สภาคองเกรซสหรัฐผ่าทางตันงบฯสู้โควิดกลายพันธ์ุ!?! กดดันทรัมป์ลงนามกม.ใหม่มูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

1567

ทั้งสองสภา -สภาผู้แทนราษฎรที่เดโมแครตครองเสียงข้างมาก และวุฒิสภาที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ได้ร่วมกันกดดันจนปธน.ทรัมป์ยอมลงนามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเยียวยาโควิด-19 ฉบับใหม่จำนวน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้รอดจากการชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาลไปได้หวุดหวิด ขณะที่การ”วีโต้”งบฯกลาโหมของทรัมป์ ถูกสภาล่างตีตกเรียบร้อย จับตาภาระการเงินการคลังที่ไบเดนจะต้องเป็นผู้มาแบกรับต่อ ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 กลายพันธ์ุ และภาวะหนี้สาธารณะท่วมกว่า 100% ของจีดีพี

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยินยอมลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่และแผนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นงบประมาณเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และงบประมาณของหน่วยงานรัฐบาลวงเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนวันอาทิตย์ตามเวลาในสหรัฐฯ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการขัดดาวน์หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ และคนว่างงานหลายล้านคนได้รับสวัสดิการชดเชยเพิ่มขึ้น ขณะที่การวีโต้งบฯกลาโหมของทรัมป์ถูกตีตกไป โดยสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงข้างมาก

ปธน.ทรัมป์ ซึ่งกำลังจะลงจากตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564 ยอมถอยจากคำขู่ก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ลงนามในร่างงบประมาณและแผนช่วยเหลือดังกล่าวเพราะต้องการให้เพิ่มเงินช่วยเหลือจากเดิมคนละ 600 ดอลลาร์เป็น 2,000 ดอลลาร์ แต่ในที่สุดผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามรับรองเป็นกฎหมายแล้วหลังจากเผชิญแรงกดดันจากสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองพรรค แม้จะยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าเหตุใดประธานาธิบดีทรัมป์จึงเปลี่ยนใจก็ตาม

การลงนามในร่างงบประมาณและแผนช่วยเหลือมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์นี้มีขึ้นที่บ้านพักตากอากาศของทรัมป์ในรัฐฟลอริดา หลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ กลับจากการออกรอบตีกอล์ฟในวันอาทิตย์ โดยปธน.ทรัมป์ กล่าวภายหลังการลงนามว่า ตนต้องการส่งสัญญาณไปยังรัฐสภาว่าให้กำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และว่า “จะมีเงินก้อนใหญ่ตามมาอีก” ทางทำเนียบขาวยังคงไม่แสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ที่ปรึกษาของทรัมป์แนะนำให้ยินยอมลงนามเพราะไม่เห็นประโยชน์อะไรจากการแข็งขืนเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน ดัชนีหุ้นในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์สืบเนื่องจากข่าวที่ปธน.ทรัมป์ ยอมลงนามในร่างงบประมาณและแผนช่วยเหลือฉบับใหม่ ซึ่งช่วยหลีกเลี่ยงการปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันอังคารนี้ 

แผนบรรเทาทุกข์จากโควิด 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือมูลค่า 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26.88 ล้านล้านบาท) ประกอบด้วย

-การจ่ายสวัสดิการว่างงานสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,960 บาท) 

-การจ่ายเงินให้ประชาชนโดยตรง 600 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว17,920 บาท) 

-สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก 330,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.85 ล้านล้านบาท) 

-เงินช่วยเหลือโรงเรียนกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.39 ล้านล้านบาท) -เงินจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อีกหลายพันล้านดอลลาร์ 

ส่วนค่าใช้จ่ายหน่วยงานรัฐบาลมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 41.81 ล้านล้านบาท) 

ปธน.ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ด้วยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่มีพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก มีแผนจะลงมติในวันจันทร์นี้ว่าจะเพิ่มจำนวนเงินช่วยเหลือคนอเมริกันจาก 600 ดอลลาร์ เป็น 2,000 ดอลลาร์หรือไม่ พร้อมกระตุ้นให้วุฒิสภาสหรัฐฯที่ครองโดยพรรครีพับลิกันให้ยอมรับแผนจ่ายเงินเพิ่มที่ว่านี้

รายจ่ายสูงและหนี้สาธารณะยังพุ่ง

รายงานของสำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (ซีบีโอ) บ่งชี้ว่า หนี้สินรัฐบาลกลางสหรัฐจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 98% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ปี 2563 เมื่อเทียบกับระดับ 79% ของปี 2562 และ 35% ของปี 2550 นอกจากนี้หนี้สินรัฐบาลสหรัฐยังทะยานกว่า 100% ของจีดีพีปี 2564 และพุ่งแตะ 107% ในปี 2566 ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ และคาดว่าภายในปี 2573 ระดับหนี้สินจะอยู่ที่ 109% ของจีดีพีประเทศ

ซีบีโอ ยังคาดการณ์ว่าสหรัฐจะขาดดุลงบประมาณทั้งหมด 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณล่าสุดที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งมากถึง 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่แล้ว และการขาดดุลงบประมาณที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2488 โดยปัจจัยหลักมาจากการทุ่มงบประมาณช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ลดลงในช่วงโควิดระบาด ที่หนุนการขาดดุลงบประมาณให้พุ่งสูงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการผลักดันเงินช่วยเหลือเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่นี้