หมอธีระวัฒน์ จี้รัฐบาลถึงเวลาใช้ rapid test คัดกรองโควิด รู้ผล 2 นาที!!

2281

หมอธีระวัฒน์ แนะ ถึงเวลาใช้ rapid test ตรวจโควิดระบาด ชี้ 2 นาทีรู้ผล ถ้าบวกแยกตัวออกทันที

จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม น.พ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด หลังพบหญิง อายุ 67 ปี อาชีพค้าขาย เป็นเจ้าของแพกุ้ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจกลุ่มเสี่ยงจำนวนกว่า 2,000 คนนั้น

ต่อมา เมื่อมีการตรวจคัดกรองในกลุ่มแรงงานต่างด้าว จำนวน 1,192 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย คิดเป็นร้อยละ 43 ของผู้ที่ได้รับการตรวจทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบผู้ที่ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งในหลายจังหวัด ทำให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 548 ราย ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ติดเชื้อที่มีไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ

ทางด้าน รัฐบาลก็ได้การสั่งให้ล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร มีมาตรการสำคัญคือ กำหนดพื้นที่ควบคุมโรคเด็ดขาด มีคำสั่ง ปิดสถานที่ตลาดกลางกุ้ง กับหอพักศรีเมือง ซึ่งห้ามเข้าออกพื้นที่โดยเด็ดขาด ทั้งนี้จังหวัดจะมีมาตรการอำนวยความสะดวก กับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ตลอดห้วงเวลาที่ของช่วงที่มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมโรคเด็ดขาด คือ วันที่ 19 ธันวาคม – 3 มกราคม 2564

ล่าสุด ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีการตรวจเลือดในสถานการณ์ระลอก 2 โดยระบุข้อความว่า

การตรวจเลือดในสถานการณ์ระลอกสอง
เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาแอนตี้บอดี้ ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแต่ทราบสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศเท่านั้นแต่สามารถนำมาจำกัดการแพร่ได้
ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
26/3/63
เพิ่มเติม 20/12/63
สถานการณ์ระลอก 2
การตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อ ประกอบด้วยการสร้างแอนตี้บอดี้ IgM IgG และ ในภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะมีส่วนที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ เรียกว่า neutralizing antibody (NT)
แต่ในผู้ติดเชื้อ covid19 จำนวน 98 รายในเดือน เมษายน และพฤษภาคม พบว่า ผู้ป่วยมี NT อยู่ตั้งแต่ต้นแล้ว ทั้งกลุ่มที่เริ่มมาด้วยอาการน้อย ปานกลางหรือมาก และระดับของ NT แม้ว่าจะสูงมากก็ตาม ตั้งแต่วันแรกที่เข้า รพ ไม่ได้ยับยั้งการดำเนินของโรค ทีบางรายพัฒนาไปเป็นอาการหนัก คล้องจองกับผลการใช้ น้ำเหลืองจากคนที่หายแล้วมารักษาคนที่ติดเชื้อพบว่าสามารถลดจำนวนของไวรัสได้เป็นเวลาสั้นๆเท่านั้น และไม่ช่วยในการรักษา โดยที่ทาง รพ ไม่ได้พิจารณานำมาใช้
การตรวจ IgM อย่างเดียว โดยไม่ตรวจ IgG โดยคิดว่า IgM จะหายไป หลังจาก ติดเชื้อ 7-10 วัน ไม่เป็นความจริง เพราะสามารถ ทอดนานไปได้ 32 วัน จนไวรัสหมดแล้ว (รายงานจากที่ต่างๆ จะนานเป็นเดือน)
แอนติบอดีจะขึ้นให้ตรวจพบได้ ตั้งแต่วันที่สี่ ถึง6 หลังจากวันที่ได้รับเชื้อ และอาจจะพบได้ตั้งแต่ก่อนที่มีอาการ และเริ่มมีการแพร่เชื้อแล้ว เป็นpresymptomatic phase หรือ สามารถที่จะพบได้หลังจากที่เริ่มพ้นระยะฟักตัว และเริ่มมีอาการ
ในโควิด 19 คนติดเชื้อที่เป็นหนุ่มสาวแข็งแรง มักมีอาการน้อยและกลายเป็นตัวแพร่ ทำให้การตรวจแอนตี้บอดี้ช่วยกับการตรวจด้วยPCR โดยเป็นscreening ที่รวดเร็ว
การใช้การหาแอนติบอดีเข้ามาร่วม จะทำให้การจำกัดการแพร่กระจายมีความรัดกุมและสะดวกมากขึ้นพร้อมทั้งรับทราบสถานการณ์รุนแรงมากน้อยเท่าใดในการกระจายตัว และยังป้องกันการระบาดในโรงพยาบาล
การตรวจมาตรฐานโดยวิธี ELISA ของศูนย์โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์จุฬา แม้แม่นยำ 100% แต่ยังไม่ว่องไวพอ เพราะต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง
การทดสอบ rapid test คือชุดตรวจเลือดจากปลายนิ้ว strip test ทางจุฬา ใบยา โดยดร วรัญญู พูลเจริญ และ ภญ ดร สุธีรา เตชคุณวุฒิ ได้เทียบเคียงกับวิธีการตรวจแอนติบอดี ELISA ที่ทางศูนย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ (ร่วมมือกับ สิงคโปร์ Duke NUS ) โดยทดสอบในคนไทยปกติที่บริจาคเลือดที่ศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดไทย 200 รายก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อประเมินว่าระดับใดถือเป็นไม่ปกติ (cutoff limit)ทั้งนี้เนื่องจากคนไทยอาจจะได้รับสัมผัสกับค้างคาว มากกว่าคนที่สิงคโปร์และจากนั้นจึงได้ทดสอบในคนที่ติดเชื้อจริง และพบว่าการตรวจทั้ง สองแบบ มีความแม่นยำพอ
โดยถ้าได้ผลบวกควรต้องตรวจต่อด้วยวิธี PCR แต่ในกรณีที่ได้ผลลบ แต่มีลักษณะต้องสงสัยควรต้องมีการตรวจซ้ำหลังจากนั้นอีกสามถึง 5 วันเนื่องจากแอนติบอดีอาจยังไม่ขึ้น เพราะได้รับสัมผัสโรคมาหมาดๆ
อนึ่ง โปรตีนที่ใช้ในการตรวจของชุดตรวจว่องไวปลายนิ้วนี้ ได้จากใบยา ที่กำหนดให้สร้างโปรตีนที่ประสงค์ ที่ใช้เป็น receptor binding protein ของไวรัส โควิด 19 (เช่นเดียวกับชุดตรวจ ELISA) ที่สามารถทำได้มากตามความต้องการขึ้นอยู่กับการปลูกพืชมากน้อยเท่าใด
ถึงเวลาแล้วที่ต้องใช้ rapid test ในมาตรการ ระลอก 2 ทีเกิดขึ้นขณะนี้ ตรวจจบใน 2 นาที ถ้า บวกแยกตัว ทันที ตามด้วยแยงจมูก PCR เพราะ มีแอนติบอดี บอกว่ามีติดเชื้อ แต่อาจติดนานเป็นเดือนแล้วหายแล้ว หรือกำลังติด กำลังปล่อยเขื้อ จึงต้องกักตัวและหาว่า ปล่อยเขื้อได้หรือไม่