นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รับข้อเสนอภาคธุรกิจการบิน พร้อมขอความร่วมมือภาคธุรกิจการบินให้คงสภาพการดำเนินงาน ไม่ลดการจ้างพนักงาน เลิกตัดราคากัน ให้เน้นด้านบริการแข่งกัน ย้ำรัฐบาลจะเร่งทำตามข้อเรียกร้องอย่างเหมาะสม และหามาตรการเสริมช่วยโดยเร็วที่สุด เพื่ออุตสาหกรรมการบินของไทยฟื้นตัวรับโอกาสใหม่ๆได้ แม้การระบาดโควิด-19 ยังไม่จบสมบูรณ์ก็ตาม
วันนี้ (28 ส.ค.63) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทยเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทย ที่นำโดยนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และคณะรวม 14 คน โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายประสงค์พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการหารือดังนี้
รัฐบาลพร้อมหนุน-คลี่คลายปัญหาให้อุตฯการบินไทยไปต่อได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจสำคัญที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เหมือนกันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะพิจารณาข้อเสนอจากภาคธุรกิจการบินและหาวิธีการช่วยเหลือ ทั้งนี้ รัฐบาลโดย ศบค. กำลังหามาตรการผ่อนปรนในหลายเรื่อง ได้แก่-การหาแนวทางปล็ดล็อคเรื่องการบิน -เร่งผ่อนคลายเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศโดยต้องพิจารณาทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง -สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคธุรกิจการบินร่วมมือกันให้มากขึ้น ลดการแข่งขันด้านราคาโดยให้แข่งขันกันด้านบริการ ให้จัดระเบียบการดำเนินงานให้ดี ให้คงสภาพการดำเนินงานโดยไม่ให้มีหนี้สินเพิ่ม และไม่ลดการจ้างพนักงาน โดยรัฐบาลจะหามาตรการเสริมต่าง ๆ ช่วยโดยเร็วต่อไป สำหรับคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทยที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นหนังสือฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
-ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์, สายการบินไทยเวียตเจ็ท, สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมการหารือ ทั้งนี้มีข้อเสนอรวม 3 ประเด็นคือ 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการสายการบิน โดยขอเสนอให้พิจารณามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการสายการบินให้เร็วที่สุด 2.ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น และ 3.การยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน
โอกาสมาถึงแล้วเมื่อเพื่อนบ้านพร้อม-ไทยต้องเตรียมรับ
-เมื่อเร็วๆนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้จับคู่ท่องเที่ยวแบบ “แทรเวิล บับเบิล”อย่างเป็นทางการ เช่น กัมพูชา-ญี่ปุ่น, สิงคโปร์-บรูไนและนิวซีแลนด์ โดยยึดถือสถิติการจัดการปัญหาการระบาดโควิด-19 ในประเทศของตนได้ดี และมีมาตรการป้องกันรองรับ
-ถึงคราวประเทศไทยก็ไม่น่าเสียโอกาสแต่ทำอย่างระมัดระวัง เมื่อ ศบค.เผยว่า อาจเล็ง 2 กลุ่มต่างชาติที่เหมาะสมเข้าไทยก่อน ภายในมาตรการเข้ม (Seal) ป้องกันโควิด-19 กลุ่มแรกจะเป็นต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยระยะยาว เช่นามีบ้านอยู่ มีกำลังซื้อสูง ให้กลับเข้ามาได้แต่ต้องกักตัว 14 วันตามมาตรการป้องกัน
-สิงคโปร์ เร่งเจรจาไทย เน้น”กรีนเลน” ผู้รับผิดชอบการเดินทางสองประเทศ ได้แก่นายชีวี คอง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ และนางบุษยา มาทเส็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย คุยผ่านวีดิโอคอนเฟอร์เร้นซ์ เรื่อง Singapore-Thailand Political Consultations โดยจะวางกรอบเดินทางปลอดภัย “กรีนแลน” เพื่อแลกเปลี่ยนการเดินทางที่เหมาะสม เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล การเชื่อมต่อเมืองอัจฉริยะ และความปลอดภัยในโลกไซเบอร์
7 สายการบินรอดหรือร่วง แม้รัฐหนุนช่วย
1.บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย รายได้รวมในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 78 โดยขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 283,601 คน ลดลงร้อยละ 95 และมีจำนวนผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศลดลงเกือบร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราขนส่งผู้โดยสารโดยรวมในไตรมาส 2 ลดลงเหลืออยู่ที่ร้อยละ 52 “ผลประกอบการรวมไตรมาส 2 ขาดทุน 1.2พันล้าน ผู้โดยสารวูบ 95%”
2.สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ บริหาร ยืนยันไทยสมายล์ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย และเป็นสายการบินแบบ Full Service ให้บริการในเส้นทางภายในประเทศและภูมิภาคเหมือนเดิม “ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง 7 ปี ล่าสุดมิถนายน 2563 ขาดทุน 10,305 ล้านบาท”
3.สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 3,192 ล้านบาท หนี้สินรวม 11,176 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -7,984 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 20,884 ล้านบาท รายจ่ายรวม 25,520 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,634 ล้านบาท
4.สายการบินไทยเวียตเจ็ท วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 381 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,954 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -2,573 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 2,503 ล้านบาท รายจ่ายรวม 4,202 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,698 ล้านบาท
5.สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส รายได้รวม 28,609.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งเหตุผลหลักไม่ได้มาจากธุรกิจสายการบิน แต่มาจากกําไรจากการขายเงินลงทุนระยะยาวในหุ้นกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ระหว่างปีจํานวน 1,990.8 ล้านบาท รวมถึงผลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน โดยเติบโต 6.6%ส่งผลให้ปีที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 350.83 ล้านบาท
6.สายการบินนกแอร์ผลดำเนินงานปี 2562 ขาดทุน 1,591.12 ล้านบาท ลดลง 33.84% จากปี 2561 ที่ขาดทุน 2,404.84 ล้านบาท โดยการขาดทุนลดลงเนื่องจากบริษัทลดต้นทุนตามแผนลดต่าใช้จ่าย รายได้รวม 12,708.63 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 จำนวน 8.47%
หากพิจารณาผลประกอบการของบริษัทสายการบินของไทย ส่วนใหญ่ขาดทุนสะสมมาจนถึงปัจจุบัน มีแต่บางกอกแอร์เวย์เท่านั้นที่คงศักยภาพในการแข่งขัน และยังมีบทบาทร่วมทุนกับกลุ่ม ลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” แม้รัฐบาลทุ่มงบฯและช่วยปลดเงื่อนไขอุปสรรคต่างๆให้ได้ แต่ปัญหาสะสมภายในทางสายการบินต้องแก้ปัญหาพึ่งตนเองจึงจะบรรลุเป้าหมาย และประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง