เต้น ณัฐวุฒิ ออกจากคุกแล้ว อย่าลืมแวะไปทักทาย “ชัยเกษม” สมัยเป็นอัยการสูงสุด สั่งชี้ขาดคดี

3425

นายวิทยา สุริยวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้า (18 ธ.ค.) ที่ผ่านมาตนได้เสนอเอกสารการพักโทษ

ให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เซ็นอนุมัติให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ได้รับการพักการลงโทษกรณีพิเศษจำนวน 76 รายเพื่อเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติด้วยการติดอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ติดตามตัว หรือกำไลอีเอ็ม ซึ่งขั้นตอนหลังจากนายสมศักดิ์ ได้เซ็นต์เอกสารที่คณะกรรมการพักโทษฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปทางกรมราชทัณฑ์จะต้องนำเอกสารไปตรวจสอบก่อนจะนำตัวผู้ต้องขังไปยังสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด

สำหรับกรณีของนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อดีตแกนนำนปช.นั้นจะถูกนำมาตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาติดกำไลอีเอ็มที่อาคารไอทีสแควร์

อย่างไรก็ตามรายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ บัญชีนักโทษเด็ดขาด กรณี เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กรณีส่งเสริมคุณภาพชีวิตนักโทษเด็ดขาดสูงอายุ กรณีนักโทษเด็ดขาดโทษระยะสั้น คดีความความผิดทั่วไปที่ต้องพิจารรารอบคอบ กรณีพักการลงโทษเหตุพิเศษคดีทั่วไปโครงการกำลังใจ

ทั้งนี้นายณัฐวุฒิ ได้รับการพักโทษกรณีนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้น คดีความผิดทั่วไปที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางมารอรับ นายณัฐวุฒิ ที่ได้รับการอภัยโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยมีมวลชนจำนวนหนึ่งมารอรับด้วยเช่นกัน เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่จะไม่ปล่อยตัวนายณัฐวุฒิที่เรือนจำ แต่จะนำตัวไปที่กรมควบคุมความประพฤติ จ.นนทบุรี เพื่อใส่กำไลอีเอ็มก่อนจะปล่อยตัว ทำให้กลุ่มเสื้อแดงมารอเก้อเป็นจำนวนมาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รอจนเหงือกแห้ง!! ณัฐวุฒิ ยิ้มแฉ่ง “สมศักดิ์” เซ็นปล่อยตัว “พ้นคุก” ได้กลับนอนบ้านแล้ว!!

หากย้อนรอยไปดูคดี “นปช.” บุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” กดดันให้ลาออก จนนำไปสู่ศาลฎีกา พิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือน 5แกนนำนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำ นปช.หรือชื่อในขณะนั้นคือ “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.)” ทั้ง 15 คน พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมหลายพันคน ประกาศเคลื่อนขบวนจากการชุมนุมที่สนามหลวงไปปิดล้อมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นบ้านพักของ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” เพื่อกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี

ด้วยเหตุเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ซึ่งขณะนั้นตำรวจพยายามเจรจาให้ยุติการชุมนุม ไปจนถึงการใช้แก๊สน้ำตา ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเริ่มบานปลาย เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม ได้รับบาดเจ็บหลายราย จนในที่สุดตำรวจได้เข้าจับกุม “นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล” แกนนำกลุ่มพิราบขาว2006 สำเร็จ ส่วนแกนนำ นปก.คนอื่น ประกาศให้ผู้ชุมนุมล่าถอยกลับไปที่ตั้งท้องสนามหลวงอีกครั้ง

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ตั้งข้อหาซ่องสุมเกินกว่า 10 คน ต่อแกนนำ นปก. ประกอบด้วย

-นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย

-พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย

-นายจรัล ดิษฐาอภิชัย

-นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ

-นายวีระ มุสิกพงศ์

-นายจตุพร พรหมพันธุ์

-นายจักรภพ เพ็ญแข

-นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

-นายแพทย์เหวง โตจิราการ

โดยแกนนำทั้งหมดได้ติดต่อขอเข้ามอบตัว แต่อัยการได้พิจารณาสำนวนคดี สั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากผู้ต้องหาได้ยื่นหลักฐานเอกสารร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการพิจารณาจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง และส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณา


แต่ทางด้าน “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ขณะนั้น มีความเห็นแย้งให้ฟ้องผู้ต้องหา และส่งความเห็นแย้งให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ขณะนั้น พิจารณาชี้ขาด จนกระทั่งอัยการสูงสุด มีความเห็น “ชี้ขาด” สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหา มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่นตามความเห็นแย้งของ ผบ.ตร.

สำหรับนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ในขณะนั้น ปัจจุบันได้กลายมาเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าเต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะเคยเป็นสส.เพื่อไทยมาก่อน ก็ไม่ได้รับการยกเว้นในการสั่งฟ้อง จนนำมาสู่การเดินเข้าเรือนจำรับโทษ และได้รับการพักโทษในที่สุด