ดร.มานะ รักลูกมาก ย้อนวิธีสอนให้เคารพตัวเอง มากกว่าคนอื่น

7851

จากรณีที่ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก หลังจากที่ศาลเยาวชนเเละครอบครัวกลาง ถ.กำเเพงเพชร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา นำเยาวชนไทยอายุ 16 ปี

ผู้ต้องหาความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตาม ป.อาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่หน้าวัดพระแม่อุมาเทวี (วัดแขก) สีลม มายื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาตรวจสอบการจับกุมและมีคำสั่งตามมาตรา 71 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ประกอบ ป.อาญา มาตรา 143 (หมายควบคุมตัว)


โดยระบุว่า ความในใจของพ่อเด็ก 16 ผู้เจอคดีม.112 คงต้องกล่าวอย่างจริงใจว่า…บางสิ่งบางอย่างที่ลูกคิด ลูกทำ ผมอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ผมเคารพการตัดสินใจของลูก ผมไม่รู้ว่าผิดหรือถูกนะครับ แต่ผมสอนลูกให้มีอิสระทางความคิด ให้เขารู้จักการตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง พร้อมกับสอนให้เขารับผิดชอบกับผลของการกระทำนั้น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ เรื่องคดีความคงต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ผิดถูกอย่างไรค่อยว่ากันอีกที

จนต่อมาทางด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ใช้ชื่อว่า Adisak Limparungpatanakij ได้เคลื่อนไหวถึงประเด็นนี้ โพสต์ข้อความให้กำลังใจดร.มานะ กับลูกชาย โดยระบุว่า “ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์มานะและน้องครับ” แม้จะเป็นถ้อยคำสั้น ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ก็ทำให้พอเข้าใจได้ว่า จุดยืนวันนี้ของตัวนายอดิศักดิ์ และเนชั่นทีวี กำลังดำเนินไปในทิศทางไหน นับตั้งแต่วันที่ฉาย บุนนาค ทาบทามให้นายอดิศักดิ์ กลับมานั่งตำแหน่งผู้บริหารนำทัพเนชั่นอีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อดิศักดิ์ ผู้บริหารเนชั่นทีวี ออกตัวให้กำลังใจลูกดร.มานะ หลังโดนคดีม.112

ล่าสุดในเฟซบุ๊กของ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ได้เคลื่อนไหว อีกครั้ง โพสต์ข้อความระบุว่า “ผมเชื่อว่า พ่อแม่ทุกคนล้วนสั่งสอนลูกของตนเอง หวังให้เป็น “คนดี”
แต่วิธีการสอนอาจแตกต่างกันไป

บางคนสอนด้วย “ไม้เรียว” ใช้อำนาจ ใช้วินัย ให้ลูกเกรงกลัวและเชื่อฟังผู้ใหญ่
บางคนสอนด้วย “การเลียนแบบ” ให้ทำตาม ปฏิบัติตามผู้อาวุโส ฯลฯ

เรื่องนี้คงไม่มีสูตรสำเร็จใด ๆ วิธีการสอนลูกแบบนึง บางครอบครัวอาจใช้ได้ดี แต่บางครอบครัวนำไปใช้อาจกลายเป็นปัญหา
อืม…แล้วผมสอนลูกแบบไหนกันหนอ…

ค้นไฟล์ข้อมูลเก่า พบคอลัมน์ “ลูกผู้ชายชื่อพ่อ” ที่ผมเคยเขียนลงในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 81 เดือนกันยายน 2554 (เมื่อ 9 ปีที่แล้ว)
เลยเอามาปัดฝุ่น ให้อ่านกัน
มันน่าจะตอบอะไรได้บางอย่างกระมัง…”

เรียนรู้เรื่อง“สิทธิ”
สาย ๆ ของวันอาทิตย์ ระหว่างนั่งทำงานอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องอเนกประสงค์ประจำบ้าน ผมได้ยินเสียงหญิงคู่ชีวิตกำลังทบทวนวิชาเรียนให้กับลูกชายคนโตวัย 7 ขวบ เนื่องเพราะใกล้สอบกลางภาค
“สายน้ำคะ..สิทธิส่วนบุคคลคืออะไร” คำถามของผู้เป็นแม่ ทำให้ผมต้องหยุดทำงาน พลางนึกในใจว่า “ลูกอยู่แค่ป.2 ทำไมตั้งคำถามยากเกินวัยจัง”
แต่ยังไม่ทันได้ทักท้วงคำถาม ลูกกลับตอบเสียงแจ้ว ๆ ว่า “สิทธิส่วนบุคคลคือ ความเท่าเทียมของทุกคนที่จะได้รับการคุ้มครองทางด้านร่างกาย ความคิดและทรัพย์สิน แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายครับ”

คำตอบในทำนองท่องจำของลูก ทำให้ผมต้องผละจากเครื่องคอมพิวเตอร์ มานั่งร่วมกับพวกเขา พลางยื่นมือไปหยิบเอกสารในมือของภรรยา เพื่อดูว่ากำลังสอนลูกเรื่องอะไรกันแน่
“เอกสารประกอบการเรียนรู้ กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2” คือสิ่งที่ปรากฏอยู่บนหน้าปก
ผมพลิกเอกสารออกมาอ่านด้วยความสนใจ พบว่ามีการเรียนการสอนเรื่อง “กฎ ระเบียบในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน” เรื่อง “การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข” เรื่อง “สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล” รวมถึงเรื่อง “สิทธิส่วนบุคคล สิทธิเด็ก”ที่ลูกกำลังทบทวนอยู่

โอ้โห…แต่ละหัวข้อน่าสนใจมากครับ เพียงแต่ผมอดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า ลูกเข้าใจถึงเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เลยถือโอกาสพูดคุยกับลูกในหัวข้อต่าง ๆ

“…สายน้ำครับ เมื่อกี้ลูกบอกความหมายของสิทธิส่วนบุคคลมาแล้ว ลูกพอจะบอกป๋าได้ไหมครับว่ามันถึงอะไร ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยสิ”

เจ้าแสบผู้พี่ครุ่นคิดเล็กน้อยก่อนตอบว่า “อย่างเช่นทุกคนมีสิทธิได้รับอาหาร น้ำ อากาศหายใจ..ทุกคนมีสิทธิจะมีชีวิต…มีสิทธิพูดแสดงความคิดเห็น…ฯลฯ” คำตอบทำนองท่องจำยังคงไหลลื่นออกมาจากปากน้อย ๆ

“ถูกต้องครับลูก ทุกคนมีสิทธิต่าง ๆ อย่างที่ลูกบอก เอ…แล้วเด็ก ๆ แบบลูกละจะมีสิทธิอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ” ผมลองตั้งคำถามไล่เรียงความรู้ ความเข้าใจของลูก
“เออ…สิทธิในการเรียนหนังสือในโรงเรียนหรือเปล่าครับ” คราวนี้เจ้าหนูขมวดคิ้วคิดอยู่นาน ก่อนตอบออกมาอย่างไม่ค่อยมั่นใจนัก

ผมเลยอธิบายให้ลูกฟังว่า “…นอกจากเด็ก ๆ มีสิทธิแบบผู้ใหญ่แล้ว เด็กยังมีสิทธิพิเศษมากกว่าผู้ใหญ่อีกนะครับ เพราะเขาถือว่าเด็กยังเล็ก ไม่สามารถดูแลป้องกันตัวเองได้เหมือนผู้ใหญ่ รัฐบาลถึงมีกฎหมายขึ้นมาคุ้มครองสิทธิของเด็กเป็นการเฉพาะ…

…อย่างเช่นบอกว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการเลี้ยงดู ปกป้องไม่ให้ได้รับอันตราย ไม่ให้ถูกทำร้ายทั้งร่างกาย หรือจิตใจ ไม่ให้ถูกเอาไปขายเป็นแรงงานเด็ก หรือไปเป็นขอทานเด็ก…”
ยังไม่ทันที่ผมจะอธิบายจบ เจ้าแสบน้อยพลันถามขึ้นมา “แบบนี้ผู้ใหญ่ที่ตีเด็กก็ทำผิดกฎหมายหรือเปล่าครับ”
“อืม…ประเด็นนี้น่าสนใจนะ แล้วลูกคิดอย่างไร” ผมโยนคำถามกลับให้เขาคิด

คราวนี้เจ้าหนูคิดอยู่นาน ก่อนแสดงความเห็นว่า “ เออ…ถ้าตีแรง ๆ เจ็บ ๆ จนเลือดไหล บาดเจ็บถือว่าผิดครับ ครูสอนว่าเป็นการละเมิดสิทธิคนอื่น”
ผมถามต่อไปว่า “แล้วถ้าผู้ใหญ่ด่าเด็กว่าโง่อย่างกับควาย หรืออ้วนเหมือนหมู ละผิดไหม” “ผิดครับ เพราะไปทำร้ายหัวใจเด็กให้เสียใจ” ลูกตอบ

ผมสอนพลางซักต่อไปว่า “ใช่แล้วครับ เราไม่มีสิทธิไปตำหนิดุด่าว่าคนอื่นให้เขาเสียใจ เอ…แล้วถ้าเด็ก ๆ แบบลูกดื้อ พ่อแม่หรือคุณครูบอกเท่าไหร่ยังไม่เชื่อฟังแล้วถูกตีเพื่อทำโทษละ ผิดไหม”
ทโมนตัวน้อยตอบเสียงอ่อย ๆว่า “แบบนี้คงไม่ผิดมั้งครับ เพราะเด็กดื้อไม่ทำตามข้อตกลงของบ้านหรือโรงเรียนก่อน เลยถูกทำโทษ” พูดพลางหลบสายตา คงกลัวผมใช้มาตรการนี้ปราบดื้อของเขากระมัง

ผมอธิบายต่อว่า “ปกติคนเราทุกคนมีสิทธิส่วนบุคคล อย่างเช่นเรามีสิทธิไปไหนมาไหนก็ได้ เดินไปตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าเราเดินเข้าไปในบ้านส่วนตัวของคนอื่น โดยเจ้าของบ้านยังไม่ได้อนุญาต ถือว่ามีความผิดนะครับ เพราะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่น ตำรวจอาจจับไปขังคุก สิทธิส่วนบุคคลบางอย่างของคนทำผิดอาจถูกจำกัด เช่น ห้ามไปไหนมาไหนได้แบบเดิม…”

คู่ชีวิตของผมเสริมว่า “…ลูกเรียนรู้เรื่องสิทธิส่วนบุคคลน่ะดีแล้ว แต่แม่อยากให้ลูกเรียนรู้เรื่องการเคารพสิทธิของคนอื่นเขาด้วย และที่สำคัญ…แม่อยากให้ลูกต้องเรียนรู้เรื่องหน้าที่ และความรับผิดชอบด้วย…

…อย่างเช่นลูกมีสิทธิเล่นชิงช้าในสนามเด็กเล่นของโรงเรียน ลูกต้องรู้จักการเข้าแถวรอให้เพื่อนเล่นชิงช้าเสร็จก่อน ใช่ไหมคะ ไม่ใช่ไปแย่งคิวเขา เพราะถ้าเราไปแย่งคนอื่น เราถือว่าไปละเมิดสิทธิคนอื่น…
…เหมือนกันคะ สิทธิเด็กบอกว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาตัวเอง ลูกก็มีหน้าที่เรียนให้เต็มที่ ต้องมีความรับผิดชอบในการทำการบ้าน ต้องขยันอ่านหนังสือ เข้าใจไหมคะ” เจ้าหนูพยักหน้าตอบแม่อย่างเสียไม่ได้ หลังจากนั้นแม่ลูกหันกลับไปทบทวนวิชาเรียนอื่น ๆ กันต่อ

ส่วนผมนั่งพลิกอ่านเอกสารประกอบการเรียนรู้กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของลูกพลางคิดว่า สมัยผมยังเป็นเด็กประถม เนื้อหาทำนองนี้ถูกบรรจุอยู่ในรายวิชาหน้าที่พลเมือง แต่การเรียนการสอนของครูส่วนใหญ่มักเน้นการท่องจำ มากกว่าการให้เด็กเข้าใจ หรือสร้างสำนึกให้เด็กตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ของตนเอง

แน่นอนครับว่า การสอนให้เด็กมีจิตสำนึกและตระหนักในสิทธิของตนเองและผู้อื่น รวมถึงการสอนให้เด็กทำตามหน้าที่และมีความรับผิดชอบเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก
เหล่านี้จำต้องใช้ความร่วมมือทั้งจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูบาอาจารย์ ในการสร้างกิจกรรมหรือยกกรณีตัวอย่างใกล้ตัว มาชี้ให้เด็กได้ฉุกคิด ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ยังต้องปฏิบัติตนให้เด็กได้เห็นเป็นตัวอย่างด้วยว่า สามารถเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นได้อย่างไร

ครับ เรื่องนี้ต้องช่วยกัน เราคงไม่ต้องการเห็นคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เก่งแต่ท่องจำเรื่องสิทธิ แต่ไม่เคยตระหนักถึงสิทธิอย่างแท้จริง ใช่ไหมครับ