บิ๊กตู่ปลื้มบลูมเบิร์กยกไทย!?! ขึ้นแท่นอันดับ 1ประเทศตลาดเกิดใหม่น่าลงทุนที่สุดปี ’64

3376

นายกฯปลื้ม สนข.บลูมเบิร์กยกไทยอันดับ 1 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่แข็งแกร่ง น่าลงทุนที่สุดในโลก ปี 2564 และแจงตอบข้อกังวลด้านมาตรการรัฐเรื่องการกระจายวัคซีนและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 มั่นใจรัฐบาลมีมาตรการจัดการอย่างรอบคอบและทั่วถึงทุกกลุ่ม เป็นข่าวที่น่าจะนำความสุขแก่ประชาชนไทยทุกคน  ทั้งนี้ที่ผ่านมา สนข.บลูมเบิร์กได้ยกไทยเป็นอันดับ 1 ดัชนีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก 2 ปีซ้อนมาก่อน คือปี 2561 และ 2562 แต่ปีนี้ยังไม่มีรายงาน อาจเพราะคนไทยมีความทุกข์มากขึ้น จากการมีม็อบคลั่ง ออกมาขัดขวางการเดินหน้าประเทศไทยเป็นระยะก็เป็นได้

วันที่ 19 ธันวาคม 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีแนวโน้มเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market:EMs) ที่มีภาพรวมทางเศรษฐกิจดีที่สุดและน่าลงทุนที่สุดในปี 2564 แสดงถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในเรื่องการค้าและการลงทุนในปี 2564 

ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่รวบรวมมาได้มาจากทั้งการคำนวณของบลูมเบิร์กเอง รวมถึงองค์กรระดับนานาชาติอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และบริษัทเอกชนอย่าง Goldman Sachs และ Barclays ซึ่งท้ายรายงานระบุว่าเป็นความเห็นจากนักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กที่พิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณเท่านั้น

ทำไมจึงเชื่อว่าไทยน่าลงทุนที่สุด

รายงานของสำนักข่าว Bloomberg หัวข้อ China Lags as Thailand, Russia Rank Top Emerging Market Picks ได้เปิดเผยรายงานการศึกษาแนวโน้มทางเศรษฐกิจในปี 2564 ของ 17 ประเทศ อาทิ ไทย รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการเงิน 11 ข้อ ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1 ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ มาจาก 

1.นโยบายบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพ 

2.นโยบายช่วยเหลือเยียวยาด้านรายรับรายจ่ายของประชาชน และ 

3.นโยบายของธนาคารกลางที่พยายามคงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ทั้งนี้บลูมเบิร์กยังคาดการณ์ว่าปีหน้าจีดีพีของไทยจะเติบโตที่ 3.9% ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีจะเกินดุล 3.1% และดุลงบประมาณต่อจีดีพีจะขาดดุล 4.9% ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 41% ซึ่งอยู่ในกรอบการเงินการคลังของรัฐบาล

สอดคล้องกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) ได้เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่าอยู่ในโซนร้อนแรง เพิ่มขึ้นกว่า 163.44% สูงสุดในรอบสองปี

สำหรับข้อห่วงใยและปัจจัยเสี่ยงหลังโควิด

ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก จะมีความห่วงกังวลเรื่องการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยซึ่งพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นั้นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า 

รัฐบาลได้เตรียมการรับมือกับประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี ในทุกด้าน ได้แก่

ทางด้านสาธารณสุข รัฐบาลส่งเสริมการดำเนินการควบคุมโรค ป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับส่งเสริมความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขกับหุ้นส่วนและมิตรประเทศ เพื่อวิจัยและพัฒนา รวมถึงเตรียมผลิตวัคซีนและยกระดับการพัฒนาทางด้านสาธารณสุขไทย รวมทั้งส่งเสริมให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ และประชาชนสามารถได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง 

ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รัฐบาลได้เตรียมพร้อมและได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นบริโภค เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ได้แก่ 

1.โครงการคนละครึ่งเฟส 1 เฟส 2 .เราเที่ยวด้วยกัน และ 3. ช้อปดีมีคืน เป็นต้น 

นอกจากนี้ รัฐบาลดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ด้านคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านการจัดการน้ำ ด้านการสื่อสาร รวมถึงการเร่งแผนส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น