ในหลวงถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตาก ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแผ่นดินไทย

2463

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ ถวายราชสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

วันนี้  เวลา 17.56 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

เมื่อเสด็จฯถึงลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ ถวายราชสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่า ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากราชธานีจนหมดสิ้น ต่อมาทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2310 และยังทรงทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่น เช่นเดียวกับขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง

เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธ.ค. ของทุกปี เป็น ‘วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน’ และถวายพระราชสมัญญานามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ กอบกู้เอกราชของชาติไทย และสร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประดับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐานบนแท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ออกแบบปั้นโดยศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรผู้เข้ามารับราชการในประเทศไทย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เดิมชื่อ “สิน” ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2277 บิดาเป็นชาวจีนชื่อ “ไหฮอง” มารดาชื่อ “นกเอี้ยง” ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา

พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการศึกเป็นอย่างยิ่ง ฉลาดเลิศ มีความมานะ อดทน กล้าหาญ จึงเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ ตามลำดับ คือ เป็นพระยาตาก เจ้าเมืองตาก ได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แต่ยังมิทันได้ไปปกครองเมือง พม่าก็ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา จึงอยู่ช่วยราชการในเมืองหลวง ทรงบัญชาการสู้รบกับพม่าอย่างเข้มแข็ง จนพม่าต้องล่าถอยกลับไปหลายคลา

หลังจากนั้น 6 เดือน พม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีก พระยาวชิรปราการคิดว่าครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาคงไม่พันเงื้อมมือพม่าเป็นแน่แท้ เนื่องจากบ้านเมืองระส่ำระสาย ไพร่พลอิดโรย ขาดเสบียงอาหาร และขาดศาสตราวุธ ประกอบกับขาดการประสานงานที่ดีระหว่างแม่ทัพ นายกอง

และในที่สุดก็เสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2310 สำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ที่ทำให้พระองค์ได้รับสมัญญาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ พระราชกรณียกิจการกอบกู้เอกราช พระองค์ทรงใช้เวลา 5 เดือนเศษ ในการรวบรวมไพร่พล ทรงยกทัพไปต่อสู้กับพม่า ซึ่งตั้งอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามตัน ธนบุรี และได้รับชัยชนะในที่สุด เป็นการกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยกลับคืนมา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2310

หลังจากเสียกรุงแก่พม่าเพียง 7 เดือน พระองค์ทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จ.ศ. 1129 ปีชวด ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานกันทั่วไปตามพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระชนมายุได้ 48 พรรษา รวมระยะเวลาทรงครองราชย์ 15 ปี