“บอร์ดอีอีซี”หวังปีหน้าการระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ดันเงินลงทุนสะพัด 4 แสนล้านบาทจากภาครัฐและเอกชน ขณะที่ 11 เดือนปีนี้ ต่างชาติขอลงทุนคึกคึกกว่า 1.28 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าลุยลงทุน 5 จี ยกระดับการเกษตรด้วยเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าดันรายได้เกษตรเทียบเท่าอุตสากรรม ทั้งเร่งเสนอปลดล็อคกักตัวเปิดทางนักลงทุนเข้าออกสะดวก ทั้งที่มีการระบาดโควิด-19 แต่ประเทศไทยสามารถรับมือได้ดี มีประสิทธิภาพ ทำให้นักลงทุนต่างชาติวางใจสามารถเดินหน้าทำธุรกิจต่อเนื่องได้ ต้องชื่นชมทีมไทยแลนด์ทุกฝ่าย ที่ช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 หนักใจแต่ การเมืองร้อน-ม็อบคลั่ง- นักการเมืองหิวอำนาจ นอกจากไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหา ยังทำตัวถ่วงความเจริญก้าวหน้าประเทศชาติอีกด้วย
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) รับทราบความคืบหน้าของแนวทางการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิตภาคตะวันออก และได้รับรองแนวทางแผนการพัฒนาที่สำคัญสองด้านคือด้านระบบ 5G และด้านการเกษตร
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายอีอีซี เปิดเผยว่า บอร์ดอีอีซี รับทราบแนวทางการลงทุนในอีอีซี ปี 2564 ว่าจะมีมูลค่าการลงทุนสูง 4 แสนล้านบาท จากปี 2563 ระยะเวลา 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.) ต่างชาติลงทุนทั้งสิ้น 387 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 1.28 แสนล้านบาท เทียบเท่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 76,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์
ขณะนี้บีโอไอได้ประสานกระทรวงต่างประเทศ ทดลองผ่อนผันการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่อความสะดวกและเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในอีอีซีเพิ่มมากขึ้น
ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G ให้เกิดการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่ อีอีซี และแผนงานพัฒนาด้านเกษตร ประกอบไปด้วย
- แผนการพัฒนา 5Gในพื้นที่อีอีซี
ความคืบหน้าการลงทุนโครงข่าย 5G ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกำหนดให้ต้องลงทุนโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ 50% ของอีอีซีภายใน 1 ปี หรือภายในเดือนก.พ.2564 นั้น เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตฯได้ลงทุนโครงข่ายท่อเสาสายครอบคลุม 80% ของพื้นที่เป้าหมายแล้ว ส่วนที่เหลือจะลงทุนโดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และเพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีการใช้เสาสัญญาณร่วมกัน
กพอ.วาง 3 แนวทางผลักดันพัฒนาระบบ 5G เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่อีอีซี โดยเริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่ ‘สนามบิน-ฐานทัพเรือ-นิคมฯมาบตาพุด-บ้านฉาง’
แนวทางการพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่EEC ได้แก่
1)สร้างผู้ใช้ 5G อย่างเป็นระบบ ผลักดันการใช้เทคโนโลยี 5G ในโรงงานในพื้นที่เขตส่งเสริมอีอีซี 10,000 แห่ง และโรงแรมในอีอีซี 300 แห่ง รวมถึงหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และผู้ประกอบเอสเอ็มอี
2)เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูล โดยผลักดันให้ภาคเอกชนและภาครัฐจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ โดยมี EECd เป็นจุดติดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) พร้อมทั้งวางแนวทางและปรับปรุงข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลคลาวด์ภาครัฐ และคลาวด์ภาคเอกชน เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้มาจัดทำข้อมูลกลาง เพื่อให้ภาคธุรกิจและกลุ่มสตาร์ทอัพ นำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ เช่น E-Commerce การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการแพทย์
3)พัฒนาบุคลากรดิจิทัล ผลักดันเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New) 1 แสนคน รวมทั้งปรับแนวทางการดำเนินโครงการ EECd โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีประสบการณ์จัดตั้งเขตนวัตกรรมดิจิทัลในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน และสหภาพยุโรป โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นเจ้าภาพ
- แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยใช้ความต้องการตลาดนำการพัฒนา (Demand Pull) เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้าตรงความต้องการตลาด ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) ให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพดี ราคาสูง ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชชีวภาพ พืชสมุนไพร ปศุสัตว์ เพื่อยกระดับการผลิตตรงความต้องการ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้แผนฯ เป็นกรอบในการขอรับงบประมาณปี 2565
เป้าหมายหลัก ต้องการยกระดับภาคเกษตร ใช้เทคโนโลยีนำการผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาด เพิ่มรายได้ภาคเกษตรให้เทียบเท่าอุตสาหกรรม