คนละครึ่งทุบเซเว่นฯทำยอดขายลด ลบคำครหารบ.เอื้อ(แต่)นายทุนใหญ่?

4181

จากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้โครงการคนละครึ่งโดยเปิดลงทะเบียนเพิ่มในวันที่ 19 พ.ย. 63 ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนร่วมโครงการคนละครึ่งเพิ่ม 722,598 สิทธิ โดยรวบรวมสิทธิคงเหลือจากผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบสิทธิในรอบที่ผ่านมา

ทั้งนี้นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมจำนวนกว่า 7 แสนสิทธิดังกล่าว เป็นการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อให้ครอบคลุมผู้เข้าร่วมโครงการตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ล้านคน

สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 7.17 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 8,773,534 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 18,797 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 9,581 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 9,216 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 200 บาทต่อครั้ง ซึ่งจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

ต่อมากระทรวงการคลัง ได้เปิดระบบ “www.คนละครึ่ง.com” ให้ลงทะเบียน “คนละครึ่งเฟส 2” ให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขลงทะเบียนเพื่อรับเงินใช้จ่ายผ่าน “เป๋าตัง” 3,500 บาท/คน ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ขวัญ “ปีใหม่” กับประชาชน โดยเปิดให้ลงทะเบียนจำนวน 5 ล้านสิทธิ์ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 16 ธ.ค. 63 ผ่าน “www.คนละครึ่ง.com”

โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์จะต้องใช้จ่ายตามเงื่อนไขของ “คนละครึ่งเฟส 2″ นั่นคือสูงสุดวันละไม่เกิน 300 บาท (รัฐ 150 บาท ประชาชน 150 บาท) จนกว่าจะครบ 3,500 บาท โดยจะต้องใช้สิทธิ์ครั้งแรกหลังจากที่ได้รับการยืนยันไม่เกิน 14 วัน และใช้ได้ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 64

ขณะที่เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจบางช่วงว่าช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายกับร้านค้ารายย่อย หาบเร่แผงลอย จึงได้จำกัดสิทธิกับห้างร้านขนาดใหญ่ รวมถึงร้านสะดวกซื้อ อย่างเช่น ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพราะถือเป็นกิจการภายใต้บริษัทขนาดใหญ่ ส่งผลให้ประชาชนไปเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้ารายย่อยต่าง ๆ เพื่อใช้สิทธิ์คนละครึ่งมากกว่า

ทั้งยังได้รายงานจากการสำรวจยอดขายของร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” หลายแห่ง โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงตลาดสด ตลาดนัดต่าง ๆ ซึ่ง ประชาชาติธุรกิจ ระบุจากการสำรวจ โดยมีการว่ายอมรับว่าจำนวนผู้เข้าร้านเซเว่นฯ และยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ลูกค้าส่วนใหญ่หันไปใช้สิทธิ์ “คนละครึ่ง” กับร้านค้าในตลาดมากกว่า

(อ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ https://www.prachachat.net/finance/news-573030)

ขณะที่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้รายงานงบการเงินไตรมาส 3 ของปี 2563 โดยกำไรในไตรมาสนี้ลดลง 28.76% นอกจากนี้บริษัทยังเร่งนำกลยุทธ์ O2O มาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ไตรมาส 3 ของ CPALL มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,998 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว 28.76% รายได้รวมของบริษัทไตรมาสนี้อยู่ที่ 135,500 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว 3.8% สาเหตุมาจากรายได้การขายสินค้าและบริการของบริษัทลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 และบริษัทยังได้ชี้แจงว่าผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนหนึ่งจำกัดอยู่ในสินค้าจำเป็นเท่านั้น

กำไรขั้นต้นของบริษัทสูงขึ้น อยู่ที่ 28,568 ล้านบาท ลดลง 7.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้ว อัตรากำไรขั้นต้นลดลงมาอยู่ที่ 22% โดยบริษัทได้รายงานว่ากำไรขั้นต้นจากกลุ่มร้านสะดวกซื้อลดลงและสัดส่วนกำไรขั้นต้นที่มาจากธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดที่เพิ่มมากขึ้น

(อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ https://brandinside.asia/cpall-financial-report-q3-2020/)

อย่างไรก็ตามจากกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการ “คนละครึ่ง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย เพื่อให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้นโดยภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ผ่านฝ่ายของผู้ซื้อร้อยละ 50 โดยไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท ต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท

สำหรับประเภทร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการเป็นกิจการประเภท ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม/สินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล ไม่เป็นร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 63