Truthforyou

สมเด็จพระบรมราชินีฯ ทรงสืบสานพระราชเสาวนีย์พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อนุรักษ์และฟื้นฟูโขน

สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงสืบสานพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และฟื้นฟู การแสดงโขน ศิลปวัฒนธรรมไทย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติ

วันนี้ (25 ธันวาคม 2563) เวลา น. สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน
โดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทอดพระเนตรการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์
ชุดหนุมานชาญคำแหง ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นการส่วนพระองค์
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงสนพระราชหฤทัย

และทรงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับงานศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
ทรงเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติเสมอมา อีกทั้ง
ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา อนุรักษ์และฟื้นฟูการแสดงโขน ปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่
เกิดความรัก และความภาคภูมิใจในคุณค่าของศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย สนองพระราชเสาวนีย์ของ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงเล็งเห็นว่า หากไม่ได้
รับการอนุรักษ์ไว้ ก็จะทำให้สูญหายไปตามกาลเวลา ในการนี้ พระราชทานพระราชดำริในการอนุรักษ์
และฟื้นฟูการแสดงโขน กับพระราชทานกำลังใจแก่คณะผู้แสดงโขนด้วย

การแสดงโขน ถือได้ว่าเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติ
ด้วยมีท่ารำและการย่างกรายที่มีทั้งความสง่างาม และอ่อนช้อย ขึ้นอยู่กับจังหวะและการดำเนินเรื่อง
อีกทั้งลักษณะสำคัญอีกประการ คือ ผู้แสดงต้องสวม “หัวโขน” ทุกตัว ยกเว้นตัวพระ ตัวนาง และเทวดา
รวมทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ การแต่งหน้า ล้วนงดงามมีรายละเอียดเป็นเอกลักษณ์ทั้งสิ้น

ดังนั้น พระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูการแสดงโขน จึงไม่ใช่เป็นเพียงการฟื้นฟูนาฏศิลป์
แต่เป็นการพลิกฟื้นศาสตร์และงานฝีมือช่างหัตถศิลป์ไทยหลายสาขาอีกด้วย
ซึ่งในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมานชาญคำแหง ในวันนี้ เป็นการแสดงเรื่องราวของ
ตัวละครที่สำคัญของเรื่องรามเกียรติ์ คือ หนุมาน ตั้งแต่ตอนกำเนิดหนุมาน จนถึงช่วยพระรามรบชนะทศกัณฐ์
และได้รับพระราชทานสมญาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตจักรกฤษณ์พิพรรธพงศา ครองเมืองนพบุรี จำนวน 6 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 วานรอ่อนแรงด้วยสาปพระอุมา องก์ที่ 2 ถวายตัวเป็นข้า ฯ รับอาสาสืบหนทาง องก์ที่ 3
ล้างสหัสกุมาร องก์ที่ 4 ขุนทหารถมศิลาจับมัจฉาอรทัย องก์ที่ 5 กุมภัณฑ์พ่ายแพ้หนุมาน และองก์ที่ 6
ขุนทหารครองพารา

ทั้งนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติเป็นประจำทุกปี และนับเป็นวาระพิเศษที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนการแสดงโขนไทย (KHON: MASKED DANCE DRAMA IN THAILAND) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา

Exit mobile version