Truthforyou

คำถามโดนใจ!! ดร.สามารถฯถามรัฐ กทม.จะเป็นมหานครระบบรางที่ 3 ของโลกจริงหรือ?!? แค่สายเดียวยังยืดเยื้อ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ตั้งคำถามจี๊ดใจ บี้รัฐบาลว่า อีก 3 ปี กทม.จะเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลกจริงหรือ? คำตอบไม่ยาก ถ้าการบริหารจัดการยังไม่เป็นเอกภาพ แค่สายเดียวยังตกลงกันไม่ได้ ศูนย์กลางระบบรางของไทย ศูนย์ขนส่งอาเซียนก็คงจะเป็นได้แค่ฝัน จะผ่าทางตันอย่างไร ต้องช่วยกันหาทางออกเห็นทีรัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ จะไปต่อหรือรอไปเรื่อยๆ?

ดร.สามารถฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่ มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวข้องกับจราจรและขนส่ง ทั้งในและต่างประเทศหลายประเภท เช่น รถไฟฟ้า ทางด่วน สนามบิน และท่าเรือฯ จัดว่าเป็นกูรูด้าน การคมนาคมขนส่งที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนสนใจรับฟังความเห็นมาโดยตลอด ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค ส่วนตัว ชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitte โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

อีก 3 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลกจริงหรือ?

ถึงวันนี้ (18 ธ.ค.63) กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าเป็นระยะทางยาว 168 กิโลเมตร อยู่ในอันดับ 25 ของโลก จากนี้ไปยังคงมีการเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติม แล้วในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2566 กรุงเทพฯ จะสามารถแซงหน้าขึ้นแท่นเป็นอันดับ 3 ของโลกได้หรือไม่?

เมื่อประมาณกลางปี 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ตำแหน่งในขณะนั้น) ประกาศก้องว่าในปี 2566 กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลก ท่านคงพูดด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบรางในกรุงเทพฯ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า แต่คงลืมคิดไปว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกโครงการล่าช้ากว่าแผนแม่บททั้งนั้น และเมืองอื่นๆ ทั่วโลกก็ไม่ได้หยุดก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ยังคงเดินหน้าก่อสร้างต่อไป ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ให้เราแซงได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้ท่านกล้าประกาศออกไปเช่นนั้น

ผมได้จัด 10 อันดับเมืองที่มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาวที่สุดในโลกในปี 2563 โดยใช้ข้อมูลวิกิพีเดียเป็นฐาน ได้ผลดังนี้

อันดับ 1 กรุงปักกิ่ง มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 690.5 กม.

อันดับ 2 เซี่ยงไฮ้ มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 676 กม.

อันดับ 3 กรุงโซล มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 540.9 กม.

อันดับ 4 กวางโจว มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 531.1 กม.

อันดับ 5 กรุงลอนดอน มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 436 กม.

อันดับ 6 นิวยอร์ก มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 424.9 กม.

อันดับ 7 เซินเจิ้น มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 411 กม.

อันดับ 8 กรุงมอสโก มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 408.1 กม.

อันดับ 9 หนานจิง มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 378 กม.

อันดับ 10 เฉิงตู มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 350.9 กม.

จาก 10 อันดับดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่ามีเมืองในประเทศจีนถึง 6 เมือง ส่วนกรุงเทพฯ ของเรา มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 168 กิโลเมตร อยู่ในอันดับ 25 ของโลก

จากนี้ไปจนถึงปี 2566 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าเราจะสามารถเปิดใช้รถไฟฟ้าเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 130 กิโลเมตร รวมกับที่เปิดใช้แล้วในปัจจุบัน 168 กิโลเมตร จะทำให้มีเส้นทางรถไฟฟ้ารวมเป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 300 กิโลเมตร คิดเป็น 54% ของเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมดในแผนแม่บทซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 560 กิโลเมตร

ในขณะที่ในอีก 3 ปีข้างหน้า เมืองอื่นๆ ทั่วโลกก็จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อเห็นข้อมูลอย่างนี้แล้ว พอจะบอกได้มั้ยครับว่ากรุงเทพฯ ของเราจะสามารถก้าวขึ้นเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลกได้หรือไม่?

การจะตอบว่าได้ หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง

เรื่องปัจจยภายนอกต่างประเทศเขาไม่หยุดนิ่ง เราคงควบคุมไม่ได้ แต่มาพิจารณาปัจจัยภายใน ปัญหาและอุปสรรค ที่ทำให้ไทยก้าวเดินไปตามฝันได้อย่างยากลำบาก ทำอย่างไรจึงจะผ่าทางตันปัญหาล่าช้า สะดุดโน่นนี่ของการพัฒนาระบบราง-รถไฟฟ้าที่กว่าจะได้แต่ละสายก็ต้องรอแล้วรอเล่า

ใครถ่วงความก้าวหน้าระบบรางของไทย?

การพัฒนาระบบรางเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์คมนาคมที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางไว้ มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและได้เกิดขึ้นจริงจับต้องได้ ประชาชนได้ใช้  แต่ล่าสุด การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กลับมีประเด็นกลับมาตรวจสอบกันใหม่ทั้งๆที่ตกลงเดินหน้า ผ่านการพิจารณามาแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมทักท้วงในที่ประชุมครม.วันที่ 17 พ.ย.2563 ตั้งเรื่องให้ตอบข้อซักถาม 4 ประเด็น เน้นเรื่องกม.และราคาที่ว่าแพงเกินไป จึงอยู่ในระหว่างตอบข้อซักถามที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ แต่ตัวรถไฟฟ้าสายสีเขียวเปิดบริการเต็มรูปแบบแล้ว ทุกอย่างคาราคาซัง กทม.ต้องแบกหนี้ต่อบีทีเอส จำนวนกว่า 8.5 พันล้านบาท ประชาชนรอใช้ ใครจะชี้ขาดเรื่องนี้?

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันที่ 18 ธ.ค.2563 กรุงเทพมหานครจะหารือร่วมกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) สำนักการจราจรและขนส่ง และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อหาข้อสรุปรายละเอียดการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางว่าจะเก็บในอัตราเท่าใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นยืนยันว่าจะเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ต่ำกว่าราคาผลการศึกษาที่กำหนด 158 บาท เพื่อไม่สร้างภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

ผู้ว่าอัศวินแจงว่า กรณีการต่ออายุสัมปทานให้แก่บีทีเอสอีก 30 ปี จากปี 2572-2602 ประเด็นนี้คงต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะพิจารณาอย่างไร โดยเวลานี้ทางกรุงเทพมหานครได้ตอบทุกคำถามของ ครม.ไปหมดแล้ว แต่ไม่ได้มีหน้าที่ตอบคำถามกระทรวงคมนาคม เพราะไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม

 ยืนยันว่าที่ผ่านมาผมไม่เคยไปยุ่งเรื่องของคนอื่น อยากให้กวาดบ้านของตัวเองให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมายุ่งกับบ้านคนอื่น” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

โครงการต่างๆที่รัฐบาลตั้งใจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมนั้น นอกจากจะอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนในการเดินทางและสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจนับเป็นมูลค่าล้านล้านบาทแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจและเชิดหน้าชูตาของประเทศไทยในสายตานานาชาติ 

จะตัดสินใจทำอย่างไรก็รีบทำเถิด “ลุงตู่”  ขืนยืดเยื้อไปเรื่อยแบบนี้ อย่าว่าแต่มหานครระบบรางอันดับ 3 เลย อันดับที่ 25 แต่เก่าก่อนก็อาจรักษาไว้ไม่ได้

Exit mobile version