ข่าวดี !! ธนาคารโลกมองไทยเด่นพัฒนา ชี้ปีหน้า GDP โต4% ขณะฐานะการเงิน-คลังไทยแกร่ง เงินฝากท่วมแบงค์

2275

ธนาคารโลกมองไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาหลายด้าน มอง GDP ปีนี้ติดลบ 5%  คาดว่าปีหน้าโตได้  4% มองเพื่อนบ้านมาเลเซีย, สิงคโปร์ ไตรมาส 2/2563 ถดถอยกว่าที่คาด ขณะที่ฐานะธนาคารพาณิชย์ของไทยแข็งแกร่ง พร้อมรับมือวิกฤติเต็มกำลัง กังวลที่เงินฝากท่วมแบงค์ผู้บริโภคยังไม่กล้าลงทุน เพราะการระบาดโควิด-19 ยังไม่จบเบ็ดเสร็จ และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและระดับโลกเขม็งเกลียวขึ้นเป็นระยะ ไม่เสถียร

การที่ธนาคารโลกมองประเทศไทยโดยภาพรวมประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างสูง และสามารถเลื่อนฐานะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับระดับสูงด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด ทั้งยังกำลังไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในหลายๆ ด้าน ด้านความยากจนลดลงอย่างมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 67 เมื่อปี 2529 เหลือเพียงร้อยละ 7.8 ใน 2560  (วัดจากเส้นความยากจนของประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงที่มีรายได้เฉลี่ย 5.5 เหรียญสหรัฐต่อวัน) 

ธนาคารโลกมองปีหน้าจีดีพีไทยมีโอกาสโต 4.1%  

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 นางเบอร์กิต ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า  ธนาคารโลกได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบร้อยละ 5 จากเดิมที่คาดการณ์ ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 ในปี 2564 และร้อยละ 3.6 ในปี 2565 

เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19  ที่ทำให้มีการล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการให้เงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ยืดเวลาการชำระหนี้ และลดภาษีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาวะวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม  ขณะเดียวกัน  เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งทำให้การค้าโลกหดตัวตาม ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

ขณะที่  การเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโรคส่งผลกระทบต่อภาคบริการ ภาคค้าปลีก สะท้อนจากยอดขายสินค้าคงทนที่ลดดิ่งลงเกือบร้อยละ 12 ในช่วงไตรมาสแรกของปี รวมทั้งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว พร้อมแสดงความเป็นห่วงสวัสดิการของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะ-การระบาดส่งผลให้เกิดการตกงานอย่างรุนแรงและผลกระทบทางลบที่มีต่อตลาดแรงงานนั้นก็เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 งานในภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงอย่างมากจากมาตรการควบคุมการติดเชื้อ และการเว้นระยะห่างทางสังคมที่รัฐบาลและบุคคลนำมาใช้เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

-ในขณะที่ภาคการเงินของไทยแสดงความเปราะบางอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ยังมีเสถียรภาพและดูเสมือนว่าจะมีกันชนเพียงพอที่จะรักษาความมั่นคงทางการเงินต่อไป

นโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลเพื่อรับมือโควิด-19 มีประสิทธิภาพในการสกัดกั้นกระแสการติดเชื้อภายใน เวลา 3 เดือน 

-รัฐบาลรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยใช้มาตรการด้านการคลังและการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารแห่ง ประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.25 เหลือร้อยละ 0.5 ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม 2563 โดยดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เงินเฟ้อลดต่ำลงอย่างมาก ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดต่ำลงร้อยละ -3.44 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.01 โดยมี ปัจจัยผลักดันที่สำคัญคือการลดลงอย่างรุนแรงของราคาพลังงานและเชื้อเพลิงในตลาดโลกและอุปสงค์ภายในประเทศที่ อ่อนแอลง คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจาก โควิด-19 เป็น 3 ระยะ มูลค่ารวมกว่า 2.2 ล้าน ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 12.9 ของ GDP) โดยมาตรการรับมือของรัฐบาลส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การอุดหนุนครัวเรือนและ ผู้ประกอบการที่เปราะบาง โดยเฉพาะ คนงานที่อยู่นอกระบบ และสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้ สามารถรับมือกับรายได้ที่สูญเสียไปและลดปัญหาคนตกงานจำนวนมาก รวมถึงปัญหาการล้มละลายของธุรกิจ

ข้อเสนอแนะระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้น รายงานนี้จะชี้ให้เห็นถึงประเด็นท้าทายซึ่งควรจะต้องจัดการ และการขยายความคุ้มครองเพื่อสนับสนุน ครัวเรือน แม้ว่าประเทศไทยจะประกาศใช้มาตรการที่ใหญ่มากเพื่อรับมือโควิด แต่ประเด็นท้าทาย คือ การเข้าถึงการ ลงทะเบียนของผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ และการสร้างระบบลงทะเบียนทางสังคมอย่างบูรณาการที่จะช่วยให้มีข้อมูลที่ ทันสมัยและสามารถมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเปราะบาง

ในระยะยาว นโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความยืดหยุ่น เนื่องจากพื้นที่การคลังที่ลดลง ดังนั้น การ ฟื้นฟูกันชนทางการคลังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากรายรับของรัฐจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่ วางแผนไว้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ไทยสามารถได้ประโยชน์จากการถอดบทเรียนของมาตรการเพื่อรับมือโควิด-19 อย่างเร่งด่วน โดยการก้าวข้ามระบบคุ้มครองทางสังคมแบบดั้งเดิมที่ผูกพันอยู่กับการจ้างงานไปสู่ระบบความคุ้มครองที่กำหนด กลุ่มเป้าหมายให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดจะเข้าถึงสิทธิประโยชน์ขั้นต่ำ และสามารถคัดกรอง ชี้เป้ากลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ และให้ได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใหม่เพื่อตอบรับกับ ความต้องของเศรษฐกิจฐานความรู้ 

ธปท.ยันฐานะ-เงินกองทุนฯแบงก์ไทยแข็งแกร่งรับมือวิกฤติระดับรุนแรงได้ 

วันที่ 23 ส.ค. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ฐานะการดำเนินงานและเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด 19 ได้ดี  “ตั้งแต่ต้นปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองส่วนเกินอยู่มากจากนโยบายการกันสำรองอย่างเข้มงวดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นมิถุนายน 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ระดับสูงถึง 19.2% และผลประกอบการยังมีกำไร รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินและระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสูงมากด้วย” นายรณดลกล่าว

แบงก์พาณิชย์ไทยเงินท่วม-ทั้งระบบโต 10.5%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ปี 2563 เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้างเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ถือเป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเติบโตขึ้น 11.5% แต่เริ่มชะลอลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นราว 8 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2562   “ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แนวโน้มเงินฝากทั้งปี 2563 จะยังคงขยายตัวสูงในระดับ 10.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากผู้ฝากเงินยังไม่รู้จะนำสภาพคล่องที่มีอยู่ไปทำอะไร จึงยังพักไว้ที่เงินฝาก ซึ่งตอนนี้แม้ว่าจะมีการคลายล็อกดาวน์ แต่ความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นเต็มที่ ขณะที่ปีก่อน เงินฝากขยายตัวเพียง 3.9%” นางสาวกาญจนากล่าว

 

GDP เพื่อนบ้านไตรมาส 2 อ่วมไม่น้อยและถดถอยมากกว่าไทย

มาเลเซีย- GDP ไตรมาส 2/2563 หดตัวติดลบ 17.1%

สิงคโปร์-  GDP ไตรมาส 2/2563 หดตัวติดลบ 13.2%

ประเทศไทย – GDP ไตรมาส 2/2563 หดตัวติดลบ 12.2%