3 นายแพทย์ดัง วิเคราะห์ทางรอด สถานการณ์โควิด-19 สร้างรพ.สนามรับมือ แนะ 10 ข้อต้องทำทันที

2399

หลังจากที่มีรายงานว่าทางด้านนายกรัฐมนตรี จะมีการประชุมหารือ ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณามาตรการควบคุมโควิด-19 ในเวลา 09.30 น. นั้น ซึ่งก็เป็นที่จับตามองว่า จะมีทางออกในการล็อกดาวน์หรือไม่

ล่าสุดทางด้านหมอเหรียญทอง แน่นหนา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุชี้แนะถึงแนวทางการรับมือของโรงพยาบาลว่า “ข้อเสนอแนะโรงพยาบาลสนามและปฏิบัติการร่วมฯ


1. รพ.สนามในพื้นที่ควบคุมที่ปิดเมืองและปิดพื้นที่
2. รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อรับการส่งต่อจาก รพ.สนามตามข้อ 1

ผมขอขยายความดังนี้ครับ

1. รพ.สนามในพื้นที่ควบคุมที่ปิดเมืองและปิดพื้นที่ดังเช่น จ.สมุทรสาคร เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากและเพื่อให้การตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและสอบสวนโรค สามารถคัดแยกกักกันผู้ติดเชื้อและผู้ต้องสงสัยควบคู่กันไปด้วยโดยเน้นย้ำว่าไม่ใช้โรงพยาบาลประจำถิ่น ไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนในการกักกันหรือสอบสวนโรคนะครับ เพราะนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแล้วยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจำนวนมากด้วย ทั้งยังส่งผลให้โรงพยาบาลประจำถิ่นพร่องขีดความสามารถในทางการแพทย์ลงส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 (Non-COVID 19) ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผู้ป่วยโควิด-19 (Non-COVID 19) เสียด้วยซ้ำ แต่ต้องถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมโดยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโรคทั่วไปได้อย่างสมควรซึ่งจะส่งผลเสียกระทบต่อผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ครับ ดังนั้น

โรงพยาบาลสนาม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ ศบค.ต้องรีบดำเนินการ ลำพังอัตรากำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ในสังกัดหน่วยขึ้นตรงกระทรวงสาธารณสุขและส่วนราชการจังหวัดสมุทรสาครอาจไม่เพียงพอ จึงต้องเป็นปฏิบัติการร่วม พลเรือน ตำรวจ ทหาร จากส่วนราชการต่าง ๆ เช่น กระทรวงกลาโหม , กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ซึ่งอาจหมายรวมถึงจิตอาสาพลเรือนนอกสังกัดราชการ เช่น จิตอาสาบุคลากรทางการแพทย์ในการสนับสนุนด้วยเพื่อให้‘ปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนาม’ ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร สัมฤทธิผล


อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยังเป็นส่วนราชการหลักในการควบคุมบังคับบัญชาหน่วยสมทบจากส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนามมีความเป็นเอกภาพ ทั้งนี้การสั่งการส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อประกอบกำลังจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนามระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร อยู่ในอำนาจของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.

โดยการระบาดระลอกแรกเมื่อห้วงเดือน ก.พ.-พ.ค.63 ได้มีแผนการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ที่กองทัพหรือส่วนราชการกลาโหมได้เตรียมการไว้ด้วยการใช้อาคารโรงเรือนทหาร โรงเรียน สถานที่ต่างๆของรัฐ ฯลฯ แล้ว ด้วยแนวทางนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลประจำถิ่นในพื้นที่ควบคุมยังคงขีดความสามารถในทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 (Non-COVID 19) ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผู้ป่วยโควิด-19 (Non-COVID 19) แต่ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมดังเช่นจังหวัดสมุทรสาครให้สามารถเข้าถึงการรักษาโรคทั่วไปได้อย่างสมควร หรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระลอกใหม่น้อยที่สุด

ทั้งนี้โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ควบคุมดังเช่นจังหวัดสมุทรสาครสมควรจะต้องมี ‘หน่วย ไอ ซี ยู สนาม (Field ICU) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19’ ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจให้สามารถดำเนินการได้อย่างเบ็ดเสร็จเพื่อให้ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักออกนอกพื้นที่ควบคุมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนามระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร จิตอาสา จะสามารถใช้เป็นต้นแบบนำร่อง หากเกิดการระบาดเป็นพื้นที่ในภูมิภาคอื่น ๆ

2. รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อรับการส่งต่อจาก รพ.สนามตามข้อ 1 เป็นข้อเสนอเพื่อเตรียมการไว้ในกรณีที่สถานการณ์การติดเชื้อได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างนอกพื้นที่ควบคุม ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดที่มีลักษณะการระบาดเป็นภูมิภาค หรือเป็นภาค หรือแม้กระทั่งทั่วราชอาณาจักรก็ตามดังสรุปต่อไปนี้

2.1 กำหนดให้โรงพยาบาลทหารทั่วราชอาณาจักรในทุกเหล่าทัพสังกัดกระทรวงกลาโหม และหมายรวมถึงโรงพยาบาลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยทำหน้าที่เป็น ‘โรงพยาบาลเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19’ ประจำพื้นที่ภาคและ/หรือภูมิภาค แต่ด้วยปัจจัยจำกัดในด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ ของกองทัพจึงให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมกำลังขีดความสามารถทางการแพทย์สนับสนุนโรงพยาบาลทหารเพื่อให้โรงพยาบาลทหารและตำรวจเป็น ‘โรงพยาบาลที่รับการส่งต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ควบคุมดังเช่นจังหวัดสมุทรสาครที่มีอาการป่วยและจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลนอกพื้นที่ควบคุม’

2.2 กำหนดให้กองพันเสนารักษ์ทุกกองพัน และ/หรือหน่วยสายแพทย์จากทุกเหล่าทัพซึ่งหมายรวมถึงตำรวจด้วย ทำหน้าที่เป็น ‘หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19’ภายใต้การควบคุมสั่งการของกระทรวงสาธารณสุขและเพิ่มเติมกำลังโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ทำหน้าที่ศูนย์ควบคุมประสานงานเพื่อให้ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ออกนอกพื้นที่ควบคุม ระหว่างภูมิภาคหรือระหว่างจังหวัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2.3 กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุดมศึกษา สนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรเพื่อเพิ่มเติมขีดความสามารถโรงพยาบาลทหารให้สามารถเป็น ‘โรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 นอกพื้นที่ควบคุม’ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

2.4 กำหนดให้สถาบันบำราศนราดูร และ/หรือสมทบด้วยโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์เป็น ‘โรงพยาบาลตติยภูมิขั้นสูงเฉพาะผู้ป่วยโควิดที่จำเป็นต้องรับการรักษาเฉพาะทางขั้นสูงที่เกินขีดความสามารถโรงพยาบาลทหารตำรวจ’ ด้วยความปรารถนาดีครับ”


ขณะที่ทางด้านรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 675,510 คน รวมแล้วตอนนี้ 78,920,720 คน ตายเพิ่มอีก 13,805 คน ยอดตายรวม 1,734,672 คน

…ลองวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของไทยเรา…

Q1: ระบาดซ้ำ ระบาดระลอกสอง ระบาดครั้งใหม่ หรือระบาดอีกครั้ง (เอาคำไหนก็ได้ที่สบายใจ ความหมายเหมือนกัน) จะไปจบอยู่ที่ไหน?

A1: ลักษณะการระบาดแบบดาวกระจาย มีทั้งแรงงานต่างด้าว รวมถึงคนไทยที่ติดเชื้อ แล้วเดินทางไปมากมายหลายจังหวัด ดูไทม์ไลน์พบว่ากระจายไปทุกหัวระแหงในชุมชน ทั้งย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า ตลาด ฯลฯ ทำให้มีโอกาสกระจายได้มากเกินกว่าจะตามตรวจเชิงรุกได้หมดทุกคน

ส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามีความเป็นได้สูงที่ยอดติดเชื้อเราจะเพิ่มขึ้นมากครับ ขึ้นอยู่กับว่าจะดำเนินมาตรการเข้มข้นได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ และทันเวลาหรือไม่

Best scenario ที่มองตอนนี้คืออาจไปถึงอันดับประมาณฮ่องกง

แต่ Worst scenario ที่อาจเกิดขึ้นหากคุมไม่ได้ในอีกไม่ถึง 4 สัปดาห์ข้างหน้า ก็คงจะต้องสู้ยืดเยื้อยาวหลายเดือน และไปจบแถวๆ อันดับประมาณออสเตรเลียถึงฟินแลนด์

Q2: หลายคนถามมาตรง ๆ ว่า จะทำตัวอย่างไรดี? ฟังแถลงก็เหมือนจะตะล่อมให้เข้าใจว่าเอาอยู่ๆ แต่ดูสถานการณ์แล้วยังนึกในใจว่า “จริงเหยอ”?

A2: ถามตรง ๆ ก็ตอบตรง ๆ ครับว่า “ตอนนี้วิกฤติ”ครับ

ดาวกระจายไปทั่วทุกภาค คนติดเชื้อเดินทางไปใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ทุกที่เช่นนี้ หากดูตามบทเรียนของต่างประเทศทั่วโลก ไม่มีทางที่จะตามหาคนสัมผัสความเสี่ยงได้หมดอย่างแน่นอน

กลไกการค้นหาเชิงรุก และกลไกติดตามตัว จะมีศักยภาพเพียงระดับหนึ่ง และไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมทั้งหมดได้ครับ สหราชอาณาจักรก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกมายอมรับว่าระบบ contact tracing นั้นไม่สามารถช่วยคุมการระบาดได้

ผมมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นอกจากจำเป็นต้องสู้กันอย่างพร้อมเพรียง อยู่กันนิ่งๆ ปีใหม่คงต้องฉลองกันแค่ในครอบครัว ลดละเลี่ยงการเดินทางระหว่างจังหวัด และต้องเพิ่มบริการตรวจโควิดให้มากกว่านี้ เพราะตอนนี้ตรวจน้อยมากไม่เพียงพอ ไม่มีทางที่จะควบคุมการระบาดได้

อีกไม่ถึง 4 สัปดาห์ถัดจากนี้ ขอให้รักตัวเอง ป้องกันตัวอย่าให้ติดเชื้อ

1. การกิน : ปีใหม่นี้ควรซื้ออาหารกลับไปกินที่บ้าน หรือสั่งอาหารมาส่งที่บ้าน รับของแล้วก็พ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ด้วย การกินที่ร้าน โดยเฉพาะที่เป็นระบบปิด ติดแอร์ อากาศไม่ถ่ายเท มีโอกาสแพร่และรับเชื้อได้ หากจะนั่งกิน ควรกินโดยใช้เวลาน้อยๆ ร้านไหนแออัด…ควรเลี่ยง เลี่ยงการแชร์ของกินหรืออุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น

2. การซื้อสินค้า/บริการ/การเดินทาง : นำถุงผ้าของตัวเองไปซื้อของ จ่ายเงินแล้วแพ็คของใส่ถุงเอง อย่าลืมพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ด้วย และล้างมือด้วย ลดละเลี่ยงกิจกรรมบริการที่แออัด บริการที่ถูกเนื้อต้องตัวใกล้ชิด หากไปใช้บริการ ควรสังเกตอาการ 14 วัน ขนส่งสาธารณะต้องระวังอย่างยิ่ง ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เลี่ยงการเดินทางช่วงแออัด ไม่ควรพูดคุยหรือโทรศัพท์โดยไม่จำเป็น

3. ที่อยู่อาศัย: ทำความสะอาดบ้านหรือที่พัก ควรจัดเตรียมห้อง หรือจัดที่ไว้สำหรับเวลาสมาชิกในครอบครัวไม่สบาย แยกออกจากคนอื่น ถามไถ่กันเป็นประจำว่ามีอาการไม่สบายบ้างไหม หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือมีอาการก็รีบไปตรวจรักษา จัดเตรียมเสบียงสำรองไว้ในบ้าน รวมถึงหยูกยาที่จำเป็น

4. การนอนหลับและพักผ่อนหย่อนใจ : นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารและน้ำให้เพียงพอครบหมู่ ออกกำลังกายตามสมควร แต่ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นยกเว้นคนในครอบครัว ลดละเลี่ยงการไปกิจกรรมหรือกิจการเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ช่วงนี้ไม่แนะนำให้เดินทางไปตะลอนเที่ยว อยู่นิ่งๆ จะดีกว่า

5. การสื่อสาร/การพบปะกับคนรัก คนใกล้ชิด เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน : ควรพบปะคนน้อยลง ใช้เวลาให้สั้นลง ติดต่อแบบออนไลน์จะดีกว่า หากเจอกันตัวเป็นๆ ควรใส่หน้ากากเสมอ อยู่ห่างกันหน่อย คอยสังเกตถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หากใครไม่สบาย หรือไปในที่เสี่ยง ควรสังเกตอาการหรือไปตรวจ

6. การทำงาน : คัดกรองไข้ทุกคนในที่ทำงาน ใส่หน้ากากเสมอ แม้อยู่ในที่ทำงาน ทำความสะอาดสถานที่และบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน ทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ลิฟต์ ราวจับบันได ลูกบิดประตู สุขา เตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ และครอบคลุมทุกพื้นที่ ติดป้ายเตือนให้ทุกคนระวังตัวเสมอ ทำงานที่บ้านได้จะดีกว่า ลดความแออัดในที่ทำงาน การประชุมในห้องควรงด ใช้ออนไลน์แทน แบ่งทีมทำงานเป็นอย่างน้อยสองทีม จะได้สลับได้หากคนในทีมหนึ่งติดเชื้อ

 

7. การเรียนรู้ที่จำเป็น : ควรติดตามข่าวสารโรคระบาดจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ได้ข้อมูลอะไรมา ควรคิดตาม และทำความเข้าใจถึงความเป็นเหตุผล หากบางอย่างดูไม่ตรงไปตรงมา ควรตรวจสอบจากแหล่งอื่น หรือเปรียบเทียบกับที่เราเห็นในสถานการณ์จริง ฝึกตนเองและคนในครอบครัว ให้ใช้ชีวิตด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่ากิเลสและอารมณ์ ตระหนักเสมอว่า การจะอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ต้องใช้ความรู้เป็นเข็มทิศนำทาง

ความอดทน ความพอเพียง และความมีระเบียบวินัย คือสิ่งจำเป็นต้องมีทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และระดับสังคม หากทำได้ เราจะชนะ


อย่างไรก็ตามทางด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตอนนี้ ที่ระบุว่า “ยังไม่ถึงเวลาปิดประเทศ มาตรการ 5 วันตรวจเลือด 2 ครั้ง นี่คือปิดเป็นคน ๆ ไม่ใช่ปิดจังหวัด ปิดประเทศ

มาตรการเชิงรุกในภาครัฐ ยังไม่ได้ทำ เต็ม 100 ทำเต็ม 100 ไม่ปิดแน่นอน

1. กลุ่มคนเสี่ยง เช่น แรงงานต่างชาติไม่ว่าจังหวัดใดก็ตาม (เพราะมีการไปมาหาสู่กันตลอด) ต้องแยกห่างจากกันเป็นบุคคล ไม่ใช่อยู่เป็น กลุ่มก้อนในพื้นที่แออัด ห้องเดียวกัน เหมือนเดิม จะกลายเป็น “ห้องเพาะเชื้อ” ทราบว่ายาก แต่ “ต้องทำ” เรือสำราญค่อย ๆ ติดกันจนครบทุกคนในลำเรือเพราะเหตุนี้

2. การต้องแยกตัวจากกันนั้นยังคงต้องกระทำจนกระทั่งแน่ใจแล้วว่า คนนั้นไม่มีการติดเชื้อแพร่เชื้อจริง ไม่ใช่ หาเชื้อไม่เจอครั้งเดียว สรุปได้ว่าไม่มีเชื้อเพราะการแยงจมูกครั้งเดียวสรุปอะไรไม่ได้

3. เริ่มกระบวนการคัดกรองแบบใหม่หมด เจาะเลือดปลายนิ้ว 2 ครั้ง ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกห้าวัน แต่ในระหว่างนั้นยังคงต้องแยกตัวระยะห่าง ถ้าผลเลือดเป็นลบในครั้งที่สอง โอกาสที่จะติดเชื้อน้อยลง จนอาจไม่มีเนื่องจากการเจาะเลือดปลายนิ้วต้องการชุดตรวจที่มีความไวร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สนใจว่าจะไวเกินไป + เกินไปหรือไม่เพราะเราต้องการแยกไม่ให้มีการแพร่ระบาด

4. ในกรณีที่ผลเลือดเป็นลบเพื่อสร้างความมั่นใจสูงสุดกันไม่ให้เชื้อออกจากตัวใส่หน้ากากกำชับระยะห่างต้องล้างมือต่ออีกจนครบ 14 วันแต่ไม่ถูกกักเดี่ยว

5. ในกรณีที่ผลเลือดเป็นบวกไม่ว่าจะจากการตรวจครั้งที่หนึ่งหรือครั้งที่สองก็ตามเข้ากระบวนการหาเชื้อแยงจมูกวันแรก วันที่เจ็ดและวันที่ 14 และจนกระทั่งเชื้อหายไปหมดติดต่อกันสองครั้งสองวัน จึงจะสรุปว่าเริ่มสะอาด และยังคงให้ใส่หน้ากากกำชับระยะห่างต่ออีก 14 วันเพราะเชื้ออาจกำเริบปะทุขึ้นมาใหม่ได้

6. ทางเลือกที่ดีอีกวิธีจากข้อห้าคือไม่ต้องแยงจมูกหาเชื้อใด ๆ ทั้งสิ้น แยกตัวเองออกจากคนอื่น มีคนส่งน้ำส่งข้าวให้ คอยดูว่าจะมีอาการหรือไม่ค่อยส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อช่วยชีวิตตัวเองอยู่ดี 14 วันออกมาชมโลกได้แล้วแต่ยังคงต้องใส่หน้ากากล้างมือบ่อย ๆ แยกตัวออกห่างจากคนอื่นอย่างน้อยอีก 14 วัน ทั้งนี้เชื้อก็จะค่อย ๆ หายไปเองและโรคก็สงบไปเอง

7. มาตรการเชิงรุก ขยายทั่วประเทศ รวมคนไทยและไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่ไปสมุทรสาคร ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อกระจัดกระจายไปหลาย 10 จังหวัดแล้ว ตรวจทั้งคนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเข้าข่ายที่ประกาศหรือไม่ก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า โควิด-19 ไม่ได้มีอาการไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอไข้ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น แต่ออกมาในรูปผื่นก็ได้ ท้องเสียก็ได้ ตามัวก็ได้ ปวดหัวก็ได้ และอื่นๆ

8. นี่คือเชิงรุกจริง ๆ การตรวจปลายนิ้ว ครั้งละ 100 บาท

9. งบการตรวจเชิงรุก ใครมีกำลังทรัพย์ออกเอง ถ้าไม่มีเราต้องช่วยกันสมทบทุน ใบยา ของมูลนิธิ CU enterprise ไม่ต้องเบียดงบกลางของประเทศ

10. ที่กล่าวมานี้แน่นอนไม่ใช่ 100% รับประกัน แต่แน่นอนว่าไม่ถึงต้องปิดประเทศ และถ้าเรามีวินัยร่วมด้วย

หลักฐานการตรวจเลือดแล้วจากการเปรียบเทียบการตรวจเลือดปลายนิ้วของชุดตรวจใบยา กับการตรวจเลือดมาตรฐานของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาสภากาชาดไทย จากผู้ป่วย และจากคนปกติ และคนที่ติดเชื้ออีกกลุ่มละหลาย 100 คน”