ธุรกิจโรงแรมไทยยังอ่วม ?!! สภาอุตฯท่องเที่ยวขอ 1 แสนล้าน ตั้งกองทุนอุ้ม ผวาโดนไล่ซื้อราคาถูกจากทุนใหญ่ต่างชาติ

2133

ธุรกิจโรงแรมเจอพิษโควิด-19 ชนิดที่โรงแรมหรูต้องประกาศปิดตัวชั่วคราว ยังไม่นับรวมรายกลางและรายเล็กอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ส่วนระดับ 4 ดาวกัดฟันหันมาให้บริการอื่นๆหวังประคับประคอง ก็เริ่มส่งสัญญาณไปต่อไม่ไหวเตรียมขายกิจการทิ้ง ด้านหนึ่งเข้าไม่ถึงซอฟท์โลน ด้านหนึ่งถูกบีบใช้หนี้หรือควบรวมในราคาถูก สทท.กังวลปัญหาบานปลายทำโรงแรมไทยโดนต่างชาติกินรวบ เสนอรัฐจัดงบฯ 1 แสนล้านตั้ง”กองทุนการท่องเที่ยว”

รายงานจากภาคธุรกิจโรงแรมไทย เปิดเผยว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศไทยไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่าย ในภาวะที่ไม่มีผู้ใช้บริการได้ ล่าสุดมีโรงแรมชื่อดังในกรุงเทพฯ แจ้งปิดกิจการชั่วคราว นับจากวันที่ 26 มี.ค.63 แล้ว 27 แห่ง โดยแต่ละแห่งได้แจ้งว่า จะเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่กลางเดือนเม.ย.ถึงปลายเดือนก.ย.นี้  ส่วนที่จังหวัดภูเก็ต เบื้องต้นมีโรงแรมแจ้งปิด 52 แห่ง ส่วนใหญ่เริ่มปิดวันที่ 1 เม.ย. และแต่ละแห่งจะเปิดอีกครั้งตั้งแต่เดือนพ.ค.-ต.ค. และเริ่มมีผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมบางราย เริ่มรับภาระไม่ไหว มีแนวคิดจะขายกิจการ

สถิติจำนวนโรงแรมล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. 63 ประเทศไทยมีจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศ 32,564 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องทั้งหมด 1,254,168 ห้องพัก โดยอัตราส่วนห้องพัก 1 ห้องใช้พนักงานโรงแรม 1.3 คน จึงมีพนักงานโรงแรมทั้งหมด 1,630,419 คน  คาดว่า กว่า 95% ของโรงแรมทั้งหมด หรือคิดเป็น 30,936 แห่ง จะไม่มีรายได้ เพราะการระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ 

โรงแรม 3 ดาวของคนไทยเสี่ยงถูกฮุบ-ขาดสภาพตล่อง ติดหนี้แบงก์ต่างชาติ

นายวิรัช พงศ์ฉบับนภา เจ้าของธุรกิจโรงแรมระดับสามดาวบนเกาะสมุย ว่าต้องแบกรับภาระที่หนักในการประกอบธุรกิจโรงแรมในขณะนี้ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ธุรกิจท่องเที่ยวทุกอย่างต้องปิดกิจการลงชั่วคราว  ขณะนี้ปัญหาของนักธุรกิจท่องเที่ยวก็คือปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งแบงก์ชาติได้มีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในรูปแบบของซอฟท์โลน ให้รายละ 20 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าธนาคารของต่างชาติที่มีสาขาในประเทศไทย สร้างความยากลำบากให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการมีเงื่อนไขมากที่สุด สุดท้ายก็ไม่อนุมัติวงเงินให้ ส่วนพวกที่กุ้มาได้แล้วก็จะบีบให้ใช้หนี้ตามกำหนด หากทำไม่ได้ ก็จะฟ้องศาลก่อนที่กลุ่มทุนจะเข้ามาร่วมหุ้น โดยกลุ่มทุนต่างชาติจะถือหุ้นใหญ่ก่อนเข้ายึดธุรกิจโรงแรมไปในที่สุดเพื่อปลดหนี้สินที่มี

เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมต่างไม่มีรายได้ ต้องแบกรับภาระรายจ่ายพนักงานตามกฏหมายแรงงาน และภาระเรื่องดอกเบี้ยธนาคารซื้อเป็นเรื่องใหญ่ของผู้ประกอบการอยู่ขณะนี้ สุดท้ายโรงแรมเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มทุนต่างชาติ  มาฮุบทรัพย์สินที่อยู่ในจุดท่องเที่ยวของประเทศไป

บริษัทยักษ์ต่างชาติไล่ช้อนซื้อโรงแรมไทย

ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานความสนใจของนักลงทุนประเภทสถาบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความสนใจเข้าซื้อกิจการโรงแรม และการค้าปลีก และอื่นๆที่มีศักยภาพในการเติบโตได้

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (KTAM) บลจ.กรุงไทย กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาพันธมิตรจัดตั้งกองทรัสต์ ซื้อธุรกิจโรงแรมมาบริหารในพอร์ต ถือเป็นสิ่งดีที่เข้าไปช่วยธุรกิจขาดสภาพคล่อง

 

บริษัท เดสติเนชั่น กรุีป จำกัด เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนและบริหารโรงแรม มีเป้าหมายซื้อกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาว ขนาด 200 ห้องพักขึ้นไป โดยอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก กรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต ตั้งเป้าลงทุน 12-15 แห่งภายในอีก 18 เดือนข้างหน้า

 ข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยจากผู้ประกอบการรายเล็ก

-ปรับลดเกณฑ์การช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ -ให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการคนไทยให้ยังคงรักษาทรัพย์สินไว้ให้ลูกหลานต่อไปได้ 

7 ข้อเสนอจากสมาคมโรงแรมไทย

  1. กระตุ้นธุรกิจให้กลับมาเร็วที่สุด
  2. ขอให้รัฐบาลเข้มงวดกับโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
  3. ขอให้มีมาตรการทางภาษีสนับสนุนการลงทุน เพื่อพัฒนามาตรฐานของโรงแรม ให้โรงแรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนไปหักภาษีได้ 3 เท่า 
  4. ขอเลื่อนการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นปลายปี และขอส่วนลดในช่วงปิดกิจการชั่วคราว
  5. แก้ปัญหาการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานในกรณีผู้ประกอบการปิดกิจการชั่วคราว
  6. เปิดน่านฟ้า เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ใช้มาตรการกักตัว 14 วัน แต่มีมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของประเทศไทย เช่น การตรวจโควิด-19 และต้องเป็น Negative ก่อนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย
  7. ให้จัดทำ Big Data สำหรับข้อมูลโรงแรมในประเทศทั้งหมด

ภาคเอกชนขอ แสนล้านตั้งกองทุนการท่องเที่ยว

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร, ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่าผลกระทบโควิด-19 ทำผู้ประกอบการท่องเที่ยวปิดกิจการถาวรไปแล้ว 20-30% ส่วนหนึ่งเพราะเข้าไม่มถึงมาตรกานซอฟท์โลนของรัฐบาล

สทท.เสนอของบฯรัฐบาล 1 แสนล้านบาทจัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว โดยหากผู้ประกอบการรายที่เดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงซอฟท์โลนที่รัฐจัดสรรผ่านธนาคารต่างๆได้ ให้มาเสนอขอทุนจากกองทุน และถ้าต้องการให้กองทุนเข้าร่วมทุน  ก็เข้าไปร่วมลงทุน  เมื่อดำเนินกิจการไปได้เป็นปกติ กองทุนอาจขายหุ้นคืนให้ในภายหลัง

ประเด็นน่าเป็นห่วงที่ สทท.เปิดเผยคือ มีความเคลื่อนไหวจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่เป็นกิจการร่วมทุนกับต่างประเทศ เคลื่อนไหวติดต่อไล่ซื้อกิจการโรงแรมไทยอย่างคึกคัก ซึ่งถือเป็นการเปิดทางให่ทุนต่างชาติช้อนซื้อสินทรัพย์ดีๆในราคาต่ำ พอเศรษฐกิจเขาก็เอาไปขายต่อได้กำไรระดับหมื่นล้าน รัฐต้องดำเนินการที่เหมาะสม ไม่น่าปล่อยไปตามยถากรรม