ศบค.ประกาศ 8 จังหวัด-กทม. “ยกระดับความรุนแรง” พร้อมเปิดไทม์ไลน์ 2 ผู้เสียชีวิต อย่างละเอียด

3665

ยังคงต้องตามติดสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงข่าวว่า

วันนี้พบผู้ติดเชื้อยืนยัน 279 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในประเทศ 257 ราย ในสถานกักกัน 6 ราย และติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว 16 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 7,163 ราย รักษาหายแล้ว 4,273 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมเป็น 63 ราย

โดยผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ มีผู้เกี่ยวข้องกับจังหวัดสมุทรสาคร 3 ราย / เกี่ยวข้องกับจังหวัดระยอง 2 ราย / ผู้มีประวัติเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง อาชีพเสี่ยง 16 ราย / และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 235 ราย อยู่ในจังหวัด อาทิ สมุทรสาคร 89 ราย ชลบุรี 51 ราย ระยอง 37 ราย จันทบุรี 29 ราย สมุทรปราการ 13 ราย ทำให้ขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 53 จังหวัด โดยเพิ่มขึ้น 2 จังหวัด คือ ลำพูน และ สระแก้ว

ขณะนี้ เราต้องการความร่วมมือของทุกคน และจากสิ่งที่ประชุมได้พูดคุยกันคือ น่าจะต้องมีการขอความร่วมมือจังหวัด ให้เข้มมาตรการใน 8 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร คือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ซึ่งจะขอให้ปิดสถานบันเทิง โดยให้แค่ซื้ออาหารกลับเท่านั้น

ช่วงปีใหม่ที่เราไม่งดทั้งหมด ก็อาจจะต้องดูแลการเคลื่อนย้ายให้มากที่สุด รวมถึงนักท่องเที่ยวก็ต้องดูแลตัวเอง ไม่นำเชื้อไปสู่คนอื่น พร้อมได้กำชับแรงงานต่างด้าง ให้หยุดเคลื่อนย้ายด้วย นอกจากนี้ ได้แจ้งข่าวดีว่า วัคซีน ประเทศไทย จะได้เร็วกว่ากำหนด โดยอาจจะได้ในเดือน ก.พ.นี้ ดังนั้น ช่วงนี้ขอให้ตั้งการ์ดสูงกว่าเดิม

ส่วนกรณี ศบค. รายงานมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มอีก 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 63 ราย นั้น

ผู้เสียชีวิตรายแรก ชายไทย อายุ 44 ปี เป็นผู้ป่วยรายที่ 62 มีรูปร่างอ้วน มีไทม์ไลน์คือ

20 ธ.ค. 2563 ไปที่ร้านอาหารกึ่งบาร์ในกรุงเทพฯ

26-27 ธ.ค. 2563 มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก

28 ธ.ค. 2563 มีไข้ เหนื่อยหอบ

30 ธ.ค. 2563 รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น ไปตรวจที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ พบออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือ 80 ส่งต่อไปที่ห้องไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ 22.00 น. ผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19

31 ธ.ค. 2563 อาการไม่ดีขึ้น ระบบหายใจล้มเหลว ส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ 15.00 น. เสียชีวิต
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ในครอบครัว 7 คน และในโรงพยาบาล 6 คน

ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 70 ปี เป็นผู้ป่วยเสียชีวิตรายที่ 63 อยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก มีโรคประจำตัวคือ โรคหลอดเลือดสมอง นอนติดเตียง มีไทม์ไลน์คือ

29 พ.ย. 2563 ลักลอบเดินทางเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ อาการคล้ายหวัด

4 ธ.ค. 2563 มีอาการหอบเหนื่อน เรียกรถรพ.เอกชน มารับที่บ้าน นำส่ง รพ.รัฐ ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19

31 ธ.ค. 2563 รักษาโควิด ครบแล้ว มีอาการปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว 22.00 น. เสียชีวิต

สำหรับกรณีความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ติดเชื้อโควิด-19 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ว่าฯ ยังคงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และได้รับยานอนหลับ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการรักษาและปรับท่านอนที่มีผลต่อระดับออกซิเจนในเลือด

เนื่องจากมีการปรับท่านอนให้ใกล้เคียงปกติ แต่พบว่าระดับออกซิเจนในลดลง จึงต้องให้นอนท่าคว่ำเหมือนเดิม โดยให้ความสำคัญติดตามปัญหาภาวะปอดอักเสบ ที่ยังเป็นอยู่และยังต้องใช้เวลาประเมินอีก 48 ชม. เพราะโควิดเข้าไปทำลายเนื้อปอด อาจมีผลต่อการทำงานของปอดไม่ได้ดีเหมือนเดิม ภาพรวมอาการคงที่ ส่วนเรื่องการทำงานอวัยวะอื่นยังคงทำงานตามปกติ ทั้งชีพจร ความดันโลหิต ปัสสาวะออก ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ห่วงแค่เรื่องปอดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายเกรียงไกร จงเจริญ ผอ.สำนักการศึกษากทม.ได้ออกประกาศสำนักการศึกษา เรื่องปิดสถานศึกษาชั่วคราว เนื่องจากเหตุพิเศษ (ฉบับที่ 3) เมื่อวันที่ 1 ม.ค.64 โดยระบุ ตามประกาศสำนักการศึกษา วันที่ 23 ธ.ค.63 ที่ให้มีการปิดสถานศึกษาชั่วคราวในโรงเรียนสังกัดกทม. ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.63-1 ม.ค.64 จากสถานการณ์โควิด-19 น้้น

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่กทม.มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดในโรงเรียนสังกัดกทม. จึงให้ปิดโรงเรียนในสังกัดกทม.ตั้งแต่วันที่ 4-17 ม.ค.64 จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ให้โรงเรียนจัดเตรียมการเรียนการสอนชดเชยในภายหลัง

ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ว่า มีการกำหนดพื้นที่ 3 เขตใน กทม. เป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” ได้แก่ เขตหนองแขม เขตบางพลัด และเขตบางขุนเทียน โดยให้ผู้อำนวยการเขตมีอำนาจดูแลมาตรการมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเว้นระยะห่างและปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งประกาศคำสั่งดังกล่าวน่าจะออกมาอย่างเป็นทางการในวันนี้

นอกจากนี้ โฆษก กทม. ยังระบุว่า จะมีการออกประกาศมาตรการเพิ่มเติมในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ด้วยการนับหนึ่งใหม่ในการปิดสถานที่ต่างๆ รวมทั้งจะมีการหารือกับ ศบค. ถึงการออกมาตรการบังคับไม่ให้มีการนั่งกินในร้านอาหาร หรือให้เฉพาะ take away เท่านั้น