หมอใหญ่เฟาซีเตือนเครียด?!? วิกฤตโควิดกลายพันธ์ุหายนะรออยู่ ขณะคนอเมริกันยังเดินทางช่วงหยุดยาวกว่า 85 ล้านคน

1715

แพทย์ใหญ่สหรัฐ ดร.แอนโธนี เฟาซีเตือนคนอเมริกัน “หายนะครั้งใหญ่จากโควิด-19กลายพันธ์ุยังรออยู่ข้างหน้า” ขณะโจ ไบเดนประกาศยุทธศาสตร์ 100 วันรับมือระบาดหนัก แม้มีวัคซีนและฉีดแล้วบางส่วนและเล็งประกาศแผนฉุกเฉินในสถานการณ์สงคราม เพื่อผลิตวัคซีนให้พอใช้ แต่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยยังเดินทางทั่วประเทศกว่า 10 ล้านคนช่วงวันหยุดยาว สถานการณ์เช่นนี้ประหนึ่งยอมรับว่าสหรัฐกำลังเผชิญสงครามเชื้อโรค ที่ไม่อาจคาดเดาศัตรูไวรัสจิ๋วมรณะ ท่ามกลางการระบาดไวรัสโควิด-19 กลายพันธ์ุ มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 81 ล้านราย เสียชีวิต กว่า 1.7 ล้านรายแล้ว

สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ และหัวหน้าทีมเฉพาะกิจเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำทำเนียบขาว ส่งคำเตือนหลังผู้ติดเชื้อไวรัสในสหรัฐและทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจาย และอันตรายมากขึ้นกว่าเดิม

29 ธ.ค.2563 จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก 81,540,231รายเป็นที่เรียบร้อย และมีผู้เสียชีวิต 1,779,008 รายทั่วโลก ขณะที่ในสหรัฐมีผู้ติดเชื้อจำนวน 19,573,843 ราย เสียชีวิต 341,138 ราย

นายแพทย์เซาฟีแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ และเห็นด้วยกับคำพูดของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่มองว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้าพร้อมเตือนว่าสหรัฐกำลังอยู่ใน “จุดวิกฤต” เนื่องจากชาวอเมริกันจำนวนมากเพิกเฉยต่อแนวทางปฏิบัติในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

เช่นเดียวกับสกอตต์ กอตต์ลีบ อดีตหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา และสมาชิกคณะกรรมการของไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ให้สัมภาษณ์กับ CBS ว่า “มีเดือนที่น่ากลัวรออยู่ข้างหน้า” โดยเชื่อว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา สวีเดน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้เข้ามาในสหรัฐแล้ว และขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังเฝ้าระวังแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลให้โรครุนแรงขึ้นก็ตาม  ทั้งนี้ สหรัฐเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. ขณะที่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยก่อนหน้านี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น มีแนวโน้มว่าจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมถึงผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นในปีหน้า

ช่วงเดือนต.ค.2563 ดร. เฟาซี ได้เปิดเผยว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากอาจไม่สามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้จนกว่าจะถึงปลายปี 2564 หรือในปี 2565เราจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงปลายปี 2564 และอาจจะถึงปีถัดไป” 

นายแพทย์เฟาซีกล่าวในระหว่างการสัมมนาพิเศษทางออนไลน์ ภายใต้หัวข้อมุมมองทั่วโลกต่อโรคโควิด-19 (Conversations on COVID-19: The Global View) ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) โดยเขาเปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นทุกวันในสหรัฐ “กำลังเป็นปัญหา” และทุกคนคงรับรู้ได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว

เฟาซีชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายลงภายในประเทศนั้นมีสาเหตุมาจาก ความแตกแยกของรัฐต่างๆ ในการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพ อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย “หากทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ผมคิดว่าเราคงไม่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ การสวมหน้ากากอนามัยในสหรัฐ เกือบจะกลายเป็นเรื่องทางการเมืองไปแล้ว” เขาระบุ “ประชาชนถูกหัวเราะเยาะเพราะสวมหน้ากากอนามัย มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ฝั่งไหนของการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากสำหรับผมในฐานะแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักสาธารณสุข” นายเฟาซีกล่าว พร้อมเสริมว่า เขายังคงระมัดระวังเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดใหญ่ของประเทศโดยรวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขารู้สึกเป็นกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ในอีกหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวและเทศกาลวันหยุด

อเมริกันไม่กลัวโควิด-หยุดยาวเดินทางกันอุตลุด

สำนักงานดูแลความปลอดภัยด้านการคมนาคมของสหรัฐฯ หรือ TSA เปิดเผยว่า มีคนอเมริกันเดินทางด้วยเครื่องบินตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน ถือเป็นช่วงที่มีการโดยสารเครื่องบินมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ

TSA ระบุว่ามีผู้โดยสารตามสนามบินต่าง ๆ ทั่วประเทศเกือบ 1.3 ล้านคนในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินต่อวันที่มากที่สุดในรอบกว่า 9 เดือน แม้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC เตือนคนอเมริกันให้หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปี เนื่องจากอาจทำให้การระบาดของโคโรนาไวรัสรุนแรงขึ้น แม้ว่าจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชากรบางกลุ่มไปแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

ด้านสมาคมยานพาหนะอเมริกัน (American Automobile Association) หรือ AAA ประเมินว่าจะมีชาวอเมริกันเดินทางด้วยรูปแบบต่าง ๆ ราว 85 ล้านคนในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่นี้ ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางด้วยรถยนต์

สงครามเชื้อโรคความท้าทายการนำของโจ ไบเดน

นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะประกาศใช้กฎหมายการผลิตยามสงคราม (Defense Production Act) หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค.2564 เพื่อเร่งการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 “ท่านจะประกาศใช้กฎหมายการผลิตยามสงคราม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีการผลิตชุด PPE, ชุดตรวจสอบโควิด และมีการจัดสรรวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนอย่างเพียงพอ” พญ.เซลีน กาวน์เดอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโควิด-19 ของนายไบเดน กล่าว

กฎหมายการผลิตยามสงครามจะให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐในการสั่งการให้บริษัทต่างๆทำการผลิตในสิ่งที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้สหรัฐได้รับวัตถุดิบที่มีความจำเป็นในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19สื่อรายงานก่อนหน้านี้ว่า บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ได้เคยยื่นเรื่องต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อให้ช่วยหลือบริษัทในการได้รับวัตถุดิบที่มีความจำเป็นในการผลิตวัคซีน แต่ก็ต้องผิดหวังต่อท่าทีที่เฉยเมยของรัฐบาล

สื่อสหรัฐเปิดเผยว่า ไฟเซอร์ได้บรรลุข้อตกลงจัดส่งวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19จำนวน 200 ล้านโดสให้แก่รัฐบาลภายในเดือนก.ค.ปีหน้า โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะต้องประกาศใช้กฎหมายการผลิตในยามสงคราม เพื่อช่วยให้ไฟเซอร์สามารถเข้าถึงวัตถุดิบพิเศษจำนวน 9 รายการที่มีความจำเป็นในการผลิตวัคซีน

ยุทธศาตร์ 100 วันและทีมสาธารณสุข

ไบเดน ซึ่งมีกำหนดสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า ประกาศยุุทธศาสตร์ 100 วันต่อสู้โรคโควิด-19 โดยให้มีผลทันทีที่เขารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเพื่อเปลี่ยนทิศทางของโรค โดยแผนที่ว่านี้ มีแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ -การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า -การให้โรงเรียนส่วนใหญ่กลับมาจัดการเรียนการสอนตามปกติในห้องเรียน พร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสูงสุด 30,000 ล้านดอลลาร์ -ฉีดวัคซีนให้ชาวอเมริกัน 100 ล้านคนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ฟรี นอกจากนี้ ไบเดนยังแนะนำคณะทำงานด้านนโยบายสาธารณสุขในรัฐบาลชุดใหม่ 7 คน ซึ่งมีกำหนดเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 20 ม.ค. 

ฮาเวียร์ บีเซอร์รา ผู้ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งรมว.กระทรวงสาธารณสุข พล.ร.ท.นพ.วิเวก เมอร์ธีย์ ว่าที่เจ้ากรมการแพทย์ และพญ.โรเชล วาเลนสกี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ( ซีดีซี )แพทย์หญิงมาร์เซลลา นูเนซ-สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านความไม่เสมอภาคในการดูแลสุขภาพ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในการรักษาโรคโควิด-19 นายเจฟฟ์ เซียนท์ อดีตผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ จะเป็นผู้ประสานงานการรับมือสถานการณ์โควิด-19 และที่ปรึกษาขอประธานาธิบดี

แม้นายบีเซอร์รา อัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ว่าที่รมว.สาธารณสุข จะไม่ได้ สำเร็จการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และงานด้านสาธารณสุข และไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการทำงานด้านนี้มาก่อน แต่การที่ไบเดนเลือกให้เตรียมทำหน้าที่บริหารกระทรวงสาธารณสุข น่าจะมาจากทรรศนะของบีเซอร์รา ซึ่งมีจุดยืนหนักแน่น ว่าสนับสนุนกฎหมายประกันสุขภาพ ที่รู้จักกันในชื่อ “โอบามาแคร์” เนื่องจากเกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เมื่อปี 2557 และไบเดนต้องการผลักดันให้มาตราของกฎหมายที่ถูกระงับไปโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมามีผลบังคับใช้อีกครั้ง  เขาจะเป็นชาวละตินคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรมว.สาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐ โดยจะมีหน้าที่ควบคุมดูแลการแจกจ่ายวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ด้านนพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติ ( เอ็นไอเอช ) ตอบรับคำเชิญไบเดน ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อง ในตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อตอบสนองวิกฤติโรคโควิด-19 โดยไบเดนจะแต่งตั้งให้นพ.เฟาซีเป็นหัวหน้าคณะทำงานอย่างเป็นทางการ และเตรียมดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำตัวประธานาธิบดีด้วย