โหม EEC แม่เหล็กดูดลงทุนตปท!! ลุยแก้น้ำแล้ง-น้ำท่วม ด้วยการบริหารจัดการ ลดเสี่ยงขาดแคลนทั้งบริโภคและอุตสาหกรรม

1842

รองนายกฯพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณลงพื้นที่ จว.ระยอง ติดตามแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เร่งปิดความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำภาคตะวันออกทั้งด้านการบริโภคและการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่  ย้ำจำเป็นต้องมุ่งความยั่งยืน ไม่แก้ไขแค่เฉพาะหน้า ระบุรัฐบาลอนุมัติทั้งแผนงานระยะสั้นระยะยาว ต้องติดตามให้เป็นไปตามแผนและเดินหน้าตามเป้าหมายให้ได้

24 ส.ค.63  พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์  โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 09.30 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ,รองนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.และ รมช.แรงงาน พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ระยอง ร่วมรับฟังการบริหารราชการ และติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ณ ศาลากลางจังหวัดระยอง

พล.อ.ประวิตร’ ได้กล่าวขอบคุณ ทุกส่วนราชการ จว.ระยอง ที่ร่วมกันดูแลพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ที่ผ่านมา โดยย้ำถึงความสำคัญของ จว.ระยอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเกษตรและการบริการของภาคตะวันออก ที่ต้องบริหารจัดการและการจัดระเบียบสังคมควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกันไปอย่างสมดุล  ทั้งนี้ได้กำชับ ขอให้มีมาตรการและตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหายาเสพติด แรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ในแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคประมง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่

ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร’ ได้เดินทางไปติดตามการบริหารจัดการน้ำเพื่อความมั่นคง ณ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง ซึ่งในภาพรวมมีความคืบหน้าไปมาก โดย กำชับให้ สทนช. และกรมชลประทาน ร่วมกันพัฒนาสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) ให้เป็นไปตามแผน อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องบูรณาการรองรับการขาดแคลนน้ำของกลุ่ม จว.ภาคตะวันออกในฤดูแล้งควบคู่กันไปในภาพรวม โดยเฉพาะกับ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองระยอง อ.บ้านค่าย และ อ.ปลวกแดง ที่ประสบทั้งปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในแต่ละปี พร้อมกันนี้ รองนรม. ยังได้ย้ำการแก้ปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำภาคตะวันออก โดยขอให้เตรียมการดังนี้

มาตรการระยะเร่งด่วน ช่วยกระจายแบ่งปันน้ำให้ทั่วถึงทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยให้ระบายน้ำและผันน้ำระหว่างแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ เช่น จากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ  จากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่และแม่น้ำระยองไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  รวมทั้งการพิจารณานำน้ำจากคลองหู มาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  

มาตรการระยะยาว ขอให้ปรับปรุงฝายบ้านวังใหม่ จว.จันทบุรี และระบบท่อส่งน้ำและระบบชลประทาน ให้สามารถรองรับการสูบผันน้ำกลับจากพื้นที่น้ำมากไปยังพื้นที่น้ำน้อย โดยพยายามไม่ให้น้ำไหลลงทะเลอย่างสูญเปล่า  รวมทั้งให้เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ทั้งใน จว.จันทบุรี จว.ระยอง จว.ชลบุรี และ จว.ฉะเชิงเทรา  เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาการขาดแคลนน้ำดังกล่าว

สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC (จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี) มีปริมาณน้ำเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. 2563) มีปริมาตรน้ำปัจจุบัน 487 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำที่นำมาใช้ได้ 386 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง แผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2563 (1 พ.ค. 2563 – 31 ต.ค. 2563) 644 ล้าน ลบ.ม.

แบ่งเป็นอุปโภค-บริโภค 135 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 153 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 112 ล้าน ลบ.ม. และด้านเกษตรกรรม 244 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 209 ล้าน ลบ.ม.