ก็จะยังไม่สามารถทำให้ควบคุมการระบาดวงกว้างได้ แต่ใช้ป้องกันเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่ทำงานด่านหน้า เท่านั้น ความเข้าใจเรื่องนี้จึงสำคัญมาก จะได้ไม่ประมาทกัน

สถานการณ์เมืองไทยตอนนี้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต…

โรงพยาบาลในบางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาด้านภาระงาน จำนวนเตียง รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องทำการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย

ขอเน้นย้ำว่า การระบาดซ้ำแบบนี้จะเร็ว กระจายวงกว้าง หาต้นตอลำบาก ทำให้ต้องใช้เวลาสู้นานกว่าเดิม นอกจากนี้จะทำให้มีการเสียชีวิตมากขึ้นเพราะติดเชื้อจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน ทำให้เกินศักยภาพที่ระบบจะให้บริการตรวจและดูแลได้อย่างทั่วถึง

ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ ประชาชนทุกคนควรป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างเต็มที่ “อย่าให้ติดเชื้อ”

ลักษณะการระบาดซ้ำ มักเกิดในสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน และในกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ วัด ตลาด ห้าง ร้านอาหาร โรงอาหาร โรงเรียน งานแต่งงาน งานศพ งานบวช ปาร์ตี้ต่าง ๆ สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว และสำคัญมากคือ ติดในครัวเรือน สมาชิกครอบครัวเอาเชื้อมาแพร่แก่กันโดยไม่รู้ตัว”.

Exit mobile version